ไฮไลท์

  • จีนเป็นประเทศที่บริโภครังนกมากที่สุดในโลก กว่า 90% ของรังนกที่ผลิตได้จากทั่วโลกถูกส่งไปจำหน่ายในประเทศจีน โดยรัฐบาลจีนอนุญาตให้นำเข้ารังนกได้จาก 3 ประเทศหลัก ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์รังนกพร้อมดื่มสำเร็จรูป รังนกบริสุทธิ์ และรังนกขน (รังนกดิบที่ยังไม่ได้คัดขน) ซึ่งมีการประเมินว่า ตลาดรังนกดิบในจีนน่าจะมีมูลค่าสูงแตะหลักแสนล้านบาทต่อปี
  • ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2563 เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงมีการนำเข้ารังนกรวม 3,072 กิโลกรัม ขยายตัวเพิ่มขึ้น 981.7% โดย “เมืองชินโจว(Qinzhou City) มีการนำเข้ารังนกมากที่สุด คิดเป็นน้ำหนักรวม 1,986 กิโลกรัม หรือ 64.65% ของปริมาณการนำเข้าทั้งหมด
  • เมืองชินโจว เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพด้านการนำเข้ารังนกเพื่อการแปรรูปของประเทศจีน เนื่องจากเป็นที่ตั้งของ “สวนอุตสาหกรรมแปรรูปรังนกแบบครบวงจร” ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมการพัฒนาห่วงโซ่อุตสาหกรรมรังนกขั้นกลางน้ำ-ปลายน้ำ และมีท่าเรือเมืองชินโจว (Qinzhou Port) เป็น “ด่านนำเข้ารังนก” โดยสวนอุตสาหกรรมแห่งนี้เปิดกว้างต้อนรับนักลงทุนทั่วโลก

 

ด้วยสรรพคุณทางยาตามความเชื่อในศาสตร์แพทย์แผนจีนที่สืบทอดมายาวนานหลายพันปี “รังนกนางแอ่น” จึงได้รับการยกย่องว่าเป็นอาหารเสริมสุขภาพชั้นยอดที่ผู้บริโภคชาวจีนนิยมอย่างมาก และได้รับฉายาเป็น “คาร์เวียร์แห่งโลกตะวันออก สะท้อนให้เห็นถึงมูลค่าทางเศรษฐกิจของ “รังนกนางแอ่น” และทำให้ซุปรังนกเป็นอาหารราคาแพงติด 1 ใน 10 ของโลก

จีนเป็นประเทศที่บริโภครังนกมากที่สุดในโลก กว่า 90% ของรังนกที่ผลิตได้จากทั่วโลกถูกส่งไปจำหน่ายในประเทศจีน รัฐบาลจีนอนุญาตให้นำเข้ารังนกได้จาก 3 ประเทศหลัก ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย นอกจากผลิตภัณฑ์รังนกพร้อมดื่มสำเร็จรูป และรังนกบริสุทธิ์ (รังนกที่ผ่านกระบวนการคัดขนแล้ว) แล้ว มาเลเซียเป็นประเทศเดียวที่ได้รับสิทธิเหนือชาติอื่นๆ ในการส่งออก “รังนกขน(รังนกดิบที่ยังไม่ได้คัดขน) ไปยังตลาดจีนได้ ซึ่งมีการประเมินว่า มูลค่าของตลาดรังนกดิบในจีนน่าจะสูงแตะหลักแสนล้านบาทต่อปี

จากข้อมูลของศุลกากร พบว่า ระหว่างเดือนมกราคม – สิงหาคม 2563 เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงมีการนำเข้ารังนกรวม 3,072 กิโลกรัม ขยายตัวเพิ่มขึ้น 981.7% โดย “เมืองชินโจวมีการนำเข้ารังนกมากที่สุด คิดเป็นน้ำหนักรวม 1,986 กิโลกรัม (สัดส่วน 64.65% ของการนำเข้าทั้งหมด)

ทำไม…เมืองชินโจว (Qinzhou City/钦州市) ถึงเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพด้านการนำเข้ารังนกเพื่อการแปรรูปของประเทศจีน เมื่อปี 2559 รัฐบาลกว่างซีได้เริ่มต้นโปรเจกต์ “สวนอุตสาหกรรมแปรรูปรังนกแบบครบวงจร” เพื่อส่งเสริมการพัฒนาห่วงโซ่อุตสาหกรรมรังนกขั้นกลางน้ำ-ปลายน้ำ และกำหนดให้ท่าเรือเมืองชินโจว (Qinzhou Port) เป็น “ฐานการนำเข้ารังนก” ซึ่งรวมถึงรังนกดิบด้วย

