• คลังความรู้
  • /
  • บทความ
  • /
  • กานซูนำระบบคลังสินค้าอัจฉริยะ มาใช้ในการจัดการอุตสาหกรรมยาสมุนไพรจีน – ศูนย์บริการข้อมูลธุรกิจไทยในจีน (Thailand Business Information Center in China)

กานซูนำระบบคลังสินค้าอัจฉริยะ มาใช้ในการจัดการอุตสาหกรรมยาสมุนไพรจีน – ศูนย์บริการข้อมูลธุรกิจไทยในจีน (Thailand Business Information Center in China)

บริษัท Deshangtang Pharmaceutical (德生堂) วิสาหกิจท้องถิ่นของมณฑลกานซูผู้จำหน่ายผลิตภัณ์ยารักษาโรคจากสมุนไพรจีนและเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ที่มีสาขามากกว่า 600 แห่งทั่วประเทศ เปิดตัวคลังสินค้าสมุนไพรจีนอัจฉริยะ โดยเป็นฐานการจัดการคลังสมุนไพรจีนและผลิตภัณฑ์ยาแห่งแรกที่นำนวัตกรรมคลังสินค้าอัจฉริยะมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริการลูกค้าให้รวดเร็วขึ้น

คลังสินค้าสมุนไพรจีนอัจฉริยะมีพื้นที่ครอบคลุม 20,000 ตร.ม. ตั้งอยู่ ณ นครหลานโจว มณฑลกานซู แบ่งเป็นโซนจัดเก็บสินค้าสมุนไพรจีนและคลังสินค้าผลิตภัณฑ์ยาสำเร็จรูป ซึ่งเป็นคลังสินค้าระบบเย็นทั้งหมด ติดตั้งระบบและอุปกรณ์การคัดแยกประเภทของสมุนไพร ระบบทำความเย็นและรักษาระดับความชื้นในอากาศอัตโนมัติ ระบบคำนวณน้ำหนักบนชั้นสินค้า ระบบสายพานจำแนกพัสดุ คำนวณด้วยระบบคอมพิวเตอร์ทั้งหมด

คลังสินค้าและระบบการคัดแยกสินค้าในกลุ่มผลิตภัณฑ์ยาสำเร็จรูป ภาพจาก Lanzhou News (视频来源 : 兰州日报)

ทั้งนี้ ระบบการคัดแยกชนิดสินค้า คลังฯ ได้นำระบบจำแนกประเภทสินค้าด้วยบาร์โค้ด และระบบการคำนวณน้ำหนักชั้นสินค้ามาใช้ เพื่อให้ทราบว่าสินค้าบนชั้นวางได้ถูกจำหน่ายไปแล้วเท่าไหร่ ทำให้ทราบจำนวนชิ้นสินค้าที่จะต้องเติมลงไปได้รวดเร็วและแม่นยำ ทั้งยังประหยัดเวลาและแรงงานด้วย ถือเป็นก้าวแรกของการนำระบบการจัดการคลังสินค้าอัจฉริยะ มาปรับใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตและจัดจำหน่ายสมุนไพรจีนของมณฑลกานซู

นอกจากการนำระบบอัตโนมัติและระบบจัดเก็บข้อมูลด้วย Cloud มาปรับใช้แล้ว ปัจจุบันยังมีการนำระบบบันทึกข้อมูลและประวัติการรับรองความปลอดภัยจาก สนง. มาตรฐานอาหารและยาแห่งชาติรวมไปถึงการรับรองมาตรฐานจากหน่วยงานที่มีชื่อเสียงในสินค้าแต่ละประเภท เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภค โดยเฉพาะในกลุ่มสมุนไพรจีนที่ได้นำระบบติดตามข้อมูลตั้งแต่การรับรองมาตรฐานฟาร์มเพาะปลูก การได้รับการรับรองมาตรฐานจากหน่วยงานต่าง ๆ รวมไปถึงวิธีการปรุงยา และสถานะการจัดส่งตลอดเวลาจนกว่าจะถึงมือผู้บริโภค

ข้อมูลจาก สนง. สถิติมณฑลกานซู ระบุว่า ในปี 2562 มณฑลกานซูมีพื้นที่เพาะปลูกสมุนไพรจีนรวม 4.65 ล้านหมู่ (ราว 1.9 ล้านไร่) ปริมาณผลผลิตทั้งปี 1.3 ล้านตัน โดยมีแบรนด์ท้องถิ่นที่ได้รับการยอมรับให้เป็นแบรนด์สมุนไพรจีนชั้นนำของประเทศได้แก่ Fuzheng (扶正) Yifang (一方) Minhai (岷海) Foren (佛仁) และ Heshengtang (和盛堂) เป็นต้น ในปี 2562 มีโรงงานการผลิตและแปรรูปสมุนไพรมากถึง 40 แห่งที่ได้รับการรับรองมาตรฐานการผลิต (Good Manufacturing Practices: GMP) โดยโรงงานทั้งหมดข้างต้น มีกำลังการผลิตยาสมุนไพรจีนชนิดอัดเม็ดถึง 600,000 ตัน/ปี คิดเป็นมูลค่ากว่า20,000 ล้านหยวน

