ไฮไลท์

  • เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมความร่วมมือแลกเปลี่ยนและการดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพ ซึ่งครอบคลุมถึงการลงทุนในศูนย์วิจัยทางการแพทย์และเภสัชกรรม ซึ่งนับเป็นหัวใจของการวิจัยและพัฒนาในอุตสาหกรรมการแพทย์ขั้นสูง และเป็นจังหวะที่ดีในการสร้างโอกาสใหม่ด้านการลงทุนในอุตสาหกรรมการแพทย์ในช่วงโควิด-19
  • “เขตนำร่องการเปิดสู่ภายนอกด้านการแพทย์นานาชาติฝางเฉิงก่าง” เป็นพื้นที่แห่งโอกาสด้านการแพทย์นานาชาติที่เชื่อมประเทศบนข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง (BRI) โดยเขตนำร่องฯ มุ่งส่งเสริมอุตสาหกรรมหลัก 3 สาขา ได้แก่ อุตสาหกรรมการเพาะและขยายพันธุ์สัตว์ทดลอง อุตสาหกรรมการวิจัยและพัฒนายาระยะ preclinic และอุตสาหกรรมอาหารและการพัฒนาการแพทย์ดั้งเดิม โดยพร้อมเปิดรับนักลงทุนจากทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศสมาชิกอาเซียน
  • ตลาดการแพทย์และสุขภาพในกว่างซี(จีน) เป็นโอกาสสำหรับภาคธุรกิจไทย รวมถึง “อาหารเพื่อสุขภาพ” ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสาขาที่มีแนวโน้มการเติบโตสูง ทิศทางการพัฒนาของตลาดอาหารเพื่อสุขภาพในจีนที่เริ่มต้นจากอาหารสีเขียวได้ยกระดับสู่การพัฒนานวัตกรรมอาหารเสริมสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นอาหารฟังก์ชันที่ช่วยเรื่องสุขภาพและระบบการทำงานของอวัยวะในร่างกายหรือจะเป็นอาหารเสริมเฉพาะด้าน
  • นอกจากนี้ ยังมีธุรกิจบริการด้านการดูแลสุขภาพ (Healthcare) ด้วยภูมิปัญญาไทย เน้นตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนทำงานรุ่นใหม่ในการผ่อนคลายความเครียดและบรรเทาอาการเหนื่อยเมื่อยล้า เช่น สปา การนวดแผนไทย การนวดเพื่อสุขภาพ การประคบสมุนไพรไทย การบำบัดด้วยกลิ่น ซึ่งเป็นสิ่งที่ประเทศไทยมีความโดดเด่นและเป็นที่ยอมรับ โดยธุรกิจไทยสามารถศึกษาและแสวงหาโอกาสทางการค้าและการลงทุนในเขตนำร่องฯ เพื่อการพัฒนาสินค้าและบริการที่ตอบโจทย์ชาวจีนได้

 

เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมความร่วมมือแลกเปลี่ยนและการดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพ ซึ่งครอบคลุมถึงการลงทุนในศูนย์วิจัยทางการแพทย์และเภสัชกรรม ซึ่งนับเป็นหัวใจของการวิจัยและพัฒนาในอุตสาหกรรมการแพทย์ขั้นสูง และเป็นจังหวะที่ดีในการสร้างโอกาสใหม่ด้านการลงทุนในอุตสาหกรรมการแพทย์ในช่วงโควิด-19

การจัดตั้ง “เขตนำร่องการเปิดสู่ภายนอกด้านการแพทย์นานาชาติฝางเฉิงก่าง” (Fangchenggang International Medical Opening-up Pilot Zone/防城港国际医学开放试验区) ที่เมืองฝางเฉิงก่างของกว่างซี เป็นผลสำเร็จของการประชุมองค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ (SCO Summit) ครั้งที่ 19 เมื่อเดือนมิถุนายน 2562 ที่รัฐบาลจีนมุ่งสนับสนุนให้เขตนำร่องฯ เป็นแพลตฟอร์มสำคัญที่ช่วยสนับสนุนความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนด้านการแพทย์ระหว่างจีนกับต่างประเทศ และเป็นช่องทางสำคัญที่จีนใช้เพื่อการนำเข้าวัตถุดิบยาสมุนไพรจีนจากอาเซียน

