• คลังความรู้
  • /
  • บทความ
  • /
  • ต้นแบบโรงงานอัจฉริยะในกว่างซี ตัวอย่างที่ควรค่าแก่การเรียนรู้ของภาคอุตสหกรรมไทย – ศูนย์บริการข้อมูลธุรกิจไทยในจีน (Thailand Business Information Center in China)

ต้นแบบโรงงานอัจฉริยะในกว่างซี ตัวอย่างที่ควรค่าแก่การเรียนรู้ของภาคอุตสหกรรมไทย – ศูนย์บริการข้อมูลธุรกิจไทยในจีน (Thailand Business Information Center in China)

ไฮไลท์

  • เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงในฐานะมณฑลกำลังพัฒนาที่เป็นฐานการผลิตของอุตสาหกรรม(หนัก)สำคัญหลายประเภทของประเทศจีน กำลังเร่งปรับตัวให้เข้ากับกระแสการเปลี่ยนแปลงสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 โดยกลุ่มบริษัทเหล็กกล้า Liugang Group เป็นหนึ่งในตัวอย่างธุรกิจภาคอุตสาหกรรมการผลิตที่กำลังปรับเปลี่ยนกระบวนการและเพิ่มผลิตภาพสู่ดิจิทัลผ่าน “ศูนย์ควบคุมการผลิตอัจฉริยะ”
  • ศูนย์ควบคุมการผลิตอัจฉริยะเปรียบเสมือน “สมอง” ของ Liugang Group ในการควบคุมและสั่งงานเครื่องจักรภายในโรงงานรีดเหล็กได้แบบ Real-time ผ่านระบบการทำงานของเทคโนโลยีร่วม โดยไม่จำเป็นต้องอยู่หน้าเครื่องจักร ไม่ว่าจะเป็น Mobile Edge Computing, 5G, Big data, AI และ Machine Vision ซึ่งช่วยยกระดับผลิตภาพ ประหยัดแรงงาน และสร้างความปลอดภัยในการทำงานได้เป็นอย่างมาก
  • ภาครัฐและภาคเอกชนจำเป็นต้องเร่งปรับตัวสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 เร่งพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลและเครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง และนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้งานให้เหมาะกับบริบทของอุตสาหกรรมของประเทศไปพร้อมๆ กับการพัฒนาทรัพยากรบุคคลและแรงงานฝีมือให้ได้โดยเร็ว ภายใต้กระบวนการ Digitization และ Digitalization ซึ่งจะช่วยรักษาขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับภาคอุตสาหกรรมไทยในก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของโลก

 

ปัจจุบัน เทคโนโลยี Internet of Things (IoT) ได้รับการยกให้เป็น Mega Trend ที่ส่งผลมหาศาลต่อภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม ทำให้องค์กรภาคธุรกิจจำเป็นต้องพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อรับมือกับกระแสความเปลี่ยนแปลงให้ทันท่วงที ด้วยความสามารถในการเชื่อมต่ออุปกรณ์ได้หลายประเภท ได้สร้างแรงจูงใจให้ภาคธุรกิจนำเทคโนโลยี IoT มาประยุกต์ใช้ร่วมกับเทคโนโลยี 5G รวมทั้งเทคโนโลยีการมองเห็นของเครื่องจักร หรือ Machine Vision ในการประมวลผลและวิเคราะห์ภาพดิจิทัล ที่ทวีความสำคัญในยุคอุตสาหกรรม 4.0 นี้

การก้าวสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 เป็นยุคที่เทคโนโลยีอัจฉริยะต่างๆ ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในภาคอุตสาหกรรม โดยมีเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) เป็นตัวกลางในการสื่อสารแลกเปลี่ยนข้อมูลในสายการผลิตระหว่างคนกับเครื่องจักรและระหว่างเครื่องจักรด้วยกันเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นที่มาของโรงงานอัจฉริยะ (Smart Factory)

เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงในฐานะมณฑลกำลังพัฒนาที่เป็นฐานการผลิตของอุตสาหกรรม(หนัก)สำคัญหลายประเภทของประเทศจีน จึงจำเป็นต้องปรับตัวให้เข้ากับกระแสการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว โดยกลุ่มบริษัทเหล็กกล้าหลิ่วโจว หรือ Liugang Group (广西柳州钢铁(集团)公司) เป็นหนึ่งในธุรกิจการผลิตที่กำลังปรับเปลี่ยนกระบวนการและเพิ่มผลิตภาพสู่ดิจิทัลผ่าน “ศูนย์ควบคุมการผลิตอัจฉริยะ”

ภายใน “ศูนย์ควบคุมการผลิตอัจฉริยะ” ที่เปรียบเสมือน “สมอง” ของ Liugang Group เจ้าหน้าที่ผู้ควบคุมสามารถสื่อสารกับเครื่องจักรในสายการผลิตได้แบบ Real-time สามารถปรับเปลี่ยนอัตรากำลังคนและทรัพยากรการผลิตผ่านหน้าจอขนาดใหญ่ โดยไม่จำเป็นต้องอยู่หน้าเครื่องจักร ช่วยให้เจ้าหน้าที่สามารถวางแผนการผลิตและกำหนดหน้าที่ให้กับหน่วยผลิตทุกฝ่าย ส่งผลให้การผลิตมีประสิทธิภาพสูงขึ้น

