ยูนนานเปิดแผนพัฒนาเขตการค้าเสรีนำร่องที่มีคุณภาพสูง

เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2563 เขตการค้าเสรีนำร่องจีน (มณฑลยูนนาน) (China (Yunnan) Pilot Free Trade Zone: Yunnan Pilot FTZ) ได้จัดแถลงข่าวเกี่ยวกับการออกเอกสาร “ความคิดเห็นของรัฐบาลมณฑลยูนนานว่าด้วยการสนับสนุนการพัฒนาเขตการค้าเสรีนำร่องจีน (มณฑลยูนนาน) ที่มีคุณภาพสูง”

เอกสารความคิดเห็นดังกล่าวแบ่งเป็น 23 ข้อ ครอบคลุม 6 ประเด็นหลัก ได้แก่

  1. ขอบเขตอำนาจของเขตการค้าเสรีนำร่องมณฑลยูนนาน ซึ่งเน้นการขยายขอบเขตอำนาจของเขตการค้าเสรีนำร่องฯ ให้ครอบคลุมถึงการบริหารจัดการเศรษฐกิจในพื้นที่ระดับเมืองและเขตปกครองตนเอง การเร่งการพัฒนาระบบรัฐบาลอัจฉริยะและปรับปรุงสภาพแวดล้อมการประกอบธุรกิจให้มีความเป็นสากล ตลอดจนการนำร่องดำเนินงานตามข้อริเริ่มและปฏิรูปในด้านที่สำคัญ
  2. อุตสาหกรรม ซึ่งเน้นการสร้างความเข้มแข็งทางอุตสาหกรรมในเขตการค้าเสรีนำร่องฯ โดยมี 4 ประเด็นย่อย ได้แก่

2.1   ยกระดับการค้า ด้วยการมอบรางวัลให้แก่ธุรกิจที่ช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจท้องถิ่น การจัดหาแหล่งเงินทุนสำหรับผู้ส่งออกที่เป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม การจัดทำนโยบายมอบสิทธิพิเศษให้แก่ AEO[1] การส่งเสริมการผลิตสินค้าสำหรับการค้าชายแดนมากขึ้น การนำร่องการกักกันสัตว์ข้ามแดน การส่งเสริมการค้าชายแดนที่ผนวกกับระบบอินเตอร์เน็ต (Internet Plus Border Trade) ตลอดจนการทดลองบริหารจัดการการลงทะเบียนแบบกลุ่ม

2.2   ความร่วมมือด้านสมรรถภาพระหว่างประเทศ ด้วยการเชื่อมโยงการผลิตเข้ากับเขตการค้าเสรีนำร่องฯ การมีส่วนร่วมในการสร้างนิคมอุตสาหกรรมในต่างประเทศมากขึ้น การส่งเสริมการลงทุนของผู้ค้าต่างประเทศในองค์กรของบุคคลที่สาม ตลอดจนการออกมาตรการสำหรับการก่อสร้างท่าอัจฉริยะ (smart ports)

2.3   เร่งส่งเสริมให้วิสาหกิจเข้ามาเปิดสำนักงานใหญ่ โดยให้การดูแลเป็นพิเศษกับวิสาหกิจสำคัญที่เข้ามาเปิดสำนักงานใหญ่ วิสาหกิจทุนต่างชาติ และโครงการลงทุนสำคัญในเขตการค้าเสรีนำร่องฯ เพื่อเร่งสร้างเศรษฐกิจสำนักงานใหญ่ (headquarters economy) ภายในเขตการค้าเสรีนำร่องฯ

2.4   ดึงดูดการลงทุน ด้วยการดำเนินงานด้านส่งเสริมการลงทุน

  1. การเงิน ซึ่งเน้นการเปิดกว้างของภาคการเงินในเขตการค้าเสรีนำร่องฯ โดยมี 2 ประเด็นย่อย ได้แก่

3.1   มอบรางวัลแก่สถาบันการเงินใหม่ ด้วยการมอบเงินรางวัลจำนวน 5 ล้านหยวนให้แก่สถาบันการเงินใหม่ที่เป็นทุนต่างชาติทั้งหมดหรือสาขาของสถาบันการเงินต่างชาติแต่ละแห่ง การมอบเงินรางวัลจำนวน 3 ล้านหยวนให้แก่กิจการร่วมทุนทางการเงินใหม่แต่ละแห่ง และการมอบเงินรางวัลจำนวน 1 ล้านหยวนให้แก่สาขาของกิจการร่วมทุนทางการเงินใหม่แต่ละแห่ง

3.2   บ่มเพาะบริการทางการเงิน ด้วยการสนับสนุนสถาบันการเงินในปล่อยเงินกู้ยืมระยะยาวให้แก่อุตสาหกรรมไฮเทคและความร่วมมือด้านสมรรถภาพข้ามแดนภายในเขตการค้าเสรีนำร่องฯ รวมถึงการส่งเสริมให้บริษัทข้ามชาติให้บริการการเงินข้ามแดน