เขตนำร่องฯ ได้รับการวางตำแหน่ง (Positioning) ให้เป็นพื้นที่สาธิตความร่วมมือและนวัตกรรมทางการแพทย์นานาชาติกับชาติสมาชิก SCO และอาเซียน เป็นพื้นที่แห่งโอกาสด้านการแพทย์นานาชาติที่เชื่อมประเทศบนข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง (BRI) โดยมุ่งส่งเสริมอุตสาหกรรมหลัก 3 สาขา คือ อุตสาหกรรมการเพาะและขยายพันธุ์สัตว์ทดลอง อุตสาหกรรมการวิจัยและพัฒนายาระยะ preclinic และอุตสาหกรรมอาหารและการพัฒนาการแพทย์ดั้งเดิม โดยพร้อมเปิดรับนักลงทุนจากทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะจากประเทศสมาชิกอาเซียน

รัฐบาลกลางได้ให้นโยบายสนับสนุนการพัฒนาเขตนำร่องฯ ใน 3 ด้าน คือ
(1) ส่งเสริมความร่วมมือด้านการแพทย์กับนานาชาติ เช่น สนับสนุนการจัดงานฟอรัมความร่วมมือและนวัตกรรมทางการแพทย์นานาชาติเป็นประจำทุกปี ส่งเสริมให้สถาบันการแพทย์และสถาบันอุดมศึกษาด้านการแพทย์ที่มีชื่อเสียงทั้งในและต่างประเทศจัดกิจกรรมร่วมกัน สนับสนุนการจัดตั้งโครงการด้านสาธารณสุข อาทิ ศูนย์การแพทย์และการรักษาพยาบาล คลังสำรองวัสดุทางการแพทย์ในกรณีฉุกเฉิน และศูนย์ช่วยเหลือและรักษาโรคระบาดขั้นรุนแรง สนับสนุนการพัฒนางานวิจัยและการควบคุมป้องกันโรคทั่วไปและโรคระบาดขั้นรุนแรง สนับสนุนการจดทะเบียนและผลิตยาชื่อสามัญ (Generic drugs) ในกลุ่มยาที่ได้รับอนุญาต
(2) ลดระเบียบและขั้นตอนการตรวจสอบอนุมัติการนำเข้าและการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมหลัก 3 สาขา คือ หนึ่ง อุตสาหกรรมการเพาะและขยายพันธุ์สัตว์ทดลอง โดยได้วางแผนก่อสร้างศูนย์คุ้มครองและเพาะเลี้ยงสัตว์ทดลอง (nonhuman primates) บนพื้นที่เกือบ 1,442 ไร่ และมีบริษัทด้านการเพาะขยายพันธุ์สัตว์ทดลองและบริษัทการสร้างแบบจำลองของโรคได้เข้ามาลงทุนแล้ว สอง อุตสาหกรรมการวิจัยและพัฒนายาระยะ preclinic โดยมีบริษัทผู้ผลิตยาชั้นนำได้เข้ามาลงทุนแล้ว คาดว่าปลายปีนี้จะสามารถเริ่มเดินสายการผลิตได้ และ สาม อุตสาหกรรมอาหารและการพัฒนาการแพทย์ดั้งเดิม โดยโครงการผลิตสาหร่ายขนาดเล็กที่มีไขมัน EPA ได้เริ่มเดินสายการผลิตแล้ว และบริษัทผลิตเกล็ดยาสมุนไพรรายสำคัญกำลังก่อสร้างโรงงานอยู่เช่นกัน
(3) สนับสนุนการพัฒนาแพลตฟอร์มต่างๆ เช่น การจัดตั้งแพลตฟอร์มความปลอดภัยด้านอาหารและนวัตกรรมโภชนาการ เพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมในอุตสาหกรรมอาหาร และผลักดันความร่วมมือในอุตสาหกรรมอาหารกับนานาชาติ การจัดตั้งเขตสินค้าทัณฑ์บนแบบครบวงจรและศูนย์คุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อส่งเสริมให้เมืองฝางเฉิงก่างเป็นด่านนำเข้ายาและส่งเสริมการค้าด้านเภสัชกรรมกับต่างประเทศ (อยู่ระหว่างการเตรียมขอจัดตั้งแล้ว) และการจัดตั้งเขตนำร่องการปฏิรูปการแพทย์แผนจีนแบบครบวงจร เพื่อสนับสนุนความก้าวหน้าด้านการแพทย์แผนโบราณของจีน

