“เศรษฐกิจดิจิทัล” ของกว่างซีไม่เป็นสองรองใครในจีน

ไฮไลท์

  • ยุทธศาสตร์ Digital Guangxi กำลังเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่ช่วยพลิกโฉมเศรษฐกิจและสังคมของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงจากปริมาณสู่คุณภาพและประสิทธิภาพ เน้นการบูรณาการเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ากับอุตสาหกรรมด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต อินเทอร์เน็ตทุกสรรพสิ่ง (IoT) และคลาวด์คอมพิวติ้ง
  • รัฐบาลกว่างซีกำลังส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล ทั้งการพัฒนาสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม ผลักดันการคลัสเตอร์อุตสาหกรรมเศรษฐกิจดิจิทัล และสนับสนุนการพัฒนาในอุตสาหกรรมอินเทอร์เน็ตพลัส บิ๊กดาต้า คลาวด์คอมพิวติ้ง บล็อกเชน อินเทอร์เน็ตในอุตสาหกรรม ระบบพิกัดนำทางดาวเทียมเป่ยโต้ว อุปกรณ์ 5G และอุตสาหกรรมปัญญาประดิษฐ์
  • นอกจากศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศจีน-อาเซียน (China-ASEAN Information Harbor – CAIH) ที่ได้รับนโยบายจากรัฐบาลกลางให้เป็นแพลตฟอร์มความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนด้านเทคโนโลยีดิจิทัลระหว่างจีนกับอาเซียนแล้ว รัฐบาลกว่างซีกำลังเร่งพัฒนาอีกหลายโครงการ เช่น ศูนย์การค้าดิจิทัลจีน-อาเซียน (China-ASEAN Digital Trade Center) ศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศจีน-อาเซียน (China-ASEAN Information Harbor Research & Devleopment Center) และนิคมอุตสาหกรรมเศรษฐกิจดิจิทัลจีน-อาเซียน

 

ยุทธศาสตร์ Digital Guangxi กำลังเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในช่วยพลิกโฉมเศรษฐกิจและสังคมของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงจากปริมาณสู่คุณภาพและประสิทธิภาพ มุ่งเน้นการบูรณาการเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ากับอุตสาหกรรมด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต อินเทอร์เน็ตทุกสรรพสิ่ง (IoT) และคลาวด์คอมพิวติ้ง

ในช่วง 5 ปีมานี้ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจดิจิทัลในกว่างซีมีจำนวนเพิ่มขึ้นเฉลี่ยราว 1,500 ราย นิคมอุตสาหกรรมที่รองรับการลงทุนด้านเศรษฐกิจดิจิทัลมี 26 แห่งใน 9 เมืองทั่วมณฑล (จากทั้งหมด 14 เมือง) ธุรกิจยักษ์ใหญ่ทยอยเข้ามาลงทุนในกว่างซี อาทิ Huawei, Alibaba และ Inspur ห่วงโซ่อุตสาหกรรมดิจิทัลเริ่มก่อตัวเป็นรูปเป็นร่าง อาทิ การผลิตอัจฉริยะ ศูนย์คลาวด์คอมพิวติ้งและบิ๊กดาต้า การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีแกน (Core technology) และการบ่มเพาะอุตสาหกรรมดิจิทัล (Incubator)

ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2563 ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจดิจิทัลมีจำนวน 1.1 หมื่นราย รายได้จากการบริการด้านซอฟท์แวร์และเทคโนโลยีสารสนเทศมีอัตราขยายตัวสูงที่สุดในประเทศจีน

ตามข้อมูล พบว่า ปี 2562 เศรษฐกิจดิจิทัลของกว่างซีมีมูลค่า 659,300 ล้านหยวน ขยายตัว 12.68% (มูลค่า GDP ของกว่างซี มีมูลค่า 2.12 ล้านล้านหยวน ขยายตัว 6.0%) โดยมูลค่าของเศรษฐกิจดิจิทัลมีสัดส่วนคิดเป็น 31.5% ของมูลค่า GDP อยู่ในอันดับที่ 13 ของประเทศจีน

