• คลังความรู้
  • /
  • บทความ
  • /
  • มณฑลเจียงซีไปไกล สร้าง “ดวงอาทิตย์เทียม” สำเร็จและเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการแล้ว

มณฑลเจียงซีไปไกล สร้าง “ดวงอาทิตย์เทียม” สำเร็จและเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการแล้ว

โดยศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีนประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองเซี่ยเหมิน

 

เมื่อวันที่ 12 ม.ค. 2564 รัฐบาลมณฑลเจียงซีประกาศความสำเร็จของโครงการ “ดวงอาทิตย์เทียม” ที่ทดลองและพัฒนาโดยมหาวิทยาลัยหนานชาง และประกาศเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการ ซึ่งเป็นครั้งแรกของมณฑลเจียงซีในการพัฒนาและวิจัยทดลองนิวเคลียร์ฟิวชั่นแม่เหล็กขั้นสูงและครอบครองเทคโนโลยีการขับเคลื่อนเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ฟิวชั่น “ดวงอาทิตย์เทียม”

“ดวงอาทิตย์เทียม” ซึ่งเป็นการผลิตพลังงานไฟฟ้าแบบใหม่ได้รับการขนานนามว่าเป็น “ความฝันแห่งพลังงานสูงสุด” ที่มีความปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ในปี 2563 มณฑลเจียงซีผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังงานใหม่คิดเป็น 2 เท่าของการผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังงานน้ำ และคิดเป็นร้อยละ 31 ของการผลิตกระแสไฟฟ้าทั้งหมด ซึ่งได้ช่วยเปลี่ยนโฉมของมณฑลเจียงซีที่เคยเป็นมณฑลที่ค่อนข้างขาดแคลนพลังงานเป็นมณฑลที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติและพลังงานสะอาด

นอกจากมณฑลเจียงซีแล้ว เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. 2563 สถาบันฟิสิกส์แห่งวิทยาลัยวิทยาศาสตร์ในนคร เหอเฝยได้สร้าง “ดวงอาทิตย์เทียม” หรือเรียกว่า เครื่องปฏิกรณ์ HL-2M แห่งแรกของจีนที่นครเฉิงตู มณฑลเสฉวน และเป็นอุปกรณ์โทคาแมคที่ใหญ่ที่สุดและทันสมัยที่สุดของจีนในปัจจุบัน สามารถสร้างความร้อนได้สูงสุด 150 ล้านองศาเซลเซียส หรือมากกว่าความร้อนที่แกนกลางของดวงอาทิตย์ซึ่งมีจุดเผาไหม้ที่อุณหภูมิ   14 ล้านองศาเซลเซียสถึง 6 เท่า ทั้งนี้ ถือเป็นการประกาศความสำเร็จของจีนที่รุดหน้ายิ่งกว่าโครงการวิจัยนิวเคลียร์ฟิวชั่นที่ใหญ่ที่สุดในโลก (International Thermonuclear Experimental Reactor หรือ ITER) ที่ตั้งอยู่ในฝรั่งเศส และคาดว่าจะพัฒนาแล้วเสร็จในปี 2568

“ดวงอาทิตย์เทียม” (เครื่องปฏิกรณ์ HL-2M) ของนครเฉิงตู มณฑลเสฉวน

โอกาสของไทย ความสำเร็จในการสร้าง “ดวงอาทิตย์เทียม” ดังกล่าวนับเป็นความก้าวหน้าอย่างมากในการวิจัยพลังงานนิวเคลียร์ฟิวชั่นของมณฑลเจียงซี โดยไม่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีจากภายนอก รัฐบาลเจียงซีจะมุ่งเน้นใช้เทคโนโลยี “ดวงอาทิตย์เทียม” เพื่อส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานใหม่ การปรับปรุงพันธุ์ทางชีวภาพ การแพทย์และยา วัสดุใหม่สำหรับการบิน เป็นต้น ไทยสามารถพิจารณาสร้างความร่วมมือในด้านการวิจัยพลังงานนิวเคลียร์ฟิวชั่นกับมณฑลเจียงซีเพื่อสร้างความมั่นคงในด้านพลังงานและส่งเสริมอุตสาหกรรมพลังงานใหม่ของไทยในอนาคต

แหล่งอ้างอิง http://jx.people.com.cn/n2/2021/0113/c190181-34524842.html

http://jx.people.com.cn/n2/2021/0113/c190181-34524837.html

ที่มา : https://thaibizchina.com/

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]