• คลังความรู้
  • /
  • บทความ
  • /
  • นครหนานหนิงลุยเปิด Cargo Flight สร้างโอกาสให้ธุรกิจคอมเมิร์ซข้ามแดนกับอาเซียน – ศูนย์บริการข้อมูลธุรกิจไทยในจีน (Thailand Business Information Center in China)

นครหนานหนิงลุยเปิด Cargo Flight สร้างโอกาสให้ธุรกิจคอมเมิร์ซข้ามแดนกับอาเซียน – ศูนย์บริการข้อมูลธุรกิจไทยในจีน (Thailand Business Information Center in China)

ไฮไลท์

  • “นครหนานหนิง” ได้กำหนดให้สนามบินนานาชาติอู๋ซวีหนานหนิงเป็น Hub การขนส่งสินค้าทางอากาศกับอาเซียน โดยได้ทยอยเปิดเที่ยวบินขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ (Cargo Flight) ไปยังนครโฮจิมินห์ กรุงเทพฯ กรุงกัวลาลัมเปอร์ และสิงคโปร์
  • สำหรับเที่ยวบิน Cargo Flight นครหนานหนิง – กรุงเทพฯ สินค้าที่ขนส่งมาที่กรุงเทพฯ ส่วนใหญ่เป็นสินค้าอีคอมเมิร์ซข้ามแดน สินค้าทั่วไป และชิ้นส่วนที่ใช้ในงานวิศวกรรมก่อสร้าง ขณะที่สินค้าที่ขนนครหนานหนิง ส่วนใหญ่เป็นอาหารทะเล ปลาสวยงาม ดอกกล้วยไม้ และพืชผัก
  • พื้นที่ฟังก์ชันอย่างเขตทดลองการค้าเสรี (Free Trade Zone) เขตทดลองอีคอมเมิร์ซข้ามแดน และเขตคลังสินค้าทัณฑ์บน เป็นหัวใจสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนให้ “นครหนานหนิง” เป็นพื้นที่ที่เหมาะสมกับการพัฒนาธุรกิจอีคอมเมิร์ซข้ามแดน โดยมี “อาเซียน” เป็นตลาดสำคัญ
  • “นครหนานหนิง” จึงเป็นช่องทางและโอกาสใหม่ที่ภาคธุรกิจไทยสามารถใช้ประโยชน์จากจุดแข็งด้านทำเลที่ตั้งใกล้ไทย (ระยะเวลาบินเพียง 2 ชั่วโมง) การเป็นตลาดใหม่ที่ยังมีคู่แข่งไม่มาก รวมทั้งการอำนวยความสะดวกของหน่วยงานภาครัฐในการบุกเบิกตลาดสินค้าไทยผ่านแพลตฟอร์ม CBEC ได้ อย่างไรก็ดี สองฝ่ายต้องให้ความสำคัญกับการรักษาความสมดุลของการขนส่งสินค้าทั้งขาเข้าและขาออก เพื่อให้อุตสาหกรรมการบินและการค้าระหว่างสองทางสามารถเติบโตอย่างยั่งยืน

 

ท่ามกลางสภาวะธุรกิจในยุคโควิด-19 ส่งผลให้เครื่องบินผู้โดยสารระหว่างประเทศของ “นครหนานหนิง” ต้องหยุดให้บริการ สายการบินจำเป็นต้องปรับตัวอย่างรวดเร็วและแสวงหาโอกาสใหม่ ทำให้ “ธุรกิจการขนส่งสินค้าทางอากาศ” หรือ Air Cargo ทวีบทความความสำคัญเพิ่มขึ้นในการขับเคลื่อนระบบการค้าสินค้าและระบบขนส่งโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ

ในยุคความปกติแบบใหม่ (New Normal) “นครหนานหนิง” ได้กำหนดให้สนามบินนานาชาติอู๋ซวีหนานหนิงเป็น Hub การขนส่งสินค้าทางอากาศกับอาเซียน เพื่อช่วยขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจการค้าเดินหน้าต่อไป โดยนครหนานหนิงได้ทยอยเปิดเที่ยวบินขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ (Cargo Flight) ไปยังเมืองสำคัญในอาเซียนอย่างต่อเนื่อง ทั้งนครโฮจิมินห์ กรุงเทพฯ กรุงกัวลาลัมเปอร์ และสิงคโปร์ ดังนี้

  • เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2563 เที่ยวบิน Cargo Flight นครหนานหนิง – นครโฮจิมินห์ โดยบริษัท SF Express เป็นผู้ให้บริการ สินค้าที่ขนส่งไปเวียดนาม ซึ่งเป็นสินค้าอีคอมเมิร์ซข้ามแดน และสินค้าที่ขนส่งกลับนครหนานหนิงเป็นอาหารทะเล
  • เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2564 เที่ยวบิน Cargo Flight นครหนานหนิง – กรุงเทพฯ มีบริษัท Guangxi Tianhang Internatinal Supply-Chain Co.,Ltd (广西天航国际供应链有限公司) เป็นผู้ดำเนินการ สินค้าที่ขนส่งมาที่กรุงเทพฯ ส่วนใหญ่เป็นสินค้าอีคอมเมิร์ซข้ามแดน สินค้าทั่วไป และชิ้นส่วนที่ใช้ในงานวิศวกรรมก่อสร้าง สินค้าที่ขนส่งกลับนครหนานหนิง ส่วนใหญ่เป็นอาหารทะเล ปลาสวยงาม ดอกกล้วยไม้ และพืชผัก
  • เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2564 เที่ยวบิน Cargo Flight นครหนานหนิง – สิงคโปร์ มีบริษัท Guangxi Lanjing Supply Chain Management Co.,Ltd. (广西蓝鲸供应链管理有限公司) เป็นผู้ดำเนินการ สินค้าที่ขนส่งไปสิงคโปร์เป็นสินค้าอีคอมเมิร์ซข้ามแดน และสินค้าที่ขนส่งกลับนครหนานหนิงเป็นสินค้าปลอดภาษี เช่น เครื่องสำอาง เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และรองเท้าเสื้อผ้าแบรนด์เนม
  • เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2564 เที่ยวบิน Cargo Flight นครหนานหนิง – กรุงกัวลาลัมเปอร์ มีบริษัท Guangxi Lanjing Supply Chain Management Co.,Ltd. (广西蓝鲸供应链管理有限公司) เป็นผู้ดำเนินการ สินค้าที่ขนส่งไปมาเลเซียเป็นสินค้าอีคอมเมิร์ซข้ามแดน เช่น เสื้อผ้า รองเท้า กระเป๋า และสินค้าที่ขนส่งกลับนครหนานหนิงเป็นสินค้าเกษตร

นอกจากนี้ ยังมีเที่ยวบินนครหนานหนิง – กรุงธากา ประเทศบังคลาเทศอีกด้วย

จะเห็นได้ว่า สินค้าที่ส่งออกไปส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่สั่งซื้อผ่านแพลตฟอร์ม “อีคอมเมิร์ซข้ามแดน” ซึ่งเป็นเทรนด์ธุรกิจใหม่ที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วในหมู่ผู้บริโภคชาวจีน โดยสามารถซื้อขายได้ทั้งรูปแบบธุรกิจสู่ผู้บริโภค (B2C) และธุรกิจสู่ธุรกิจ (B2B)

พื้นที่ฟังก์ชันอย่างเขตทดลองการค้าเสรี (Free Trade Zone) เขตทดลองอีคอมเมิร์ซข้ามแดน และเขตคลังสินค้าทัณฑ์บน เป็นหัวใจสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนให้ “นครหนานหนิง” เป็นพื้นที่ที่เหมาะสมกับการพัฒนาธุรกิจอีคอมเมิร์ซข้ามแดน โดยมี “อาเซียน” เป็นตลาดสำคัญ และเป็นแม่เหล็กที่ช่วยดึงดูดให้ธุรกิจในห่วงโซ่อุปทานของอีคอมเมิร์ซข้ามแดนให้ทยอยเข้ามาลงทุนจัดตั้งกิจการในนครหนานหนิง ส่งผลให้นครหนานหนิงกลายมาเป็นข้อต่อสำคัญในระบบการค้าและโลจิสติกส์ และเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยส่งเสริม ecosystem ให้กับธุรกิจ Cross-Border E-Commerce (CBEC) ทั้งของจีนและอาเซียน รวมถึงประเทศไทยด้วย

