ส่องโอกาสของธุรกิจสายสุขภาพของไทยในตลาดกว่างซี

ไฮไลท์

  • เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงกำลังเร่งการพัฒนาธุรกิจด้านการดูแลสุขภาพอยู่เช่นกัน ภายใต้โมเดล “ธุรกิจสุขภาพ 3+3” โดยกำหนดให้สาขาการแพทย์เพื่อสุขภาพ การดูแลผู้สูงอายุ และการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ เป็นหัวใจหลักและเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาเภสัชกรรม กีฬา และอาหารเพื่อสุขภาพ
  • ตลาดสุขภาพในจีนยังเป็นโอกาสสำหรับภาคธุรกิจไทย อาหารเพื่อสุขภาพ เป็นอีกหนึ่งสาขาที่มีแนวโน้ม การเติบโตที่สูง ทิศทางการพัฒนาของตลาดอาหารเพื่อสุขภาพในจีนที่เริ่มจากอาหารหลักที่บริโภคเพื่อสุขภาพ ได้ยกระดับสู่การพัฒนานวัตกรรมอาหารเสริมสุขภาพ เช่น อาหารฟังก์ชัน (โยเกิร์ตสด พืชผักผลไม้และธัญพืชที่ปลูกจากดินที่อุดมไปด้วยแร่ธาตุ รังนก และสมุนไพรจีน) อาหารเสริมเฉพาะด้าน (อาหารคุมน้ำหนัก อาหารบำรุงสมองและสายตา และอาหารเสริมความงาม)
  • นอกจากนี้ ยังมีธุรกิจบริการด้านการดูแลสุขภาพ (Health Care) ด้วยภูมิปัญญาไทย ที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนทำงานรุ่นใหม่ในการผ่อนคลายความเครียดและบรรเทาอาการเหนื่อยเมื่อยล้า เช่น สปา การนวดแผนไทย การนวดเพื่อสุขภาพ การอบประคบสมุนไพรไทย การบำบัดด้วยกลิ่น ซึ่งเป็นสิ่งที่ประเทศไทยมีความโดดเด่นและมีความเป็นเอกลักษณ์ที่ชาวจีนรู้จักและยอมรับอยู่แล้ว

 

วิถีการดำเนินชีวิตของชาวจีนที่เปลี่ยนไปจากเดิม ความเร่งรีบในชีวิตประจำวัน ตลอดจนความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและระบบสาธารณสุข เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดกระแสรักสุขภาพในสังคมจีน ช่วง 2-3 ปีมานี้ เทรนด์สุขภาพได้รับการพูดถึงอย่างหนาหู ชาวจีนหันมาใส่ใจกับการดูแลสุขภาพของตัวเองมากขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจด้านการดูแลสุขภาพ (Health & Wellness) มีแนวโน้มเติบโตสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงก็กำลังเร่งพัฒนาธุรกิจการดูแลสุขภาพอยู่เช่นกัน ภายใต้โมเดล “ธุรกิจสุขภาพ 3+3” โดยกำหนดให้สาขาการแพทย์เพื่อสุขภาพ การดูแลผู้สูงอายุ และการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ เป็นหัวใจหลักและเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาเภสัขกรรม กีฬา และอาหารเพื่อสุขภาพ

รัฐบาลกว่างซีอยู่ระหว่างการส่งเสริมให้บริษัทชั้นนำเข้ามาลงทุนในโครงการด้านการแพทย์เพื่อสุขภาพ การดูแลผู้สูงอายุ และการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ เพื่ออาศัยเงินทุนและเทคโนโลยีของบริษัทชั้นนำเป็นตัวจักรขับเคลื่อนและดึงดูดการลงทุนจากบริษัทขนาดกลางและขนาดย่อม และเกิดการรวมกลุ่มอุตสาหกรรม (cluster) ในพื้นที่ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันในเครือข่าย

