มะพร้าวไทยไปได้สวย.. Fresh Hema ช่วยขายในจีน 20 ล้านลูก!!

ตลอดช่วงที่ผ่านมา มะพร้าวสดของไทยเป็นที่นิยมอย่างมากในจีน โดยเมื่อ 3 ปีที่แล้วมะพร้าวไทยได้ผ่านนวัตกรรมเพื่อแปรรูปเป็นเครื่องดื่มน้ำมะพร้าวและนมมะพร้าว ซึ่งได้สร้างจุดสนใจให้แก่ผู้บริโภคจีนไม่น้อย โดยเฉพาะในกลุ่มผู้บริโภคที่รักสุขภาพที่เห็นว่าการดื่มน้ำมะพร้าวจะให้ประโยชน์ต่อร่างกาย

มะพร้าวไทยฮิตไม่เบา.. จีนนำเข้าทั้งสดและแปรรูป

ตลอดช่วงงาน China International Import Expo (CIIE) ของทั้ง 3 ปีนั้น มะพร้าวเป็นหนึ่งสินค้าหมวดอาหารที่กลุ่มผู้ประกอบการจากประเทศอาเซียนนิยมนำมาประชาสัมพันธ์ในงาน โดยในช่วงงาน CIIE ครั้งแรกเมื่อปี 2561 Alibaba Group ได้ลงนามสัญญาจัดซื้อผลไม้จากไทย 3 ปีคิดเป็นมูลค่า 3,000 ล้านหยวน ซึ่งมะพร้าวเป็นหนึ่งในผลไม้หลักที่ต้องการจะจัดซื้อ

ระหว่างช่วง CIIE ครั้งที่ 1 และ 2 (รวมระยะเวลาประมาณ 1 ปี) Fresh Hema ซึ่งเป็นซุปเปอร์มาร์เก็ตผสมผสานรูปแบบออนไลน์-ออฟไลน์ของ Alibaba Group ได้จำหน่ายมะพร้าวสดไทยให้ผู้บริโภคจีนถึง 20 ล้านลูก โดยภายหลังจากสุดสิ้นงาน CIIE ครั้งแรก Fresh Hema ได้เริ่มนำเข้ามะพร้าวจากไทยมาจำหน่ายทั้งระบบออนไลน์และออฟไลน์ในจีน จนกระทั่งปี 2562 Fresh Hema ได้กลายเป็นช่องทางค้าปลีกมะพร้าวสดจากไทยที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในจีน

ตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา ส่วนแบ่งตลาดของสินค้าน้ำมะพร้าวในจีนขยายตัวขึ้นต่อเนื่อง ทีมงาน Fresh Hema จึงวางแผนจะทำตลาดของสินค้าดังกล่าว โดยเดือน ม.ค. 2562 จึงได้เริ่มคัดเลือกสินค้าน้ำมะพร้าวจากไทย 4 รุ่นและจากมาเลเซีย 1 รุ่น โดยภายหลังจากการทดสอบแล้ว ได้คัดเลือกโรงงานไทยเป็นผู้ผลิตสินค้าน้ำมะพร้าว และนำเข้าสินค้าสู่ตลาดจีนครั้งแรกเมื่อเดือน ส.ค. 2562 จำนวน 2,500 ลัง (น้ำมะพร้าวกล่องขนาด 1 ลิตร) และขยายการนำเข้าเป็น 3 ตู้คอนเทนเนอร์และ 5 ตู้คอนเทนเนอร์ในเดือน พ.ย. และ ธ.ค. 2562 จนกระทั่งปัจจุบันมีปริมาณนำเข้าเฉลี่ยต่อเดือนไม่ต่ำกว่า 20 ตู้คอนเทนเนอร์

นอกจากนี้ ช่วงเดือน ม.ค. 2563 ตัวอย่างสินค้านมมะพร้าวล็อตแรกจากไทยได้ส่งถึงเซี่ยงไฮ้ แต่เนื่องจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 จึงทำให้นมมะพร้าวไม่สามารถเข้าสู่ตลาดจีนได้ตามกำหนดเดิม จนกระทั่งเดือน ก.ย. 2563 จึงสามารถวางจำหน่ายในตลาดจีนได้สำเร็จ