ตัวอย่างเช่น LAZADA ยักษ์ใหญ่แห่งวงการอีคอมเมิร์ซในอาเซียน เพิ่งเปิดใช้งานศูนย์อีคอมเมิร์ซข้ามแดนของ (เฟสแรก) เป็นที่เรียบร้อย โดยในส่วนของโกดังสินค้ามีพื้นที่กว่า 8,000 ตร.ม. ศูนย์แห่งนี้เป็น “ข้อต่อ” สำคัญในห่วงโซ่อุปทานโลจิสติกส์ของ LAZADA และเป็นอีกหนึ่งความเคลื่อนไหวสำคัญของ LAZADA ในนครหนานหนิง หลังจากที่เมื่อเดือนกรกฎาคม 2563 LAZADA ได้จัดตั้งใน “ศูนย์บริการนวัตกรรมอีคอมเมิร์ซข้ามแดน” เพื่อฝึกอบรมบุคลากร/ธุรกิจอีคอมเมิร์ซข้ามแดนให้มีความเชี่ยวชาญด้านภาษาในประเทศสมาชิกอาเซียน

บีไอซี ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เขตเมืองใหม่อู่เซี่ยงนครหนานหนิงเป็นพื้นที่ที่ได้รับนโยบายพิเศษภายใต้กรอบเขตทดลองการค้าเสรีจีน(กว่างซี) พื้นที่ย่อยนครหนานหนิง โดยมีเขตทดลอง CBEC นครหนานหนิง และเขตสินค้าทัณฑ์บนแบบครบวงจรหนานหนิงเป็นพื้นที่มีฟังก์ชันรองรับการพัฒนาของธุรกิจอีคอมเมิร์ซข้ามแดนที่มีความครบครัน รวมถึงธุรกรรมที่เกี่ยวข้อง อาทิ การชำระเงิน โลจิสติกส์ พิธีการศุลกากร การคืนภาษี และการชำระบัญชีเงินโอน ปัจจุบัน มีบริษัทอีคอมเมิร์ซข้ามแดนเข้าไปจัดตั้งแล้วกว่า 100 ราย ครอบคลุมธุรกิจผู้ให้บริการด้านแพลตฟอร์ม โลจิสติกส์ และคลังสินค้า อาทิ Alibaba / JD.com / LAZADA / SF Express / FTZCOC และยังคงเปิดรับนักลงทุนอยู่ โดยเฉพาะธุรกิจด้านการค้าดิจิทัล (Digital Trade) และธุรกิจโลจิสติกส์อัจฉริยะ

ภายในเขตทดลอง CBEC นครหนานหนิง ยังมีศูนย์บิ๊กดาต้าอีคอมเมิร์ซข้ามแดน ศูนย์สั่งซื้อสินค้าข้ามแดน (Cross-border Bonded Direct Purchase Center) และคลังสินค้าทัณฑ์บนสำหรับสาธารณะเช่าใช้ และยังมีระบบเชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียว (Single window) ซึ่งช่วยให้การตรวจปล่อยพัสดุสินค้าข้ามแดนมีประสิทธิภาพและรวดเร็วเป็นอย่างมาก โดยสามารถลดระยะเวลาการดำเนินพิธีการศุลกากรจาก 8 ชั่วโมง เหลือ 1 ชั่วโมง รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานรองรับระบบห่วงโซ่ความเย็น สำหรับสินค้าสด อย่างผลไม้และเนื้อสัตว์แช่แข็ง ซึ่งตั้งอยู่ใกล้สนามบินนานาชาติอู๋ซวีนครหนานหนิง

“นครหนานหนิง” จึงเป็นช่องทางและโอกาสใหม่ที่ภาคธุรกิจไทยสามารถใช้ประโยชน์จากจุดแข็งด้านทำเลที่ตั้งใกล้ไทย (ระยะเวลาบินเพียง 2 ชั่วโมง) การเป็นตลาดใหม่ที่ยังมีคู่แข่งไม่มาก รวมทั้งการอำนวยความสะดวกของหน่วยงานภาครัฐในการบุกเบิกตลาดสินค้าไทยผ่านแพลตฟอร์ม CBEC ได้ อย่างไรก็ดี สองฝ่ายต้องให้ความสำคัญกับการรักษาความสมดุลของการขนส่งสินค้าทั้งขาเข้าและขาออก เพื่อให้อุตสาหกรรมการบินและการค้าระหว่างสองทางสามารถเติบโตอย่างยั่งยืน

 

จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com (中新社广西) วันที่ 14, 15 และ 21 มิถุนายน 2564
      หนังสือพิมพ์ Nanning Daily (南宁日报) วันที่ 8 มิถุนายน 2564

ที่มา : https://thaibizchina.com/

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]