ตุนหวง เร่งผลักดันอุตสาหกรรมการเกษตร ทดแทนรายได้จากการท่องเที่ยว

อ. ตุนหวง เป็นหนึ่งในอำเภอที่มีชื่อเสียงด้านการท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญของมณฑลกานซู เป็นศูนย์กลางสำคัญบนเส้นทางสายไหม (Silk Road) เป็นทางผ่านและจุดแวะพักของพ่อค้าและเป็นเส้นทางแห่งการเผยแพร่พุทธศาสนา อ. ตุนหวง จึงกลายเป็นศูนย์รวมเศรษฐกิจและวัฒนธรรมหลายชนชาติ และจากการเป็นแหล่งศาสนศิลป์ที่มีขนาดใหญ่และสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ทำให้ อ. ตุนหวง มีรายได้จากการท่องเที่ยวเป็นหลัก โดยในปี 2562 เฉพาะ อ. ตุนหวงได้ต้อนรับนักท่องเที่ยวทั้งจากในและต่างประเทศมากถึง 13.37 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 24.14 จากปี 2561 สร้างรายได้กว่า 15,000 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ร้อยละ 76 

ผลกระทบจากวิกฤติ COVID19 ทำให้ อ. ตุนหวงซึ่งพึ่งพาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นหลัก ได้รับผลกระทบอย่างหนัก ข้อมูลจาก สนง. การท่องเที่ยวเมืองจิ่วเฉวียนรายงานว่า ตั้งแต่เดือน ม.ค. – ส.ค. 2563 ทะเลสาบวงพระจันทร์และถ้ำพุทธศิลป์โม่เกาซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดฮิตของ อ. ตุนหวงมีนักท่องเที่ยวทั้งจากในและต่างประเทศมาเยือนเพียง 824,800 คน ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2562 ถึงร้อยละ 55 โดยมากเป็นนักท่องเที่ยวในประเทศจากมณฑลกานซู กวางตุ้ง เสฉวน เจียงซู เซี่ยงไฮ้ และส่านซี ตามลำดับ โดยในจำนวนนี้เป็นการเดินทางแบบกรุ๊ปทัวร์เพียงร้อยละ 20 ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2561 ร้อยละ 43

ผลกระทบในครั้งนี้ ไม่เพียงกระทบต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยว แต่ยังสร้างคลื่นความเสียหายต่อไปยังภาคการค้า การลงทุน การขนส่ง และอุตสาหกรรมภาคบริการอื่นๆ ในพื้นที่ซึ่งเชื่อมโยงกันมาอย่างยาวนานรัฐบาลอำเภอตุนหวงจึงได้เร่งพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรให้เป็นอุตสาหกรรมรองรับท่ามกลางสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนผ่านแผนพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรดั้งเดิมปี 2562-2564 (敦煌市2019-2021年地方传统特色农业发展指导意见) โดยเร่งเพิ่มพื้นที่การเกษตรโดยเฉพาะในพืชตระกูลแตงและถั่วอย่างเร่งด่วน โดยมีแผน (1) การเพิ่มจำนวนพื้นที่เพาะปลูกพืชดั้งเดิม 20,000 หมู่ (ราว 8,196 ไร่) (2) การเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกพืชเศรษฐกิจได้แก่ ลูกพีช พลัม (บ๊วยจีน) ลูกแพร์ และลูกไห่ถัง (沙果海棠) จำนวน 28,000 หมู่ (ราว 11,475 ไร่) และ (3) การเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจกลุ่มใหม่ ได้แก่ สมุนไพรจีนและธัญพืช จำนวน 5,000 หมู่ (ราว 2,049 ไร่) โดยตั้งเป้ายกระดับพื้นที่เพาะปลูกพืชกลุ่มดังกล่าวให้ได้รับมาตรฐานการรับรองสินค้าเกษตรสีเขียว (Certification of  Green Agricultural Products) ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60 ควบคู่ไปกับการสร้างแบรนด์สินค้าเกษตร “ตุนหวง” ให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้นด้วย

อย่างไรก็ดี การพัฒนาอุตสาหกรรมการเกษตรของ อ. ตุนหวง ยังคงมีอุปสรรคอยู่ไม่น้อย ทั้งในด้านภูมิอากาศที่แห้งแล้ง (มีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยต่อปีเพียง 39 มิลลิเมตร) เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่รับแสงแดดได้ตลอดทั้งปีเฉลี่ย 3246.7 ชม. / ปีทำให้น้ำในดินระเหยไปอย่างรวดเร็ว มีพายุทรายเป็นประจำ ทำให้สามารถเพาะปลูกพืชได้เพียงไม่กี่ชนิดเท่านั้น

ล่าสุด สนง. ตรวจสอบและกักกันโรคเมืองจิ่วเฉวียนประจำสนามบินตุนหวง ได้ตรวจสอบพุทราแดงสดและแตงมัสค์ (Muskmelon) จาก อ. ตุนหวง จำนวน 23 ตัน เพื่อส่งออกไปยังประเทศตุรกีเป็นครั้งแรกอย่างราบรื่น ผ่านช่องทางการขนส่งสินค้านานาชาติทางราง “หลานโจวห้าว” โดยผลผลิตทางการเกษตรของ อ. ตุนหวงที่จะส่งออกผ่าน “หลานโจวห้าว” ยังได้รับการอนุมัติให้สามารถจัดส่งไปรอที่ด่านอาลาซาน เขตฯ ซินเจียงอุยกูร์ เพื่อรอผ่านพิธีการทางศุลกากรและการตรวจสอบและกักกันโรคที่ด่านฯ ดังกล่าว ถือเป็นมาตรการที่สามารถช่วยเหลือเกษตรกรท้องถิ่นได้อย่างแท้จริง ซึ่งนอกจากการขนส่งสินค้าผ่าน “หลานโจวห้าว” แล้ว ศุลกากรนครหลานโจว มณฑลกานซู ยังได้ลงนามความร่วมมือกับท่าเรือใหม่เทียนจิน (天津新港) ซึ่งเป็นท่าเรือเทียมที่มนุษย์สร้างขึ้นที่ใหญ่ที่สุดในจีน ขนส่งสินค้าทางทะเลไปยังต่างประเทศได้อีกทางหนึ่ง

ข้อมูลอ้างอิง

  1. http://m.cifnews.com/app/postsinfo/472542
  2. http://www.gs.xinhuanet.com/dunhuang/2020-01/02/c_1125414782.htm
  3. http://news.cctv.com/2019/09/01/ARTI7qGgb7RTvH4Yds5hXVsv190901.shtml
  4. http://www.jiuquan.gov.cn/zhengwudongtai/quxiandongtai/20190327/102420692bde88.htm

ที่มา : https://thaibizchina.com/

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]