มะพร้าวไทยยังมีโอกาส.. บุกตลาดจีนไม่แพ้ประเทศเพื่อนบ้าน

ในแต่ละปีประเทศจีนมีความต้องการบริโภคมะพร้าวสูงมาก แต่เนื่องด้วยผลผลิตในประเทศไม่เพียงพอ จึงจำเป็นต้องนำเข้าจากต่างประเทศ โดยได้นำเข้ามะพร้าวจากกลุ่มประเทศอาเซียนในแต่ละปีประมาณ 2,500 ล้านลูก จากข้อมูลศุลกากรจีนพบว่า ปี 2562 จีนนำเข้ามะพร้าวจากต่างประเทศกว่า 659,000 ตัน คิดเป็นมูลค่า 286 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 46.49 และร้อยละ 41.33 ตามลำดับ โดยนำเข้าจากไทยมากที่สุด ตามด้วยเวียดนาม อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์

ทั้งนี้ เหตุผลสำคัญที่มะพร้าวอ่อนของไทยยังมีข้อได้เปรียบในตลาดจีน ได้แก่

  1. มะพร้าวของไทยเป็นสายพันธุ์ที่มีคุณภาพดี เนื้อขาวหนา น้ำหวานหอม เหมาะสำหรับรับประทานสด ขณะที่สายพันธุ์มะพร้าวของเวียดนาม อินโดนีเซีย และของท้องถิ่นจีนเหมาะกับการนำไปแปรรูปมากกว่าการดื่มสด
  2. ต้นมะพร้าวของไทยมีผลผลิตต่อต้นค่อนข้างสูง สามารถให้ผลผลิตต่อต้นมากกว่า 100 ผล ขณะที่มะพร้าวจีนที่ปลูกในมณฑลไห่หนานมักมีผลผลิตต่อต้นเพียง 18 ผล และฟิลิปปินส์มีผลผลิตต่อต้นประมาณ 40 กว่าผล

อย่างไรก็ดี มาเลเซียยังมิใช่คู่แข่งของไทย เนื่องจากมาเลเซียมีผลผลิตยังไม่เพียงพอกับความต้องการในประเทศ จึงทำให้ส่งมะพร้าวเข้าสู่ตลาดจีนค่อนข้างน้อย ขณะที่เวียดนามเป็นคู่แข่งที่น่าจับตามอง เนื่องจากมีข้อได้เปรียบมากกว่าไทยในเรื่องการขนส่ง และราคาต้นทุนมะพร้าวที่ต่ำกว่า โดยที่จีนก็มีแนวโน้มนำเข้ามะพร้าวอ่อนจากเวียดนามเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีปริมาณนำเข้าในปี 2562 ต่างจากไทยเพียงเล็กน้อย

นอกจากนี้ ฟิลิปปินส์อาจกลายเป็นอีกหนึ่งคู่แข่งที่สำคัญในอนาคต เนื่องจากสายพันธุ์มะพร้าวมีคุณภาพค่อนข้างดี ราคาต้นทุนมีข้อได้เปรียบกว่าไทย โดยเมื่อปี 2561 จีนได้แจ้งความประสงค์ให้ฟิลิปปินส์ส่งออกมะพร้าวเข้าสู่ตลาดจีนมากขึ้น และเมื่อเดือนเมษายน 2562 ฟิลิปปินส์ได้ลงนามข้อตกลงความร่วมมือกับจีนเพื่อส่งมะพร้าวอ่อนเข้าสู่ตลาดจีนจำนวน 64.5 ล้านตัน ซึ่งนับเป็นการเริ่มต้นที่ดีของมะพร้าวอ่อนฟิลิปปินส์ในตลาดจีน

 

******************************************

 

จัดทำโดย นายโอภาส เหลืองดาวเรือง ศูนย์ข้อมูลธุรกิจไทยในจีนประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครเซี่ยงไฮ้
ข้อมูลอ้างอิง  (1) https://new.qq.com หัวข้อ “一只泰国椰子在中国的持续衍生”วันที่ 10 พ.ย. 2563 (2) https://www.opsmoac.go.th/shanghai-download หัวข้อ “โอกาสทางตลาดออนไลน์และออฟไลน์ของผลไม้ไทยในนครเซี่ยงไฮ้และมณฑลใกล้เคียง” วันที่ 27 ต.ค. 2563

ที่มา : https://thaibizchina.com/

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]