ในบริบทของความใกล้ชิดระหว่างเขตฯ กว่างซีกับอาเซียนและบทบาทการเป็น Gateway to ASEAN ของจีน รัฐบาลกว่างซีกำลังเร่งดำเนินยุทธศาสตร์การพัฒนา “เส้นทางสายไหมดิจิทัล” (Digital Silk Road) มุ่งสู่อาเซียน โดยตั้งเป้าหมายว่าในปี 2568 กว่างซีจะมีระบบนิเวศเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy Ecosystem) ที่มีศักยภาพการแข่งขันสูง เป็นฐานการพัฒนาความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัลกับอาเซียน และเป็นฐานความร่วมมือและเปิดสู่ภายนอกของเศรษฐกิจดิจิทัลบนยุทธศาสตร์สายแถบและเส้นทาง (Belt and Road Initiative – BRI)

เมื่อไม่นานมานี้ รัฐบาลกว่างซีได้ประกาศมาตรการเร่งรัดการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลกว่างซี โดยจะเร่งพัฒนา ระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล ผลักดันการคลัสเตอร์อุตสาหกรรมเศรษฐกิจดิจิทัล และสนับสนุนการพัฒนาในอุตสาหกรรมอินเทอร์เน็ตพลัส บิ๊กดาต้า คลาวด์คอมพิวติ้ง บล็อกเชน อินเทอร์เน็ตในอุตสาหกรรม และระบบพิกัดนำทางดาวเทียมเป่ยโต้ว รวมถึงอุตสาหกรรมการผลิตอุปกรณ์ปลายทางอัจฉริยะ (Intelligence terminal)  เช่น อุปกรณ์โทรคมนาคม 5G และอุตสาหกรรมปัญญาประดิษฐ์ เช่น การแปลภาษานอกกลุ่มภาษาหลัก และหุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม

รัฐบาลกว่างซีจะสนับสนุนการจัดตั้งเขตนำร่องเศรษฐกิจดิจิทัลและการพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อการสร้างสรรค์ด้านดิจิทัล สนับสนุนการพัฒนาการเงินดิจิทัลและการค้าบริการด้านเศรษฐกิจดิจิทัล นอกจากศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศจีน-อาเซียน (China-ASEAN Information Harbor – CAIH) ที่ได้รับนโยบายจากรัฐบาลกลางให้เป็นแพลตฟอร์มความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนด้านเทคโนโลยีดิจิทัลระหว่างจีนกับอาเซียนแล้ว รัฐบาลกว่างซีกำลังเร่งพัฒนาสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมเพื่อรอบรับอีกหลายโครงการ เช่น ศูนย์การค้าดิจิทัลจีน-อาเซียน (China-ASEAN Digital Trade Center/中国-东盟数字贸易中心) ศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศจีน-อาเซียน (China-ASEAN Information Harbor Research & Devleopment Center/中国—东盟信息港小镇(研发中心)) และนิคมอุตสาหกรรมเศรษฐกิจดิจิทัลจีน-อาเซียน

นอกจากนี้ ภูมิสารสนเทศ พลัส (Geo-informatics+) เป็นหนึ่งในโมเดลอุตสาหกรรมที่มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการปฏิบัติงานจริง มีการใช้กันอย่างแพร่หลายในงานเฉพาะด้าน เช่น การวางผังเมือง การแก้ไขปัญหาความยากจน การพัฒนาระบบนิเวศ การป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัย การรังวัดและอสังหาริมทรัพย์ การป้องกันโรคระบาด และการปลูกอ้อย รวมถึงงานเฉพาะสาขา เช่น คมนาคม ป่าไม้ ทะเลและมหาสมุทร ที่ดินและเหมือง งานตรวจสอบ ทหารและพลเรือน และงานสถิติ

 

จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์
www.gx.xinhuanet.com (广西新华网) วันที่ 25 ตุลาคม 2563
       เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com (中新社广西) วันที่ 23 ตุลาคม 2563
ภาพประกอบ www.strategeast.org

ที่มา : https://thaibizchina.com/

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]