ปี 63 กว่างซีโชว์ผลงาน เศรษฐกิจโต 3.7% สวนวิกฤตโควิด-19

 

ปี 2563 ภาพรวมด้านเศรษฐกิจของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงกลับมาเติบโตในแดนบวก จากการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่มีประสิทธิภาพ ภาคการบริโภค ภาคการผลิต และภาคการส่งออกขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่อง สรุปได้ดังนี้

เศรษฐกิจมหภาค ผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) มีมูลค่า 2,215,669 ล้านหยวน ขยายตัว 3.7% (YoY) สูงกว่าอัตราการขยายตัวเฉลี่ยของทั้งประเทศร้อยละ 1.4 จุด หากมองย้อนกลับไปในช่วง 3 ไตรมาสแรก พบว่า ไตรมาส 1/2563 ติดลบ 3.3% ไตรมาสสองฟื้นตัวในแดนบวก 0.8% และไตรมาสสามเพิ่มขึ้น 2.0%

ภาคอุตสาหกรรม ประกอบด้วย

  • ภาคการเกษตร อุตสาหกรรมภาคการเกษตรมีมูลค่ารวม 355,582 ล้านหยวน มูลค่าการผลิตภาคเกษตร ป่าไม้ ปศุสัตว์และประมง ขยายตัว 5.0%
    ประเด็นที่น่าสนใจ ตลาดสุกรในกว่างซีฟื้นตัวดีขึ้นจากสถานการณ์การระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African swine fever : ASF) ซึ่งส่งผลให้เนื้อสุกรขาดตลาดและราคาพุ่งสูงขึ้นหลายเท่าตัว
  • ภาคอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมภาคการผลิตมีมูลค่ารวม 710,849 ล้านหยวน (+2.2%) มูลค่าเพิ่มในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ขยายตัว 1.2% (YoY) โดยเฉพาะในเดือนธันวาคมขยายตัวสูงสุดในรอบปีที่ 7.3%
    ประเด็นที่น่าสนใจ อุตสาหกรรมสำคัญของกว่างซีอย่างอุตสาหกรรมการถลุงและแปรรูปแร่โลหะนอกกลุ่มเหล็ก (Non-ferrous metals) ขยายตัว 21.9% ปริมาณการผลิตอะลูมิเนียมเติบโต 24.7% และอะลูมิเนียมออกไซด์เติบโต 11.3%
  • ภาคการบริการ อุตสาหกรรมภาคการบริการมีมูลค่ารวม 1,149,238 ล้านหยวน (-0.1%) ช่วง 11 เดือนแรก ธุรกิจภาคการบริการขนาดใหญ่มีรายได้ผลประกอบการเพิ่มขึ้น 6.2%
    ประเด็นที่น่าสนใจ ผลกระทบจากโควิด-19 ช่วยขับเคลือนให้เศรษฐกิจดิจิทัลเติบโตอย่างรวดเร็ว ผลประกอบการในธุรกิจบริการด้านซอฟต์แวร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ (+75.8%) และธุรกิจบริการด้านเทคโนโลยีเฉพาะสาขา (+43.2%)

ภาคการลงทุน ประกอบด้วย

  • การลงทุนในสินทรัพย์ถาวร ขยายตัวได้ดีที่ 4.2% โดยเฉพาะการลงทุนด้านระบบโครงสร้างพื้นฐาน (+12.9%) และการลงทุนภาคการผลิต (+4.2%) ขณะที่การลงทุนภาคอสังหาริมทรัพย์เติบโตเพียงเล็กน้อย (+0.8%)
    ประเด็นที่น่าสนใจ ตลาดอสังหาริมทรัพย์อยู่ในช่วงซบเซา พื้นที่ขายเพิ่มขึ้น แต่ยอดขายกลับหดตัวลง กล่าวคือ ยอดขายที่พักอาศัยคิดเป็นพื้นที่ 67.2 ล้าน ตร.ม. (+0.3%) และยอดขายอยู่ที่ 4.25 แสนล้านหยวน (-2.6%)
  • การลงทุนในธุรกิจเทคโนโลยีขั้นสูง ขยายตัวที่ 12.4% โดยเฉพาะการลงทุนภาคการผลิตเทคโนโลยีขั้นสูง (+20.4%) มีสัดส่วนคิดเป็น 68.3% ของการลงทุนด้านเทคโนโลยีขั้นสูงในกว่างซี
  • การลงทุนจากต่างประเทศ ในช่วง 11 เดือนแรก การลงทุนจากจริงจากต่างประเทศในกว่างซีมีมูลค่า 1,024 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (+12.0%) โดยนครหนานหนิง เมืองเอกของมณฑลเป็นเป้าหมายการลงทุนของธุรกิจต่างชาติ มีมูลค่าการลงทุนจริง 423 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (+46.9%) รองลงมา ได้แก่ เมืองยวี่หลินมีมูลค่า 113.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (+36.6%) และเมืองเป๋ยไห่ 92.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (+20.4%)