นอกจากนี้ อยู่ระหว่างการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมการผลิตยาและนิคมอุตสาหกรรมด้านการรักษาพยาบาล รวมถึงโรงงานมาตรฐาน GMP พื้นที่ 3 แสน ตร.ม. ขณะที่นิคมอุตสาหกรรมนวัตกรรมการแพทย์อยู่ระหว่างการวางแผนงานก่อสร้าง ส่วนศูนย์เสริมสร้างนวัตกรรมทางการแพทย์ (Medical Innovation Enablement Center/医学创新赋能中心) ซึ่งมีพื้นที่กว่า 5 หมื่น ตร.ม. ได้เปิดใช้งานแล้ว

บีไอซี เห็นว่า ตลาดการแพทย์และสุขภาพในกว่างซี(จีน) เป็นโอกาสสำหรับภาคธุรกิจไทย รวมถึง “อาหารเพื่อสุขภาพ” ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสาขาที่มีแนวโน้มการเติบโตสูง ทิศทางการพัฒนาของตลาดอาหารเพื่อสุขภาพในจีนที่เริ่มต้นจากอาหารสีเขียว (ปลอดสารพิษและออร์แกนิก) ได้ยกระดับสู่การพัฒนานวัตกรรมอาหารเสริมสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นอาหารฟังก์ชัน (อาหารที่ช่วยเรื่องสุขภาพและระบบการทำงานของอวัยวะในร่างกาย เช่น โยเกิร์ตสด พืชผักผลไม้และธัญพืชที่ปลูกจากดินที่อุดมไปด้วยแร่ธาตุ รังนก และสมุนไพรจีน) และอาหารเสริมเฉพาะด้าน (อาหารคุมน้ำหนัก อาหารบำรุงสมองและสายตา และอาหารเสริมความงาม)

นอกจากนี้ ยังมีธุรกิจบริการด้านการดูแลสุขภาพ (Healthcare) ด้วยภูมิปัญญาไทย เน้นตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนทำงานรุ่นใหม่ในการผ่อนคลายความเครียดและบรรเทาอาการเหนื่อยเมื่อยล้า เช่น สปา การนวดแผนไทย การนวดเพื่อสุขภาพ การประคบสมุนไพรไทย การบำบัดด้วยกลิ่น ซึ่งเป็นสิ่งที่ประเทศไทยมีความโดดเด่นและเป็นที่ยอมรับ ดังนั้น หากธุรกิจไทยสามารถศึกษาและแสวงหาโอกาสทางการค้าและการลงทุนใน “เขตนำร่องการเปิดสู่ภายนอกด้านการแพทย์นานาชาติฝางเฉิงก่าง” โดยพัฒนาสินค้าและบริการที่ตอบโจทย์ชาวจีนได้ ก็คงไม่ใช่เรื่องยากที่จะเจาะตลาดจีนและได้ผลตอบแทนทางธุรกิจที่ดีจากผู้บริโภคชาวจีน

 

 

จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์ www.gx.xinhuanet.com (广西新华网) วันที่ 18 มิถุนายน 2564
      หนังสือพิมพ์ Guangxi Daily (广西日报) วันที่ 18 มิถุนายน 2564

ที่มา : https://thaibizchina.com/