นอกจากนี้ วิสาหกิจผู้ผลิตและแปรรูปสมุนไพรของมณฑลกานซูยังได้เริ่มนำนวัตกรรมมาผสมผสานกับธุรกิจดั้งเดิมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการแปรรูปและจัดเก็บสินค้ามากขึ้น โดยยังคงเน้นการคัดเลือกวัตถุดิบ การล้างทำความสะอาด และการอบแห้งสมุนไพรแบบดั้งเดิม และนำระบบคอมพิวเตอร์มาประยุกต์ใช้ในการตัด ซอย หรือบดสมุนไพร รวมไปถึงการคัดเเยกขนาดของสมุนไพรและการบรรจุผลิตภัณฑ์ เพื่อร่นระยะเวลาการทำงานจากแรงงานคนได้อีกด้วย

ในช่วงที่ผ่านมา วิสาหกิจผู้ผลิตและแปรรูปสมุนไพรจีนท้องถิ่นยังได้ร่วมกันจัดตั้ง “สมาพันธ์ตลาดค้าส่งสมุนไพรแห่งมณฑลกานซู” โดยเป็นความร่วมมือกันระหว่างตลาดค้าส่งสมุนไพรขนาดใหญ่ 5 แห่งของมณฑลกานซู ได้แก่ (1) Longxi Wenfeng (2) Longxi Shouyang (3) Weiyuan Weishuiyuan (4) Huichuan และ (5) Danggui City Market ซึ่งตลาดค้าส่งทั้ง 5 แห่งนี้มีกำลังรองรับการจัดเก็บสมุนไพรจีนได้ 35 คลังสินค้าหรือราว 1 ล้านตัน ซึ่งถือเป็นตลาดคลังสมุนไพรจีนและสินค้าสมุนไพรแปรรูปที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเหนือของประเทศจีนอีกด้วย

การรวมตัวก่อตั้งสมาพันธ์ฯ นี้ แม้จะสามารถมองว่าเป็นการผูกขาดตลาดการค้าสมุนไพรในพื้นที่ เนื่องด้วยสามารถกำหนดราคากลางการรับซื้อสมุนไพรจากเกษตรกรท้องถิ่นได้ แต่การรวมตัวในลักษณะนี้ก็มีข้อดีที่จะมีอำนาจในการต่อรองราคาขายส่งวัตถุดิบไปยังโรงงานแปรรูปขนาดใหญ่ต่างมณฑลที่ต้องการวัตถุดิบสมุนไพรในพื้นที่ได้มากขึ้น รวมไปถึงสามารถทำการตลาดด้วยการนำแนวคิด “สินค้าเกษตรท้องถิ่นมณฑลกานซู” มาใช้ได้อย่างเป็นเอกภาพ ท่ามกลางการแข่งขันจากวิสาหกิจผู้ผลิตและแปรรูปสมุนไพรจีนจากมณฑลอื่น ๆ ของจีน

นอกจากการรวมตัวกันของวิสาหกิจท้องถิ่นแล้ว รัฐบาลมณฑลกานซูยังได้ตั้งเป้าพัฒนาศักยภาพการเพาะปลูกสมุนไพรจีนของเกษตรกรในมณฑลกานซูให้ได้รับการรับรอง Good Agricultural Practices (GAP) มากขึ้น ปัจจุบัน มณฑลกานซูมีฐานเพาะปลูกสมุนไพรจีนขนาดใหญ่ 8 แห่งที่ได้รับการรับรอง GAP แล้ว และมีสมุนไพรจีน 18 ชนิดได้รับการ อาทิ (1) โสมตังกุย อ. หมิน (2) โสมตังเซิน  สีขาว อ. เว่ยหยวน (3) โสมหวงฉี อ. หล่งซี (4) เก๋ากี้ อ. กวาโจว เป็นต้น

ข้อมูลอ้างอิง

  1. http://wsjk.gansu.gov.cn/single/11067/86974.html
  2. http://www.gs.xinhuanet.com/jiankang/2020-10/26/c_1126658937.htm

ที่มา : https://thaibizchina.com/

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]