• คลังความรู้
  • /
  • บทความ
  • /
  • MEMO ปรากฏการณ์ใหม่ของ “เศรษฐกิจแบ่งปัน” ในกว่างซี – ศูนย์บริการข้อมูลธุรกิจไทยในจีน (Thailand Business Information Center in China)

MEMO ปรากฏการณ์ใหม่ของ “เศรษฐกิจแบ่งปัน” ในกว่างซี – ศูนย์บริการข้อมูลธุรกิจไทยในจีน (Thailand Business Information Center in China)

ไฮไลท์

  • “เศรษฐกิจแบ่งปัน” หรือ Sharing Economy คำนิยามใหม่ของการดำเนินธุรกิจที่พลิกโฉมจากรูปแบบเดิมมาเป็นการถ้อยทีถ้อยอาศัยระหว่าง “ธุรกิจ+สังคม” ด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตที่พาโลกก้าวสู่ “ยุคเศรษฐกิจดิจิทัล” และก่อให้เกิดพื้นที่เศรษฐกิจบนโลกออนไลน์
  • MEMO เป็นอุปกรณ์อัจฉริยะที่ได้รับการพัฒนาขึ้นภายใต้คอนเซปต์ “เศรษฐกิจแบ่งปัน” ที่ประกอบด้วย “ฮาร์ดแวร์ + ซอฟต์แวร์ + อินเทอร์เน็ต + เงื่อนไขการใช้งาน” โดย MEMO สามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้งานได้ตามสภาพแวดล้อมและเงื่อนไขหลากหลายรูปแบบ
  • นอกจากจะรวบรวมฟังก์ชันการใช้งานของสมาร์ทโฟนเอาไว้แล้ว MEMO ยังมีแอปพลิเคชัน (APP) เฉพาะของตัวเองที่สามารถใช้ติดต่อสื่อสารกันในแวดวงสังคมของตน จุดเด่นในการใช้งาน MEMO คือ มีความปลอดภัยและอิสระในการใช้งาน ครอบคลุมย่านธุรกิจสำคัญ สามารถยืม-คืนได้ง่ายทุกที่ทุกเวลา
  • ผู้ใช้งานสามารถตั้งค่าได้ เช่น ใช้เป็นเครื่องมือในการประชุมที่มีฟังก์ชันบริการการประชุมผ่านระบบออนไลน์ ทั้งการแจ้งการประชุม การส่ง/อ่าน/ค้นหาข้อมูลการประชุม และการหารือระหว่างผู้เข้าร่วมประชุม สามารถกำหนดสิทธิการใช้งาน สิทธิการแชร์หรือบันทึกข้อมูลการประชุม การตั้งเวลาเคลียร์ข้อมูล และการตั้งค่าใหม่ในการเข้าใช้งานของผู้เข้าร่วมประชุม

 

หลายคนอาจคุ้นหูกับคำว่า “เศรษฐกิจแบ่งปัน” หรือ Sharing Economy คำนิยามใหม่ของการดำเนินธุรกิจที่พลิกโฉมจากรูปแบบเดิมมาเป็นการถ้อยทีถ้อยอาศัยระหว่าง “ธุรกิจ+สังคม” ด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตที่พาโลกก้าวสู่ “ยุคเศรษฐกิจดิจิทัล” และก่อให้เกิดพื้นที่เศรษฐกิจบนโลกออนไลน์

การแบ่งปันและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีดิจิทัล ทำให้เกิดรูปแบบของสินค้าและบริการใหม่ๆ ที่ช่วยให้บุคลลหรือธุรกิจ(สตาร์ทอัพ)สามารถสร้างรายได้จากทรัพยากรที่มีอยู่ โดยการซื้อขายหรือปล่อยเช่าผ่านบริการบนแพลตฟอร์มต่างๆ ซึ่งช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับทรัพย์สินเหล่านั้นได้มากยิ่งขึ้น

