• คลังความรู้
  • /
  • บทความ
  • /
  • ท่าเรือชินโจวพลิกโฉมงานศุลกากรนำเข้า เสริมความคล่องตัว ช่วยผู้ส่งออก(ไทย)ได้รับเงินค่าสินค้าเร็วขึ้น – ศูนย์บริการข้อมูลธุรกิจไทยในจีน (Thailand Business Information Center in China)

ท่าเรือชินโจวพลิกโฉมงานศุลกากรนำเข้า เสริมความคล่องตัว ช่วยผู้ส่งออก(ไทย)ได้รับเงินค่าสินค้าเร็วขึ้น – ศูนย์บริการข้อมูลธุรกิจไทยในจีน (Thailand Business Information Center in China)

ไฮไลท์

  • ความเคลื่อนไหวใหม่ในงานศุลกากรขาเข้าของจีนในโมเดล “เรือ+ราง” ที่ท่าเรือชินโจว เมื่อแป้งสตาร์ชทำจากมันสำปะหลัง ล็อตใหญ่จากประเทศไทย มูลค่ากว่า 1.68 แสนหยวน ได้ประเดิมใช้ระบบศุลกากรผ่านแดน (Customs transit) ที่ท่าเรือ
    ชินโจวของกว่างซี และลำเลียงตู้สินค้าขึ้นขบวนรถไฟเพื่อไปดำเนินพิธีการศุลกากรขาเข้าที่นครฉงชิ่ง
  • การขนส่งสินค้าด้วย โมเดล “เรือ+ราง” ที่ท่าเรือชินโจว ใช้เวลาเพียง 5-8 วันเท่านั้น และยังมีต้นทุนรวมที่ลดลงด้วย โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับวิธีการขนส่งแบบดั้งเดิมที่ใช้โมเดล “เรือทะเล+เรือแม่น้ำ” โดยสินค้าขึ้นเรือจากประเทศไทยไปที่นครเซี่ยงไฮ้ ก่อนจะลำเลียงขึ้นเรือล่องแม่น้ำแยงซีเกียงไปที่นครฉงชิ่ง ซึ่งต้องใช้เวลานานราว 20 วัน ช่วยให้ผู้นำเข้า(จีน)ได้รับสินค้าเร็วขึ้น และผู้ส่งออก(ไทย)ได้รับเงินค่าสินค้าเร็วขึ้นด้วย
  • นอกจากนี้ ศุลกากรยังได้นำกระบวนการทางศุลกากรล่วงหน้าก่อนสินค้ามาถึง (Pre-Arrival Processing) ซึ่งเป็นกระบวนการที่ให้สิทธิกับผู้นำเข้าในการนำเข้าสินค้าทางทะเลที่จะสามารถยื่นใบขนสินค้าขาเข้าและยื่นชำระค่าภาษีอากร (ถ้ามี) ล่วงหน้า ก่อนที่เรือจะเข้ามาถึง ซึ่งจะช่วยให้ผู้นำเข้าสามารถรับสินค้าได้ทันทีเมื่อเรือมาถึง รวมถึงการพัฒนาระบบงานขนส่งและลำเลียงตู้สินค้าขึ้น-ลงเรือแบบอัจฉริยะ ซึ่งช่วยลดต้นทุนรวมของงานขนส่ง “เรือ+ราง”ได้ราว 18% – 38%
  • สำหรับประเทศไทย ประโยชน์ที่เห็นได้ชัดเจนของการขนส่งในรูปแบบ “เรือ+ราง” คือ ประสิทธิภาพงานบริการด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ที่มีความปลอดภัย คล่องตัว และตรงเวลา รวมทั้งประหยัดต้นทุนด้านโลจิสติกส์และต้นทุนการประกอบการได้มากยิ่งขึ้น และการใช้ประโยชน์จาก “ท่าเรือชินโจว” เป็นจุดกระจายสินค้าไทยไปเจาะตลาดจีนจึงเป็น “ทางเลือกใหม่” ที่น่าสนใจสำหรับผู้ส่งออกไทย โดยเฉพาะนครฉงชิ่ง มณฑลเสฉวน และมณฑลส่านซี ซึ่งเป็นฐานการผลิตและตลาดบริโภคแห่งใหม่ที่มีศักยภาพสูงของจีน นอกจากนี้ ผู้ส่งออกไทยยังสามารถต่อยอดเส้นทางดังกล่าวเพื่อขนส่งสินค้าไปยังตลาดเอเชียกลางและยุโรปได้อีกด้วย

 

