แผนพัฒนากรุงปักกิ่งเป็น Smart City ในช่วงปี 2564-2568

เมื่อวันที่ 23 พ.ย. 63 สนง. เศรษฐกิจและเทคโนโลยีสารสนเทศของกรุงปักกิ่ง ได้แถลงเกี่ยวกับ “แผนพัฒนากรุงปักกิ่งให้เป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart city) (ฉบับร่างเพื่อขอความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน) ในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระยะ 5 ปี ฉบับที่ 14 (2564-2568) ” เพื่อผลักดันกรุงปักกิ่งให้กลายเป็นเมืองอัจฉริยะชั้นนำระดับโลก สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

เป้าหมายหลัก

พัฒนากรุงปักกิ่งให้กลายเป็น smart city ชั้นนำของโลกภายในปี 2568 เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนและพัฒนาการบริหารจัดการเมือง ซึ่งจะเน้นประยุกต์ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) และ Big data ครอบคลุมการพัฒนาอย่างรอบด้าน ทั้งโครงสร้างพื้นฐานเครือข่ายอินเทอร์เน็ต การบริการสาธารณะ การคมนาคม การรักษาพยาบาล และการศึกษา เป็นต้น

สอดคล้องกับเป้าหมายของจีนที่จะพัฒนากรุงปักกิ่งให้เป็นศูนย์กลาง 4 ด้าน ได้แก่ ศูนย์กลางทางการเมือง ศูนย์กลางวัฒนธรรม ศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศ และศูนย์กลางนวัตกรรมทางเทคโนโลยี รวมทั้งการจัดตั้งเขตทดลองการค้าเสรีกรุงปักกิ่งที่เน้นนวัตกรรมทางเทคโนโลยีในช่วงที่ผ่านมา

ภารกิจสำคัญ

  • โครงสร้างพื้นฐาน

    สนับสนุนการขยายเครือข่าย 5G/6G อย่างต่อเนื่อง ส่งเสริมการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตความเร็วสูงระดับกิกกะบิต (Gigabit broadband) เร่งการพัฒนาอินเทอร์เน็ตโพรโตคอลรุ่นที่ 6 (IPv6) โดยดำเนินการติดตั้งสายไฟเบอร์ออปติกในพื้นที่ต่าง ๆ รวมถึงส่งเสริมการสร้างศูนย์ข้อมูลคอมพิวเตอร์ปัญญาประดิษฐ์ความเร็วสูงของกรุงปักกิ่งและศูนย์ข้อมูลสีเขียวชั้นนำของโลก

  • การบริการสาธารณะ

    เร่งผลักดันการบริการประชาชนด้านธุรกรรมภาครัฐผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์โดยมุ่งเน้น “การบริการบนแฟลตฟอร์มเดียว (一网通办)” โดยพัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ครอบคลุมกระบวนการบริการด้านธุรกรรมต่าง ๆ ของภาครัฐอย่างรอบด้านบนแพลตฟอร์มเดียว เช่น การชำระภาษี การจดทะเบียนพาณิชย์ และการชำระค่าไฟค่าน้ำ เป็นต้น รวมถึงประยุกต์ใช้ AI และ Big Data เข้ามามีส่วนในการบริหารจัดการเมือง เช่นการแก้ไขปัญหาการจารจรติดขัด

  • การคมนาคม

    พัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ โดยมุ่งเน้นการผลักดัน “การเดินทางด้วย QR code เดียว” เช่น การให้บริการเช่าเหมารถเมล์ตามความต้องการของลูกค้า การเรียกใช้รถออนไลน์ บริการเช่าจักรยานสาธารณะ (Bike sharing) บริการเช่ารถสาธารณะแบบรายชั่วโมง เป็นต้น รวมถึงผลักดันการพัฒนาระบบโลจิสติกส์อัจฉริยะ ตลอดจนการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไร้คนขับ โดยข้อมูล ณ เดือน ต.ค. 63 กรุงปักกิ่งอนุญาตให้มีการทดสอบรถยนต์ไร้คนขับบนท้องถนนโดยมีระยะทางสะสมแล้วกว่า 2 ล้านกิโลเมตร