ภาคการค้าต่างประเทศ ประกอบด้วย

  • ในช่วง 11 เดือนแรก มูลค่าการนำเข้า-ส่งออกรวมอยู่ที่ 4.3 แสนล้านหยวน (+1.04%) แบ่งเป็นมูลค่าการส่งออก 2.35 แสนล้านหยวน (-0.12%) และมูลค่าการนำเข้า 1.95 แสนล้านหยวน (+2.49%) กว่างซีเป็นฝ่ายได้ดุลการค้าต่างประเทศ 4 หมื่นล้านหยวน
  • “เวียดนาม” เป็นประเทศคู่ค้ารายใหญ่ที่สุด มีสัดส่วนการค้าระหว่างกัน 36.3% ของมูลค่ารวมการค้าต่างประเทศ โดยกว่างซีเป็นฝ่ายได้ดุลการค้าเวียดนาม 8.19 หมื่นล้านหยวน
  • ประเทศไทย” เป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับ 2 ของกว่างซี (ไม่นับรวมฮ่องกง) มีมูลค่าการค้ารวม 33,925 ล้านหยวน (+14.18%) โดยไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้ากว่างซี 25,823 ล้านหยวน โดยกว่างซีส่งออกไปไทย 4,051 ล้านหยวน (+37.09%) และนำเข้าจากไทย 29,874 ล้านหยวน (+11.65%)

ภาคประชาชน ประกอบด้วย

  • การใช้จ่ายของประชาชน มูลค่าการค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคลดลง 4.5% การใช้จ่ายของประชาชนมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นจากไตรมาส 1/2563 (+15.2%) ไตรมาสสอง (-8.8%) และไตรมาสสาม (-6.1%)
    ประเด็นที่น่าสนใจ การค้าปลีกสินค้าของร้านค้าจริงผ่านระบบออนไลน์เติบโต 37.7% (YoY) ซึ่งสูงกว่าอัตราขยายตัวเฉลี่ยของทั้งประเทศถึงร้อยละ 22.9 จุด และมีส่วนสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภาพรวม
  • ภาวะเงินเฟ้อ ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เพิ่มขึ้น 2.8% อาทิ หมวดอาหาร สุรา ยาสูบ (+9.2%) หมวดการรักษาพยาบาล (+5.5%) หมวดที่พักอาศัย (-1.1%) ในภาพรวม ราคาสินค้าที่จำเป็นในชีวิตประจำวันมีเสถียรภาพ
  • รายได้ประชาชน รายได้เฉลี่ยที่ใช้จ่ายได้ 24,562 หยวน (+5.3%) และรายจ่ายเฉลี่ย 16,357 หยวน (-0.4%) แบ่งเป็นรายได้เฉลี่ยที่ใช้จ่ายได้ของประชาชนเขตเมือง 35,859 หยวน (+3.2%) และเขตชนบท 14,815 หยวน (+8.3%)
  • รายจ่ายประชาชน รายจ่ายเฉลี่ยของประชาชนอยู่ที่ 16,357 หยวน (-0.4%) แบ่งเป็นรายได้เฉลี่ยของประชาชนในเขตเมือง 20,907 หยวน (-3.2%) และประชาชนในพื้นที่ชนบท 12,431 หยวน (+3.2%)

มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ มีการดำเนินมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชน ระยะที่ 2 ด้วยการแจกคูปองส่วนลดแทนเงินสดในการชำระเงินผ่านระบบออนไลน์ ตามสถิติตั้งแต่ 17 พฤศจิกายน 2563 จนถึง 14 มกราคม 2564 ช่วยกระตุ้นยอดการใช้จ่ายได้ 1 แสนล้านหยวน ยอดบิลและยอดการใช้จ่ายเฉลี่ยต่อวันผ่านแพลตฟอร์ม Alipay เพิ่มขึ้น 40.4% และ 36.9% ตามลำดับ

นอกจากนี้ รัฐบาลยังส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมการผลิตเปิดร้านบนแพลตฟอร์มออนไลน์ด้วย อาทิ โรงงานผู้ผลิตรถยนต์ในกว่างซี 12 ราย ที่เข้าร่วมโปรโมชันกระตุ้นยอดขายรถยนต์แบบผสมผสานออฟไลน์+ออนไลน์ ทำยอดขายได้ 55,100 คัน รวมเป็นเงิน 4,306 ล้านหยวน และผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กว่างซีผ่านแพลตฟอร์ม JD.com ทำยอดขายได้เฉลี่ยต่อวันเพิ่มขึ้น 93.1%

 

จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com (中新社广西) วันที่ 21 มกราคม 2564
       เว็บไซต์ http://tjj.gxzf.gov.cn (广西统计局) วันที่ 20 เมษายน 2564 และ 29 ธันวาคม 2563
     เว็บไซต์ http://nanning.customs.gov.cn (南宁海关)
ภาพประกอบ www.freepik.com

 

ที่มา : https://thaibizchina.com/

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]