นอกจากเทคโนโลยีการผลิตที่มีประสิทธิภาพแล้ว การเข้าถึงข้อมูลแบบ Real-time และการวิเคราะห์ข้อมูล ช่วยให้บริษัทเข้าใจปัญหา และหาช่องว่างในการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการในกระบวนการผลิต บริษัทสามารถเลือกนำข้อมูลมาวิเคราะห์ได้ว่าต้องการเลือกพิจารณาที่กระบวนการส่วนไหน เพื่อให้ได้ต้นทุนที่ต่ำลง แต่ได้สินค้าที่มีคุณภาพสูงขึ้น

ในกรณีของโรงงานผลิตเหล็กรีดเย็นกว่างซี (广西钢铁冷轧厂) ก็ได้มีการยกระดับเทคโนโลยีสู่โรงงานอัจฉริยะเช่นเดียวกัน เจ้าหน้าที่สามารถตรวจสอบควบคุมการทำงานของเครื่องจักรในสายการผลิตผ่านสมาร์ทโฟนเพียงเครื่องเดียว การทำงานร่วมกันของระบบเครือข่ายช่วยนำเสนอโซลูชันที่ดีที่สุดสำหรับการผลิตและจำหน่ายเหล็กกล้า การทำงานของระบบธุรกิจอัจฉริยะ (Business Intelligence) หรือ BI ในการจัดการและวิเคราะห์ข้อมูล ช่วยให้ผู้บริหารสามารถตัดสินใจได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า เทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) เป็นสื่อกลางที่ใช้ขับเคลื่อนการทำงานของระบบอัจฉริยะ โรงงานอัจฉริยะของ Liugang Group ที่เมืองฝางเฉิงก่าง เป็นโรงงานอัจฉริยะ 5G แห่งแรกของกว่างซีที่พัฒนาร่วมกับบริษัทโทรคมนาคม China Mobile และบริษัท HUAWEI โดยระบบการผลิตใช้เทคโนโลยี Mobile Edge Computing (MEC), Big Data และ AI ในการควบคุมการทำงานด้านการตรวจสอบคุณภาพพื้นผิว เครนอุตสาหกรรม (Overhead crane) ระบบรั้วอัจฉริยะ (Electronic Fence) และการบริหารจัดการถ่านหินด้วย AI

ยกตัวอย่างเช่น เทคโนโลยี Mobile Edge Computing 5G ในการบังคับเครื่องจักรในโรงงานเมืองฝางเฉิงก่างผ่านระบบทางไกลที่ศูนย์ควบคุมการผลิตอัจฉริยะเมืองหลิ่วโจว (ห่างราว 365 กิโลเมตร หรือราวๆ กรุงเทพฯ – เพชรบูรณ์) โดยอาศัยความเร็วของสัญญาณ 5G ร่วมกับการวิเคราะห์ข้อมูล Big Data อุปกรณ์เซิร์ฟเวอร์การมองเห็นของเครื่องจักร (Machine Vision) และเซิร์ฟเวอร์ AI ซึ่งช่วยให้เครื่องจักรสามารถทำงานด้วยความรวดเร็ว ถูกต้อง และแม่นยำ ผู้ควบคุมสามารถมองเห็นภาพการทำงานของเครื่องจักรในโรงงานที่เมืองฝางเฉิงก่างด้วยความคมชัดแบบ Real-time และ Multi-window ซึ่งช่วยประหยัดแรงงานคนได้ 60% ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานได้มากขึ้น 400% และช่วยสร้างความปลอดภัยในการทำงาน

บีไอซี เห็นว่า ตัวอย่างข้างต้นเป็นประโยชน์สำหรับประเทศไทยในการเรียนรู้และประยุกต์ใช้ เนื่องจากอุตสาหกรรมการผลิตเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ภาครัฐและภาคเอกชนจำเป็นต้องเร่งปรับตัวสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 เร่งพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลและเครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง และนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้งานให้เหมาะกับบริบทของอุตสาหกรรมของประเทศไปพร้อมๆ กับการพัฒนาทรัพยากรบุคคลและแรงงานฝีมือให้ได้โดยเร็ว ภายใต้กระบวนการ Digitization (การเปลี่ยนกระบวนการทำงานให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัล) และกระบวนการ Digitalization (การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาพัฒนาและต่อยอดธุรกิจ) เหมือนอย่างบริษัท Liugong Group ซึ่งจะช่วยรักษาขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับภาคอุตสาหกรรมไทยในก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของโลก

 

จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์ www.gx.xinhuanet.com (广西新华网) วันที่ 22 เมษายน 2564
ภาพประกอบ gx.xinhuanet.com และ freepik.com

ที่มา : https://thaibizchina.com/

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]