  • ด้านอื่น ๆ

    การนำเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในการพัฒนาและยกระดับชีวิตประจำวันของประชาชน เช่น (1) ด้านการกำกับดูแลเรื่องอาหารและยา เช่น ตรวจสอบข้อมูลย้อนกลับของห่วงโซ่ความเย็น (Cold chain)(2) ด้านการศึกษา เช่น เร่งสร้าง “ห้องเรียนอัจฉริยะ” โดยการใช้สื่ออินเทอร์เน็ตและการศึกษา เพื่อส่งเสริมการเรียนการสอน (3) ด้านการรักษาพยาบาล เช่น ส่งเสริมบริการด้านสุขภาพส่วนบุคคลในชุมชน รวมถึงส่งเสริมการใช้ระบบเวชระเบียนอิเล็กทรอนิกส์ และยกระดับระบบการเฝ้าระวังและสอบสวนโรคติดต่อ (outbreak investigation) เป็นต้น

 

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 19 พ.ย. 63 Beijing Academy of Artificial Intelligence (BAAI) ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยภายใต้รัฐบาลกรุงปักกิ่ง ประกาศ “รายงานการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ของกรุงปักกิ่งประจำปี 2563” โดยระบุว่า เมื่อวันที่ 20 ก.พ. 2562 จีนได้จัดตั้งกรุงปักกิ่งให้เป็นเขตทดลองการพัฒนาและนวัตกรรมทางปัญญาประดิษฐ์ยุคใหม่ระดับชาติเมืองแรกของจีน[1] ปัจจุบันกรุงปักกิ่งมีบริษัทด้านปัญญาประดิษฐ์กว่า 1,500 แห่ง ซึ่งติดอันดับแรกของจีนและคิดเป็นร้อยละ 28 ของจำนวนทั้งหมดของจีน และร้อยละ 62.4 ของบริษัทด้านปัญญาประดิษฐ์ในกรุงปักกิ่งตั้งอยู่ที่เขตไห่เตี้ยนของกรุงปักกิ่ง นอกจากนี้ แม้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 แต่มูลค่าของธุรกิจปัญญาประดิษฐ์ของกรุงปักกิ่งยังอยู่ที่ 9.5 หมื่นล้านหยวน (ประมาณ 1.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.7 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

นักวิเคราะห์ของจีนบางส่วนมองว่า ในอดีตการพัฒนาเมืองอัจฉริยะของจีนยังคงเน้นการพัฒนาเชิงพาณิชย์เป็นหลัก แต่ปัจจุบันจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรค COVID-19 เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลและส่งเสริมการพัฒนาเมืองอัจฉริยะในเมืองต่าง ๆ ของจีนมากยิ่งขึ้น เนื่องจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดและการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล ทำให้เทคโนโลยีได้เข้ามามีส่วนช่วยอำนวยความสะดวกและแทรกซึมเข้าไปในทุกกิจวัตรประจำวันของประชาชน เช่น ระบบตรวจสอบการเข้าออกของคนและรถยนต์ ระบบการจัดการกระจายหน้ากากอนามัยให้ประชาชน การใช้ Health Code และการทำงานออนไลน์ เป็นต้น

 

 

[1] หลังจากนั้น จีนได้จัดตั้งเขตทดลองการพัฒนาและนวัตกรรมทางปัญญาประดิษฐ์ยุคใหม่ระดับชาติอีก 12 แห่ง รวมเป็น 13 แห่ง ได้แก่  กรุงปักกิ่ง นครเซี่ยงไฮ้ นครเทียนจิน เมืองเซินเจิ้น นครหางโจว นครเหอเฝย อำเภอเต่อชิง นครฉงชิ่ง นครเฉิงตู นครซีอาน นครจี๋หนาน นครกว่างโจว และนครอู่ฮั่น

 

 

จัดทำโดย:           นางสาวอังศุมา รัตนโกสินทร์ และนายเหวิน ปิน ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ กรุงปักกิ่ง

แหล่งที่มา:          北京:2025年要建成全球新型智慧城市标杆

                          http://www.xinhuanet.com/local/2020-11/23/c_1126772829.htm

                         北京市“十四五”时期智慧城市发展行动纲要(公众征求意见稿)

                         http://www.beijing.gov.cn/hudong/zmhdsy/zjdc/202011/P020201120652425377305.pdf

                       2020北京人工智能发展报告》发布 北京在人工智能17个领域领跑全国                                   

                         http://www.beijing.gov.cn/fuwu/lqfw/gggs/202011/t20201120_2140818.html

                        北京自动驾驶路测安全行驶里程超200万公里

http://industry.people.com.cn/n1/2020/1110/c413883-31925233.html

ที่มา : https://thaibizchina.com/

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]