อ. หลิวป้า เมืองฮั่นจง มณฑลส่านซี เป็นอำเภอขนาดเล็กทางตอนใต้ ตั้งอยู่ใกล้กับเทือกเขาฉินหลิ่ง ทำให้มีความอุดมสมบูรณ์ของดินมากเป็นลำดับต้นๆ ของมณฑลส่านซี มีสภาพอากาศที่เหมาะสมทั้งในแง่การอยู่อาศัยและท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ เนื่องจากมีปริมาณป่าไม้ปกคลุมมากถึงร้อยละ 91.23 ของพื้นที่ทั้งหมด และยังเหมาะสมต่อการเพาะปลูกอีกด้วย ทำให้ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมารัฐบาล อ. หลิวป้า ได้ส่งเสริมการเพาะปลูกพืชสมุนไพรแก่เกษตรกรควบคู่ไปกับการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว โดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นในการปลูกสมุนไพรจีนอย่างต่อเนื่อง

ปัจจุบัน อ. หลิวป้า เป็นแหล่งสมุนไพรจีนมากกว่า 1,320 ชนิด โดยเฉพาะสมุนไพรตระกูลโต๋วต๋ง (Eucommia ulmoides) ซึ่งเป็นกลุ่มพืชสมุนไพรหายากที่มีสรรพคุณในการบำรุงตับและไต โดยบัญชีแดง IUCN ได้จัดสถานะการอนุรักษ์ให้อยู่ในระดับใกล้ถูกคุกคาม (Near Threatened) นอกจากนี้ อ. หลิวป้ายังสามารถเพาะปลูกเทียนหมา จูหลิง และพืชตระกูลโสมได้ดีอีกด้วย

ข้อมูลจาก IResearch ระบุว่า จีนเป็นผู้ผลิตและแปรรูปโสมอเมริกามากถึง 1 ใน 3 ของปริมาณที่ผลิตได้ทั่วโลก รองจากแคนาดาและสหรัฐอเมริกาเท่านั้น (ผลผลิตจากทั้ง 2 ประเทศส่งออกมายังทวีปเอเชียกว่าร้อยละ 80) และจีนยังเป็นตลาดผู้บริโภคโสมอเมริกาที่ใหญ่ที่สุดในโลกอีกด้วย สอดคล้องกับข้อมูลผลสำรวจของ IResearch เมื่อปี 2562 (White Paper on China’s Big Health Consumption Development in 2019) ที่ระบุว่า จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างที่มีอายุระหว่าง 26-45 ปี และเป็นกลุ่มผู้มีกำลังซื้ออยู่ในเกณฑ์ผู้มีรายได้ปานกลาง-สูง พบว่า กว่าร้อยละ 90.3 นิยมซื้อสินค้ากลุ่มบำรุงสุขภาพ โดยเฉพาะในกลุ่มบรรเทาอาการจากความเหนื่อยล้า ซึ่งโสมอเมริกาได้รับการจัดให้อยู่ในอันดับ 2 รองจากวิตามินชนิดต่างๆ และนิยมซื้อสินค้าผ่านช่องทางแพลตฟอร์มออนไลน์ โดยในปี 2562 ทำรายได้กว่า 45,260 ล้านหยวน

ปัจจุบัน อ. หลิวป้า มีพื้นที่ปลูกพืชสมุนไพรมากกว่า 13,000 หมู่ (ราว 5,327 ไร่) เป็นพื้นที่เพาะปลูกโสมอเมริการวม 1,700 หมู่ (ราว 696.7 ไร่) ให้ผลผลิตแบบสดได้ราว 200 ตัน/ปี และมีเกษตรกรมากถึง 570 ครัวเรือน นิยมปลูกโสมอเมริกา สามารถสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรท้องถิ่นไม่ต่ำกว่า 20 ล้านหยวน/ปี ถือเป็นฐานเพาะปลูกโสมอเมริกาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในพื้นที่จีนตะวันตกเฉียงเหนือ และมีผลผลิตคิดเป็น 1 ใน 3 ของปริมาณที่ผลิตได้ทั้งประเทศ

ต้นโสมอเมริกาภายในพื้นที่เพาะปลูก อ. หลิวป้า

แนวโน้มและความต้องการของผู้บริโภคที่มีมากขึ้น ส่งผลให้การเพาะปลูกโสมอเมริกาของ อ. หลิวป้าเริ่มขยายตัวมากยิ่งขึ้น โดยรัฐบาล อ. หลิวป้าได้ตั้งเป้าแผนเพิ่มจำนวนพื้นที่เพาะปลูกพืชสมุนไพรเพิ่มอีก 6,000 หมู่ (ราว 2,459 ไร่) ภายในปี 2568 และคาดการณ์รายได้จากพืชสมุนไพรต่อปีไม่ต่ำกว่า 120 ล้านหยวน หรือคิดเป็นรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนต้องเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 3,200 หยวน อย่างไรก็ตาม เนื่องด้วยโสมอเมริกาเป็นพืชโตช้า หากเพาะปลูกจากเมล็ดอาจต้องใช้เวลาราว 5-6 ปี จึงจะเติบโตสมบูรณ์และเก็บเกี่ยวได้ และต้องการการดูแลรักษาเอาใจใส่ โดยเฉพาะสภาพอากาศที่ต้องการแสงแดดและความชื้นเฉพาะตัวซึ่งเป็นปัจจัยหลักในการเจริญเติบโตของโสมอเมริกา

ปัจจุบัน เกษตรกรผู้ปลูกโสมอเมริกาได้มีการทำข้อตกลงเกษตรพันธสัญญากับวิสาหกิจในพื้นที่ โดยตกลงราคาซื้อล่วงหน้าตลอดทั้งปี ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้สม่ำเสมอและแก้ปัญหาพ่อค้าคนกลางกดราคาได้ นอกจากนี้ รัฐบาล อ. หลิวป้ายังได้ร่วมกับ บ. Shisen Chinese Medicine Comprehensive Development Co., Ltd. (佳仕森中药综合开发有限公司) ส่งเสริมองค์ความรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีการดูแลโสมอเมริกาแก่เกษตรกร และได้ร่วมมือกับ Shaanxi Tianxiang Pharmaceutical Co., Ltd (陕西天翔药业有限公司) วิสาหกิจแปรรูปโสมอเมริกาและสมุนไพรจีนท้องถิ่น ในการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์โสมอเมริกาในรูปแบบต่างๆ ที่สะดวกต่อการบริโภค อาทิ โสมสกัดเข้มข้น ชาโสม โสมอัดเม็ดผสมน้ำผึ้ง เครื่องปรุงอาหาร และเหล้าจากโสม เพื่อจัดจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะการกระจายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งในปัจจุบันผลิตภัณฑ์โสมอเมริกาแปรรูปของ อ. หลิวป้า ได้เครื่องหมายรับรองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์แห่งชาติ (National Geographical Indication Collective Mark) และได้รับการบรรจุให้เป็น 1 ใน Spark Program (星火计划) ซึ่งเป็นแผนการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ชนบทผ่านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งจะทำให้ผลิตภัณฑ์ได้รับความน่าเชื่อถือจากผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น

ข้อมูลอ้างอิง

  1. http://www.foodaily.com/market/show.php?itemid=21645
  2. http://news.cctv.com/2020/10/07/ARTIjJ8wr2ICGK5IkMlG7deS201007.shtml
  3. http://www.xinhuanet.com/photo/2020-09/17/c_1126507335_3.htm

4. http://www.liuba.gov.cn/lbxzf/zwyw/202009/34a28dc2214b43668964ded512768219.shtml

ที่มา : https://thaibizchina.com/