ปฏิเสธไม่ได้ว่า…ประเทศจีนเป็นผู้ปลุกกระแส “เศรษฐกิจแบ่งปัน” ในโลก ข้อมูลจากสถาบันวิจัยเศรษฐกิจแบ่งปันประจำศูนย์ข้อมูลสารสนเทศแห่งชาติจีน (国家信息中心分享经济研究中心) ระบุว่า ปี 2561 ขนาดของเศรษฐกิจแบ่งปันจีนมีมูลค่า 2.94 ล้านล้านหยวน (+41.6%) และมีผู้ที่มีส่วนร่วมในเศรษฐกิจแบ่งปันราว 760 ล้านคน

บริบทสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนให้ “เศรษฐกิจแบ่งปัน” ในจีนเกิดขึ้นและเติบโตอย่างรวดเร็วเป็นผลจากพฤติกรรมการใช้จ่ายที่เปลี่ยนไปจากเดิม บทบาทของเทคโนโลยีกับสังคมไร้เงินสด (cashless Society) ที่ช่วยให้การชำระเงินทำได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย และทุกที่ทุกเวลา เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้เศรษฐกิจแบ่งปันในจีนเห็นผลเป็นรูปธรรม

สิ่งของที่นำมา “แบ่งปัน” เชิงธุรกิจในระบบเศรษฐกิจแบ่งปันของจีนมีความหลากหลายและอยู่รอบตัว อาทิ รถยนต์ จักรยาน พาวเวอร์แบงค์ ร่ม บาสเกตบอล และกระดาษทิชชู ล่าสุด ธุรกิจสตาร์ทอัพในเมืองหลิ่วโจวของกว่างซีได้เปิดตัว MEMO อุปกรณ์อัจฉริยะที่พัฒนาขึ้นภายใต้คอนเซปต์ “เศรษฐกิจแบ่งปัน” ที่ประกอบด้วย “ฮาร์ดแวร์ + ซอฟแวร์ + อินเทอร์เน็ต + เงื่อนไขการใช้งาน” โดย MEMO สามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้งานได้ตามสภาพแวดล้อมและเงื่อนไขหลากหลายรูปแบบ

บริษัท Liuzhou Zhanghang Technology (柳州市长航科技) เป็นเจ้าของสิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์ดังกล่าว ซึ่งทีมวิจัยใช้เวลากว่า 3 ปี ใช้เงินลงทุนกว่า 30 ล้านหยวน ในการวิจัยและพัฒนา MEMO ขึ้นมา และได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจแล้ว โดยระยะเริ่มต้น บริษัทฯ ได้วางจุดให้บริการ MEMO ไว้ 500 จุด ในบริเวณย่านธุรกิจใจกลางเมืองหลิ่วโจว รวม 3,000 เครื่อง

MEMO เป็นอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์อัจฉะริยะที่นอกจากจะรวบรวมฟังก์ชันการใช้งานของสมาร์ทโฟนเอาไว้แล้ว ยังมีแอปพลิเคชัน (APP) เฉพาะของตัวเองที่สามารถใช้ติดต่อสื่อสารกันในแวดวงสังคมของตน จุดเด่นในการใช้งาน MEMO คือ มีความปลอดภัยและอิสระในการใช้งาน ครอบคลุมย่านธุรกิจสำคัญ สามารถยืม-คืนได้ง่ายทุกที่ทุกเวลา

ผู้ใช้งานยังสามารถดาวน์โหลด APP ที่ชื่นชอบ มีหนังสืออ่าน/ฟังเล่น เกม คลิปวิดีโอ และอื่นๆ ให้ได้ใช้งานตามความชอบ ประหนึ่งมีคลังข้อมูลเคลื่อนที่ไปทุกที่ ผู้ใช้งานสามารถใช้เวลาว่างระหว่างโดยสารรถเมล์ รถใต้ดิน วิ่งจ็อกกิ้ง หรือมาส์กหน้า เพื่อสัมผัสกับประสบการณ์ความบันเทิงได้ง่ายๆ โดยข้อมูลการใช้งานทั้งหมดภายในตัวเครื่องจะถูกลบออกหลังการคืน

