ไตรมาสที่ 3/2563 ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ของจีนเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.9 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน นับเป็นการฟื้นตัวอย่างรวดเร็วหลังจากแตะระดับต่ำสุด (ลดลงร้อยละ 6.8) ในช่วงไตรมาสที่ 1/2563 เนื่องจากได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 29 ต.ค. 2563 นายหนิง จี๋จื๋อ ประธานคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจีน (NDRC) ได้แถลงเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจจีน 6 ประการในช่วงการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

 

  • การควบคุมการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ได้อย่างรวดเร็ว ช่วยฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมประกอบธุรกิจและเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งจีนใช้เวลาประมาณ 3 เดือนในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ในนครอู่ฮั่นและมณฑลหูเป่ย หลังจากนั้นยังได้ควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดในบางพื้นที่ เช่น การแพร่ระบาดครั้งใหม่ในตลาดซินฟาตี้ของกรุงปักกิ่ง รวมทั้งการดำเนินนโยบาย “การป้องกันการติดเชื้อจากต่างประเทศและการกลับมาแพร่ระบาดครั้งใหม่ในประเทศ (外防输入,内防反弹)” อย่างเข้มงวด ชึ่งได้ช่วยผลักดันการฟื้นฟูกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมจีนเข้าสู่ภาวะปกติ
  • การมุ่งหน้าผลักดันการกลับมาทำงานของบริษัทและภาคการผลิต โดยทางการจีนได้ออกมาตรการส่งเสริมการกลับมาทำงานของบริษัทและภาคการผลิตกว่า 90 มาตรการในระยะสั้น เช่น การจัดส่งเจ้าหน้าที่หน่วยงานภาครัฐไปประจำบริษัทที่ผลิตสินค้าที่ขาดแคลนเพื่อช่วยแก้ไขปัญหา และจัดเที่ยวรถไฟพิเศษขนส่งแรงงานไปยังพื้นที่ที่ขาดแคลนแรงงาน เป็นต้น เพื่อรักษาเสถียรภาพของห่วงโซ่ธุรกิจและห่วงโซ่อุปทาน
  • การออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการในตลาด เช่น ปรับลดภาษีและค่าประกันสังคมของนายจ้าง ปรับลดอัตราดอกเบี้ยและเพิ่มการปล่อยสินเชื่อในภาคธุรกิจโดยเฉพาะธุรกิจ SMEs ที่ประสบปัญหาการขาดแคลนเงินทุน รวมถึงออกหนี้สาธารณะพิเศษเพื่อต่อต้านการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 เป็นต้น
  • การให้ความสำคัญกับการรักษาเสถียรภาพด้านการจ้างงาน ซึ่งเป็นภารกิจอันดับแรกที่ช่วยสร้างเสถียรภาพของเศรษฐกิจและสังคมจีนในภาพรวม โดยในช่วง 3 ไตรมาสแรกปี 2563 อัตราการว่างงานของจีนได้ลดลงสู่ระดับร้อยละ 5.4 จากร้อยละ 6.2 เมื่อต้นปี 2563 นอกจากนี้ ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของจีนในเดือน ก.ย. 63 ได้ลดลงสู่ระดับร้อยละ 1.7 จากระดับสูงที่สุดร้อยละ 5.4 ในเดือน ม.ค. 63
  • การพัฒนาของรูปแบบธุรกิจใหม่ โดยในระหว่างการรับมือกับการแพร่ระบาดของCOVID-19 เศรษฐกิจดิจิทัลได้มีบทบาทสำคัญ เช่น การซื้อของผ่านแพลตฟอร์ม e-commerce  การจัดส่งพัสดุ การทำงานออนไลน์ การศึกษาออนไลน์ และการรักษาพยาบาลออนไลน์ เป็นต้น
  • การผลักดันการปฏิรูปและเปิดประเทศ โดยที่ผ่านมาจีนได้มีนโยบายปรับลดขั้นตอนการขออนุมัติต่าง ๆ จากหน่วยงานภาครัฐ การผ่อนคลายนโยบายการเข้าถึงตลาดสำหรับนักลงทุนต่างชาติ เพื่อปรับปรุงสิ่งแวดล้อมการลงทุนให้ดีขึ้น ทั้งนี้ ใน 3 ไตรมาสแรกของปี 2563 จีนลงทุนในสินทรัพย์ถาวรเพิ่มขึ้นร้อยละ 8 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน มูลค่าการนำเข้าและส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.7 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.2 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งได้ช่วยรักษาเสถียรภาพด้านการค้าและการลงทุน รวมทั้งเสริมสร้างความเชื่อมั่นของตลาด
        • อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์ของจีนบางส่วนมองว่า ปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมของจีนได้ฟื้นฟูเข้าสู่ระดับเดียวกันกับช่วงก่อนการแพร่ระบาดแล้ว
        ในขณะที่ภาคบริการยังคงฟื้นตัวล่าช้ากว่าภาคอุตสาหกรรมและภาคการเกษตร อัตราเติบโตมูลค่าเพิ่มของภาคบริการในช่วงไตรมาสที่ 3/2563 ยังต่ำกว่าร้อยละ 2.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (โดยเฉพาะธุรกิจการค้าปลีกและค้าส่ง ธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร ธุรกิจการขนส่งและจัดเก็บสินค้า และธุรกิจการให้บริการด้านการพาณิชย์ เป็นต้น) ส่วนธุรกิจการเงิน ธุรกิจการถ่ายโอนข้อมูล ธุรกิจการให้บริการซอฟต์แวร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มีอัตราเติบโตที่สูงกว่าช่วงเดียวกันจากปีก่อน

    ทั้งนี้ จากการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของธุรกิจภาคบริการบางส่วน คาดว่าอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจจีนในไตรมาสที่ 4/2563 จะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 5.5 และอัตราการเติบโตเศรษฐกิจจีนตลอดปี 2563 จะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 2

     

     

     

     จัดทำโดย นายเหวิน ปิน/น.ส. อังศุมา รัตนโกสินทร์  ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย ณ กรุงปักกิ่ง

    แหล่งข้อมูล เว็บไซต์ http://www.scio.gov.cn (国新办) วันที่ 29 ตุลาคม 2563

    เว็บไซต์ https://www.caixin.com/ (财新网) วันที่ 24 ตุลาคม 2563

    ภาพประกอบ https://cj.sina.com.cn/

    ที่มา : https://thaibizchina.com/