แป้งสตาร์ชทำจากมันสำปะหลังล็อตใหญ่จากประเทศไทย มูลค่ากว่า 1.68 แสนหยวน ได้ประเดิมใช้ระบบศุลกากรผ่านแดน (Customs transit) ในโมเดลการขนส่ง “เรือ+ราง” ที่ท่าเรือชินโจวของกว่างซี โดยสินค้าล็อตนี้จะลำเลียงต่อด้วยขบวนรถไฟจากท่าเรือชินโจวเพื่อไปดำเนินพิธีการศุลกากรขาเข้าที่นครฉงชิ่ง นับเป็นความเคลื่อนไหวใหม่ในงานศุลกากรขาเข้าของจีนในโมเดล “เรือ+ราง” ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ระเบียงการขนส่งเชื่อมทางบกกับทางทะเลแห่งภาคตะวันตก หรือ NWLSC (New western Land and Sea Corridor/西部陆海新通道)

การขนส่งสินค้าด้วย โมเดล “เรือ+ราง” ที่ท่าเรือชินโจว ใช้เวลาเพียง 5-8 วันเท่านั้น และยังมีต้นทุนรวมที่ลดลงด้วย โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับวิธีการขนส่งแบบดั้งเดิมที่ใช้โมเดล  “เรือทะเล+เรือแม่น้ำ” โดยสินค้าขึ้นเรือจากประเทศไทยไปที่นครเซี่ยงไฮ้ ก่อนจะลำเลียงขึ้นเรือล่องแม่น้ำแยงซีเกียงไปที่นครฉงชิ่ง ซึ่งต้องใช้เวลานานกว่า 20 วัน ช่วยให้ผู้นำเข้า(จีน)ได้รับสินค้าเร็วขึ้น และผู้ส่งออก(ไทย)ได้รับเงินค่าสินค้าเร็วขึ้นด้วย

ความโดดเด่นของ “ท่าเรือชินโจว” ซึ่งเป็นท่าเรือที่มีความพร้อมด้านระบบงานขนส่งและโลจิสติกส์ มีท่าเทียบเรือน้ำลึกและมีสถานีศูนย์บริการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ทางรถไฟชินโจวตั้งอยู่ในบริเวณพื้นที่ท่าเรือด้วย จึงได้รับการกำหนดตำแหน่งให้เป็น “ท่าเรือศูนย์กลาง” ของกลุ่มท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้ของโมเดลตัว Y คือ เรือเข้าเทียบท่าที่ท่าเรือชินโจวก่อนจะแยกไปท่าเรือฝางเฉิงก่างทางปีกซ้ายและท่าเรือเป๋ยไห่ทางปีกขวา ทั้งนี้ ตู้สินค้าสามารถลำเลียงต่อโดยรถไฟได้อย่างสะดวกรวดเร็วในบริเวณพื้นที่ท่าเรือ

การลำเลียงตู้สินค้าระหว่างเรือกับรถไฟที่ท่าเรือชินโจว มีข้อได้เปรียบด้านต้นทุนค่าใช้จ่ายจากนโยบายการกำหนดค่าขนส่งทางรถไฟแบบราคาเดียว และสินค้าหลายประเภทได้รับสิทธิส่วนลดค่าขนส่งทางรถไฟ นอกจากนี้ บริษัท Guangxi Yanhai Railway (广西沿海铁路公司) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการรถไฟ มีการพัฒนาโซลูชันทางธุรกิจแบบ Customization เพื่อตอบโจทย์ความต้องการที่หลากหลายของผู้ใช้บริการสำหรับสินค้าทุกประเภท เนื่องจากสินค้าแต่ละประเภทต่างมีเงื่อนไขหรือข้อจำกัดในขนส่งที่แตกต่างกัน ทั้งในแง่ของปริมาตร ปริมาณ ประเภทของตู้สินค้า อุณหภูมิ รวมถึงเส้นทางขนส่ง ที่สำคัญ บริษัทฯ กำลังวางแผนที่จะปรับลดต้นทุนค่าขนส่งและโลจิสติกส์ลงอีก เพื่อสร้างแรงดึงดูดให้ผู้ใช้บริการมาใช้บริการเพิ่มมากขึ้น

