ตั้งแต่การระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African swine fever หรือ ASF) ในจีนเมื่อเดือนสิงหาคม 2561 ตลาดเนื้อสุกรของจีนได้รับผลกระทบในวงกว้าง โรค ASF ทำให้สุกรที่ติดเชื้อมีอัตราป่วยและตายเกือบร้อยละ 100 โดยมีรายงานว่าจำนวนแม่พันธุ์สุกรของจีน ลดลงจาก 31.5 ล้านตัวในเดือนสิงหาคม 2561 เหลือเพียง 20 ล้านตัวในเดือนพฤศจิกายน 2562 หรือลดลงกว่าร้อยละ 36 การผลิตเนื้อสุกรลดลงร้อยละ 22 ขณะที่ราคาเนื้อสุกรก็ได้ขยับจาก 13.32 หยวน/กก. เมื่อเดือนมกราคม 2562 เป็น 40.46 หยวน/กก. เมื่อเดือนพฤศจิกายนหรือเพิ่มขึ้นมากกว่า 3 เท่าตัว

จีนนั้นเป็นประเทศที่มีการบริโภคเนื้อสุกรมากที่สุดในโลก ประมาณ 45 – 55 ล้านตันต่อปี หรือเกือบครึ่งหนึ่งของโลก ขณะที่มณฑลกวางตุ้งก็ได้ชื่อว่าเป็นมณฑลที่มีการบริโภคเนื้อสุกรมากที่สุดของจีน โดยมีสัดส่วนการบริโภคเนื้อสุกรร้อยละ 40.5 เมื่อเทียบกับเนื้อสัตว์ประเภทอื่น และมีปริมาณการผลิตคิดเป็นร้อยละ 13.77 มากเป็นอันดับ 1 ของจีน การแพร่ระบาดส่งผลทำให้จำนวนสุกรในกวางตุ้งลดลงถึงร้อยละ 60 – 80 เมื่อเทียบกับช่วงก่อนการแพร่ระบาด ซึ่งสร้างความเสียหายกับอุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกร ผู้เลี้ยงสุกรหลายรายต้องขาดทุนเนื่องจากสุกรที่เลี้ยงนั้นติดโรคและตายเป็นจำนวนมากก่อนที่จะสามารถนำไปจำหน่ายได้

ท่ามกลางวิกฤตเนื้อหมูที่เป็นเรื่อง “ไม่หมู” ดังกล่าว ไทยนับเป็นประเทศหนึ่งในภูมิภาคที่ประสบความสำเร็จในการควบคุมโรค ASF และยังเป็นโอกาสของบริษัทไทยที่มีเทคโนโลยีในการรับมือกับโรคดังกล่าว ขยายความร่วมมือกับมณฑลกวางตุ้ง ซึ่งเป็นตลาดเนื้อสุกรอันดับ 1 ของจีนเช่นในกรณีของเครือเจริญโภคภัณฑ์ ซี่งได้ลงทุนสร้างโรงเลี้ยงสุกรขนาด 1 ล้านตัว/ปี ที่เมืองจ้านเจียง มณฑลกวางตุ้ง ซึ่งได้รับการต้อนรับอย่างดีจากรัฐบาลท้องถิ่น

นอกเหนือจากนี้ อีกหนึ่งบริษัทที่เล็งเห็นโอกาสขยายความร่วมมือในตลาดจีน ได้แก่ บริษัท เวทโปรดักส์ซึ่งเป็น 1 ใน 3 บริษัทปศุสัตว์ที่ใหญ่ที่สุดในไทย และเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเวชภัณฑ์และอาหารเสริมสำหรับสัตว์ โดยเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2563 บริษัท เวทโปรดักส์ ได้ลงนามในสัญญาความร่วมมือกับบริษัท Wangda ซึ่งเป็นผู้จำหน่ายอาหารสัตว์ โดยเฉพาะอาหารสำหรับสุกรอันดับต้นของจีน และมีฐานลูกค้าเป็นเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรทั่วประเทศจีน