  1. การเงินและภาษี ซึ่งเน้นการให้ความช่วยเหลือทางการเงินภายในเขตการค้าเสรีนำร่องฯ ด้วยการจัดตั้งกองทุนพิเศษสำหรับการก่อสร้างเขตการค้าเสรีนำร่องฯ โดยในปี 2563 รัฐบาลมณฑลยูนนานได้จัดสรรงบประมาณจำนวน 600 ล้านหยวนสำหรับโครงการด้านอุตสาหกรรม การดำเนินนโยบายทางภาษีเป็นพิเศษเพื่อลดภาระทางภาษีและค่าธรรมเนียม ตลอดจนการมอบหมายให้เขตการค้าเสรีนำร่องฯ จัดตั้งบริษัทระดับภูมิภาคเพื่อบริหารจัดการด้านเงินทุน รวมถึงจัดทำมาตรการเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับนวัตกรรมและการพัฒนา
  2. ที่ดิน ซึ่งเน้นการจัดทำนโยบายที่ดินเป็นพิเศษสำหรับเขตการค้าเสรีนำร่องฯ ด้วยการสนับสนุนให้วิสาหกิจในเขตทดลองการค้าเสรีนำร่องฯ ครอบครองที่ดินผ่านรูปแบบการโอนที่ยืดหยุ่น การเช่าระยะยาว การเช่า และสัมปทาน การงดเว้นไม่เพิ่มราคาการใช้ที่ดินที่ได้รับการกำหนดให้เป็นพื้นที่สำหรับอุตสาหกรรมอยู่แล้ว ตลอดจนการออกนโยบายการใช้ที่ดินเป็นพิเศษสำหรับโครงการอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญด้านการพัฒนาในลำดับต้นและโครงการที่อยู่ในข่ายได้รับการเร่งรัด
  3. การดึงดูดผู้มีศักยภาพจากต่างประเทศ ซึ่งเน้นการผลิตผู้มีศักยภาพเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับการพัฒนาเขตการค้าเสรีนำร่องฯ ด้วยการสร้างให้เขตการค้าเสรีนำร่องฯ เป็นจุดศูนย์รวมพิเศษ (special hub) ของผู้มีศักยภาพ การให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับแผนงานที่เกี่ยวเนื่องกับการฝึกอบรมผู้มีศักยภาพและการดึงดูดผู้มีศักยภาพของเขตการค้าเสรีนำร่องฯ การอุดหนุนทางการเงินสำหรับผู้นำและผู้มีศักยภาพที่ทำงานภายในเขตการค้าเสรีนำร่องฯ ตลอดจนการจัดตั้งแพลตฟอร์มการติดต่อสื่อสารสำหรับผู้มีศักยภาพและบริษัทในเขตการค้าเสรีนำร่องฯ

อนึ่ง เขตการค้าเสรีนำร่องจีน (มณฑลยูนนาน) ก่อตั้งขึ้นตามมติของคณะรัฐมนตรีจีนเมื่อเดือนสิงหาคม 2562 โดยมีพื้นที่รวม 119.86 ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วยพื้นที่หลักใน 3 เมืองของมณฑลยูนนาน ได้แก่ พื้นที่นครคุนหมิง (Kunming Area) ขนาด 76 ตารางกิโลเมตร ซึ่งรวมพื้นที่เขตปลอดอากรขนาด 0.58 ตารางกิโลเมตรด้วย พื้นที่เขตฯ หงเหอ (Honghe Area) ขนาด 14.12 ตารางกิโลเมตร และพื้นที่เขตฯ เต๋อหง (Dehong Area) ขนาด 29.74 ตารางกิโลเมตร

ที่มา: http://english.yunnan.cn/html/2020/consulgeneral_0623/20383.html

[1] Authorized Economic Operator (AEO) ตามนิยามขององค์การศุลกากรโลก (World Customs Organization: WCO) หมายถึง องค์กรหรือบริษัทที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนย้ายสินค้า โดยได้รับการรับรองจากศุลกากรของแต่ละประเทศว่าได้ปฏิบัติตามกรอบมาตรฐานของ WCO หรือมาตรฐานอื่นที่เทียบเท่าในเรื่องการรักษาความปลอดภัยในห่วงโซ่อุปทาน โดยผู้เกี่ยวข้องในห่วงโซ่อุปทานในที่นี้รวมถึงผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้ส่งออก ตัวแทนออกของ ผู้ขนส่ง ผู้รวบรวมสินค้า ท่าเรือ ท่าอากาศยาน ผู้ประกอบการกิจการท่ารถ เจ้าของโรงพักสินค้า ตัวแทนจำหน่ายสินค้า เป็นต้น

ที่มา : https://thaibizchina.com/

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]