ตามที่ได้เกริ่นในตอนต้นว่า MEMO สามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้งานได้ตามสภาพแวดล้อมและเงื่อนไขหลากหลายรูปแบบนั้น ผู้ใช้งานสามารถตั้งค่าการใช้งานของอุปกรณ์ได้ เช่น “การเป็นอุปกรณ์สำหรับการประชุม”

กล่าวคือ ผู้ใช้งานสามารถกำหนดค่าการใช้งานโปรแกรมสำหรับกลุ่มผู้เข้าร่วมประชุม เป็นแพลตฟอร์มรวบรวมฟังก์ชันบริการการประชุมผ่านระบบออนไลน์ ทั้งการแจ้งการประชุม การส่ง/อ่าน/ค้นหาข้อมูลการประชุม และการหารือระหว่างผู้เข้าร่วมประชุม นอกจากนี้ ยังสามารถกำหนดสิทธิการเข้าใช้งาน สิทธิการแชร์หรือบันทึกข้อมูลการประชุม การตั้งเวลาเคลียร์ข้อมูล และการตั้งค่าใหม่ในการใช้งานของผู้เข้าร่วมประชุม

ผู้ใช้งานสามารถยืมอุปกรณ์ MEMO ไปใช้ได้โดยง่าย เพียงใช้สมาร์ทโฟนสแกน QR Code บนเครื่องให้บริการยืม MEMO และยืนยันตัวบุคคล ก็สามารถนำ MEMO ไปใช้งานได้ เวลาคืน ก็เพียงแค่นำมาเสียบคืนใส่ช่องรับบนตัวเครื่องให้บริการยืม MEMO โดยจะหักค่าบริการจากบัญชี Alipay หรือ WechatPay ซึ่งง่ายและสะดวกเป็นอย่างมาก

MEMO เป็นตัวช่วยแสวงหามูลค่าทางเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ให้กับภาคธุรกิจ เป็นสะพานเชื่อมโยง/บูรณาการทรัพยากรระหว่างภาคธุรกิจ ช่วยสนับสนุนแนวคิดใหม่ของการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน และเป็นการสนับสนุนบริการที่สะดวกและรวดเร็วมากยิ่งขึ้นสำหรับผู้รับบริการ

เศรษฐกิจแบ่งปันนับเป็นหนึ่งในแนวทางการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจ เป็นระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนที่ใช้เครือข่ายอินเทอร์เน็ตเคลื่อนที่เชิงพาณิชย์เป็นสะพานเชื่อมทรัพยากรและนำเสนอออกมาในรูปแบบของบริการเช่า/ซื้อขายที่มีความหลากหลายมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อตอบโจทย์ผู้ใช้งานในวงกว้าง จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า เศรษฐกิจแบ่งปันในจีนเป็นปรากฏการณ์สำคัญ ไม่ใช่เพียงภาคธุรกิจที่ลงทุนน้อยแต่ได้เงินมากเท่านั้น แต่ยังเป็นโมเดลต้นแบบสำหรับประเทศอื่นในการพัฒนาธุรกิจภายใต้แนวคิด “เศรษฐกิจแบ่งปัน” อีกด้วย

 

 

จัดทำโดย นางสาว นครชนก ศรีประเสริฐ นิสิตฝึกงานมหาวิทยาลัยพะเยา
ผู้เรียบเรียง นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com (广西中新社) ประจำวันที่ 2 มกราคม 2563
     เว็บไซต์ www.gdshjs.org (商业观察网) ประจำวันที่ 16 มกราคม 2563
ภาพประกอบ www.gdshjs.org

ที่มา : https://thaibizchina.com/

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]