ภายใต้สัญญาความร่วมมือดังกล่าว บริษัท Wangda จะเป็นผู้จัดหาฟาร์มสุกรที่ได้รับความเสียหายจากโรค ASF และบริษัท เวทโปรดักส์ จะเข้ามาให้บริการสนับสนุนการดูแลสุกรและระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ (biosecurity) ให้กับผู้เลี้ยงสุกร ซึ่งสัตว์แพทย์และทีมเทคนิคของบริษัทฯ จะเข้าไปดูแลและให้คำปรึกษาเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรในจีนในทุก ๆ ขั้นตอน เพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่มีการนำเชื้อโรคจากภายนอกเข้าสู่ฟาร์ม และรับประกันว่า สุกรจากฟาร์มที่เข้าร่วมโครงการจะไม่กลับมาติดโรคซ้ำอีก และหากมีการแพร่ระบาดเกิดขึ้นอีกครั้ง จะสูญเสียสุกรไม่เกินร้อยละ ​30

การร่วมมือดังกล่าวจึงเป็นตัวอย่างของความร่วมมือแบบ win-win โดยใช้ประโยชน์จากจุดแข็งของทั้งสองฝ่าย ทั้งความเชี่ยวชาญและองค์ความรู้เรื่องการเลี้ยงสุกรของบริษัท เวทโปรดักส์ และฐานผู้เลี้ยงสุกรของ บริษัท Wangda ทั่วประเทศจีน

นอกจากการเข้าไปพัฒนาฟาร์มสุกรที่พร้อมรับมือกับโรค ASF แล้ว บริษัท เวทโปรดักส์ ยังจะใช้โอกาสดังกล่าวในการส่งเสริมนักธุรกิจไทยที่สนใจ เข้าไปลงทุนทำฟาร์มสุกรในจีน โดยมีบริษัท Wangda เป็นที่ปรึกษาและพร้อมจะร่วมทุน ซึ่งถือเป็นโอกาสของไทยในการเข้าสู่ตลาดเนื้อสุกรของมณฑลกวางตุ้งและของจีนโดยรวม ซึ่งเป็นตลาดที่มีผู้บริโภคมากเป็นอันดับ 1 ตามข้อมูลข้างต้น

บริษัทเลี้ยงสุกรของไทยที่พร้อมเข้าสู่ตลาดจีนสามารถร่วมมือกับบริษัท เวทโปรดักส์ ในการเจรจาร่วมทุนกับฟาร์มสุกรของจีนที่มีศักยภาพ แต่กำลังกำลังขาดทุนจากสถานการณ์โรค ASF โดยบริษัท เวทโปรดักส์น่าจะมีบทบาทในการประเมินโอกาสและทางรอดของผู้เลี้ยงสุกรที่เข้ารับบริการ หากมีการพัฒนาระบบป้องกันโรค ASF แล้ว และสามารถเป็นกำลังสำคัญในการประสานความร่วมมือระหว่างนักธุรกิจฟาร์มสุกรของไทยกับตลาดเนื้อสุกรของจีนได้อีกทางหนึ่ง

ในปี 2563 นี้เป็นวาระครบรอบ 45 ปีแห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย – จีน ความร่วมมือดังกล่าวระหว่างสองชาติจึงถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าความสัมพันธ์ไทย -จีน นั้นยังคงแน่นแฟ้นและมีการพัฒนาในหลากหลายมิติ ทั้งด้านการทูต ด้านเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน เพื่อเสริมสร้างการเจริญเติบโตและความมั่งคั่งของทั้งสองประเทศต่อไป

——————————

นางสาวสวนีย์ โชติจิรพรรณ เขียน

นายพิชญพัฒน์ เบ็ญจาศิริโรจน์ เรียบเรียง

 

แหล่งที่มาของข้อมูล

http://www.dld.go.th/th/images/stories/hotissue/asf/ContingencyPlanAndCPG2.pdf

https://www.ditp.go.th/ditp_web61/article_sub_view.php?filename=contents_attach/613749/613749.pdf&title=613749&cate=413&d=0

https://www.opsmoac.go.th/guangzhou-situation_price-files-402991791814

https://www.sohu.com/a/309489378_680561

https://baijiahao.baidu.com/s?id=1652065740126069332&wfr=spider&for=pc&sa=vs_ob_realtime

ที่มา : https://thaibizchina.com/