ความได้เปรียบทางสภาพแวดล้อม ภูมิอากาศ และทรัพยากรธรรมชาติ รัฐบาลกว่างซีจึงพร้อมที่จะส่งเสริมการลงทุนสาขาเภสัชกรรมใน 5 พื้นที่ และใช้พื้นที่ดังกล่าวพัฒนาความร่วมมือและรองรับการลงทุนจากกระแสการเคลื่อนย้ายอุตสาหกรรมทางตะวันออกของจีน รวมถึงอาเซียน ได้แก่

  • นครหนานหนิง เน้นกลุ่มอุตสาหกรรมสมุนไพรจีนสมัยใหม่และอุปกรณ์วินิจฉัยทางการแพทย์แบบครบวงจร
  • เมืองกุ้ยหลิน เน้นกลุ่มอุตสาหกรรมยาเคมีบำบัด ยาสมุนไพรจีน และอุปกรณ์การตรวจทดสอบทางการแพทย์
  • เมืองอู๋โจว เน้นกลุ่มอุตสาหกรรมเภสัชกรรมที่เป็นภูมิปัญญาของชนชาติส่วนน้อยในพื้นที่จีนตอนใต้
  • เมืองยวี่หลิน เน้นกลุ่มอุตสาหกรรมสมุนไพรจีนสำเร็จรูปและยาสมุนไพรชนิดเม็ดและชนิดน้ำแบบครบวงจร
  • กลุ่มเมืองรอบอ่าวเป่ยปู้ กำหนดให้เมืองฝางเฉิงก่างเป็นพื้นที่ทดลองการเปิดสู่ภายนอกด้านการแพทย์นานาชาติ และเมืองชินโจวและเมืองเป๋ยไห่ เน้นกลุ่มอุตสาหกรรมยาชีวภาพจากทะเล

บีไอซี เห็นว่า ตลาดสุขภาพในจีนยังเป็นโอกาสสำหรับภาคธุรกิจไทย นอกจากสาขาธุรกิจที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว อาหารเพื่อสุขภาพ เป็นอีกหนึ่งสาขาที่มีแนวโน้มการเติบโตที่สูง ทิศทางการพัฒนาของตลาดอาหารเพื่อสุขภาพในจีนที่เริ่มต้นจากอาหารสีเขียว (ปลอดสารพิษและออร์แกนิก) ได้ยกระดับสู่การพัฒนานวัตกรรมอาหารเสริมสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นอาหารฟังก์ชัน (อาหารที่ช่วยเรื่องสุขภาพและระบบการทำงานของอวัยวะในร่างกาย เช่น โยเกิร์ตสด พืชผักผลไม้และธัญพืชที่ปลูกจากดินที่อุดมไปด้วยแร่ธาตุ รังนก และสมุนไพรจีน) อาหารเสริมเฉพาะด้าน (อาหารคุมน้ำหนัก อาหารบำรุงสมองและสายตา และอาหารเสริมความงาม)

นอกจากนี้ ยังมีธุรกิจบริการด้านการดูแลสุขภาพ (Health Care) ด้วยภูมิปัญญาไทย เน้นตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนทำงานรุ่นใหม่ในการผ่อนคลายความเครียดและบรรเทาอาการเหนื่อยเมื่อยล้า เช่น สปา การนวดแผนไทย การนวดเพื่อสุขภาพ การอบประคบสมุนไพรไทย การบำบัดด้วยกลิ่น ซึ่งเป็นสิ่งที่ประเทศไทยมีความโดดเด่นและมีความเป็นเอกลักษณ์ที่ชาวจีนรู้จักและยอมรับอยู่แล้ว ดังนั้น หากธุรกิจไทยสามารถพัฒนาสินค้าและบริการที่ตอบโจทย์ชาวจีนได้ ก็คงไม่ใช่เรื่องยากที่จะเจาะตลาดจีนและได้ผลตอบแทนทางธุรกิจที่ดีจากผู้บริโภคชาวจีนได้

 

 

จัดทำโดย นางสาววัชราภรณ์  พรหมพินิจ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน นครหนานหนิง
เรียบเรียงโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com (中国新闻网) ประจำวันที่ 25 มิถุนายน 2563
ภาพประกอบ www.freepik.com

ที่มา : https://thaibizchina.com/

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]