ตามรายงาน ปัจจุบัน การขนส่งในโมเดล “เรือ+ราง” ที่ท่าเรือชินโจว มีสินค้าหลากหลายมากกว่า 500 ประเภท มีเส้นทางขนส่งสินค้า 42 เส้นทาง และมีรอบให้บริการมากกว่าวันละ 10 เที่ยวขบวน โดยเพิ่มขึ้นจากปี 2560 ที่มีสินค้าเพียง 80 ประเภท มีเส้นทางให้บริการเพียง 2 เส้นทาง และมีรอบให้บริการเพียงสัปดาห์ละ 1 เที่ยวเท่านั้น

เจ้าหน้าที่ศุลกากรประจำท่าเรือชินโจว ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปัจจุบัน การขนส่งในโมเดล “เรือ+ราง” แบบล็อตใหญ่ที่ท่าเรือชินโจว เวลาที่ใช้ในกระบวนการทางศุลกากรผ่านแดน หรือ Customs transit จากด่านนำเข้าที่ท่าเรือชินโจวไปที่ด่านปลายทางที่นครฉงชิ่ง ใช้เวลาน้อยกว่า 24 ชั่วโมง การส่งผ่านข้อมูลในระบบศุลกากรมีความถูกต้องแม่นยำ 100% เป็นการขนส่งที่มีประสิทธิภาพสูง มีการลดขั้นตอนด้านศุลกากร เพิ่มความคล่องตัว หลีกเลี่ยงปัญหาตู้สินค้าค้างท่า และช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายให้ต่ำลง

เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้นำเข้า-ส่งออก สำนักงานศุลกากรประจำท่าเรือชินโจว ยังได้นำกระบวนการทางศุลกากรล่วงหน้าก่อนสินค้ามาถึง (Pre-Arrival Processing) ซึ่งเป็นกระบวนการที่ให้สิทธิกับผู้นำเข้าในการนำเข้าสินค้าทางทะเลที่จะสามารถยื่นใบขนสินค้าขาเข้าและยื่นชำระค่าภาษีอากร (ถ้ามี) ล่วงหน้า ก่อนที่เรือจะเข้ามาถึง ซึ่งจะช่วยให้ผู้นำเข้าสามารถรับสินค้าได้ทันทีเมื่อเรือมาถึง รวมถึงการพัฒนาระบบงานขนส่งและลำเลียงตู้สินค้าขึ้น-ลงเรือแบบอัจฉริยะ ซึ่งช่วยลดต้นทุนรวมของงานขนส่ง “เรือ+ราง” ได้ราว 18% – 38%

ปัจจุบัน การขนส่งสินค้าทางเรือระหว่าง “ท่าเรือแหลมฉบัง/ท่าเรือกรุงเทพ – ท่าเรือชินโจว” มีเที่ยวเรือประจำหลายเที่ยวต่อสัปดาห์ ที่ผ่านมา สินค้าไทยส่วนใหญ่ที่มีการขนส่งผ่านท่าเรือดังกล่าว ได้แก่ วัตถุดิบที่ใช้ในอุตสาหกรรมการผลิต สินค้าเกษตร และผลไม้ไทย (ท่าเรือชินโจว และท่าเรือฝางเฉิงก่าง ของกว่างซี ได้รับการอนุมัติให้เป็นด่านนำเข้าผลไม้จากต่างประเทศ)

บีไอซี เห็นว่า สำหรับประเทศไทย ประโยชน์ที่เห็นได้ชัดเจนของการขนส่งในรูปแบบ “เรือ+ราง” คือ ประสิทธิภาพงานบริการด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ที่มีความปลอดภัย คล่องตัว และตรงเวลา รวมทั้งประหยัดต้นทุนด้านโลจิสติกส์และต้นทุนการประกอบการได้มากยิ่งขึ้น การใช้ประโยชน์จาก “ท่าเรือชินโจว” เป็นจุดกระจายสินค้าไทยไปเจาะตลาดจีนจึงเป็น “ทางเลือกใหม่” ที่น่าสนใจสำหรับผู้ส่งออกไทย โดยเฉพาะนครฉงชิ่ง มณฑลเสฉวน และมณฑลส่านซี ซึ่งเป็นฐานการผลิตและตลาดบริโภคแห่งใหม่ที่มีศักยภาพสูงของจีน นอกจากนี้ ผู้ส่งออกไทยยังสามารถต่อยอดเส้นทางดังกล่าวเพื่อขนส่งสินค้าไปยังตลาดเอเชียกลางและยุโรปได้อีกด้วย

 

จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์ www.customs.gov.cn  (海关总署) วันที่ 04 สิงหาคม 2564
เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com (中新网广西) วันที่ 03 สิงหาคม 2564
ภาพประกอบ www.customs.gov.cn

 

ที่มา : https://thaibizchina.com/

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]