รัฐบาลจีนให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับประเด็นด้านสุขอนามัย โรคระบาด และสารโลหะตกค้างในรังนก จึงมีกฎระเบียบ/ข้อกำหนดที่เข้มงวด ตั้งแต่แหล่งผลิต การขนส่ง การแปรรูป จนถึงมือผู้บริโภค สำหรับการนำเข้ารังนกดิบในสวนอุตสาหกรรมฯ เริ่มขึ้นครั้งแรกเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2562

สวนอุตสาหกรรมแปรรูปรังนก ประกอบด้วยอาคารโรงงานแปรรูปรังนก 10 อาคาร อาคารละ 6 ชั้น (สายการผลิตในแต่ละชั้นจะแบ่งเป็นห้องทำงานตามกระบวนการผลิต) โกดังสินค้าทัณฑ์บน (เปิดให้กับโรงงานแปรรูปรังนกใช้สิทธิประโยชน์การปลอดอากรชั่วคราว โดยชำระอากรเมื่อนำรังนกออกจากพื้นที่ดังกล่าว) ห้อง Lab กลางสำหรับเจ้าหน้าที่ใช้ตรวจสอบเชื้อโรคและสารโลหะหนัก และพื้นที่ปฏิบัติการสำหรับเจ้าหน้าที่ศุลกากร

ปัจจุบัน สวนอุตสาหกรรมแห่งนี้เป็นที่ตั้งของบริษัทแปรรูปและจำหน่ายรังนก 15 ราย ในจำนวนนี้ มี 9 รายที่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานศุลกากรแห่งชาติจีนให้ประกอบธุรกิจนำเข้าและแปรรูปรังนกขน ตั้งแต่เริ่มนำเข้ารังนกขนจนถึงขณะนี้ มีปริมาณการนำเข้ารังนกขนรวม 1,650 กิโลกรัม และรังนกบริสุทธิ์ 600 กิโลกรัม

บีไอซี ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า “สวนอุตสาหกรรมรังนก” แม้ว่าจะตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมจีน-มาเลเซีย แต่ก็เปิดกว้างต้อนรับนักลงทุนทั่วโลก ไม่ได้จำกัดเฉพาะชาวจีนกับชาวมาเลย์เท่านั้น สวนอุตสาหกรรมแห่งนี้จึงเป็นอีกหนึ่ง “ทางเลือก” ของนักธุรกิจรังนก(ไทย) ที่มีความพร้อมและมองเห็นโอกาส(ทอง)เข้าจับจอง “สวนอุตสาหกรรมรังนกเมืองชินโจว” ในการเป็นฐานการผลิตภัณฑ์รังนกเพื่อเจาะตลาดผู้บริโภคชาวจีนได้ง่ายยิ่งขึ้น

การเข้าไปจัดตั้งธุรกิจในสวนอุตสาหกรรมฯ นอกจากความได้เปรียบเชิงกายภาพ ไม่ว่าจะเป็นที่ตั้งที่ใกล้แหล่งผลิตในอาเซียน ความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์ สวนอุตสาหกรรมแห่งนี้ยังได้รับนโยบายสนับสนุนจากส่วนกลาง เพราะตั้งอยู่ในพื้นที่เขตทดลองการค้าเสรีจีน(กว่างซี) พื้นที่ย่อยท่าเรือชินโจว มีโปรโมชัน “ลด แลก แจก แถม ที่ช่วยลดต้นทุนการผลิตให้กับภาคธุรกิจและส่งเสริมบรรยากาศการลงทุนในสวนอุตสาหกรรมฯ

ตัวอย่างเช่น การลด/ยกเว้นค่าเช่าที่ดินและอาคารโรงงาน ภาษีเงินได้นิติบุคคลอัตราพิเศษ 15% (อัตราทั่วไป 25%) ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลในส่วนที่ต้องนำส่งรัฐบาลท้องถิ่น (40% ของภาษีที่ต้องชำระ) แคมเปญจ่ายเงินรางวัล/เงินอุดหนุน การสนับสนุนระบบตรวจสอบย้อนกลับ การอำนวยความสะดวกเรื่องการตรวจลงตรา (วีซ่า) สำหรับนักลงทุนชาติ รวมถึงการหาสินเชื่อสกุลเงินหยวนจากธนาคารจีนที่ตั้งอยู่ในต่างประเทศ (Offshore RMB Load Backflow) ซึ่งเป็นการเสริมทางเลือกให้กับนักลงทุนในกรณีที่ธนาคารจีนในต่างประเทศมีอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อต่ำกว่าธนาคารในประเทศ

 

จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา  เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com (中新社广西) วันที่ 10 ตุลาคม 2563
เว็บไซต์ http://zmqzcyyq.gxzf.gov.cn (中马钦州产业园)
ภาพประกอบ http://att.xhtmz.cn:88/

 

ที่มา : https://thaibizchina.com/