ไฮไลท์

  • เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงมีประวัติการปลูกลิ้นจี่ยาวนานกว่า 2,100 ปี เมื่อปี 2562 กว่างซีมีพื้นที่ปลูกลิ้นจี่ 1.01 ล้านไร่ มีปริมาณผลผลิต 5.8 แสนตัน (เฉลี่ยไร่ละ 1.75 ตัน) พื้นที่ปลูกลิ้นจี่ส่วนใหญ่อยู่ทางฝั่งตะวันออกและทางใต้ของมณฑล ลิ้นจี่ที่ปลูกมีอยู่หลายสายพันธุ์ซึ่งจะทยอยออกสู่ตลาดตั้งแต่ช่วงปลายเดือนพฤษภาคมถึงกรกฎาคมของทุกปี และคาดว่าปีนี้ กว่างซีจะได้ผลผลิตลิ้นจี่ทะลุ 6 แสนตัน
  • ภาครัฐมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนภาคการเกษตรและช่วยเหลือเกษตรกรในการพัฒนาคุณภาพการปลูกลิ้นจี่ให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพสูง เช่น การเผยแพร่องค์ความรู้เกี่ยวกับเทคนิคการทาบกิ่ง การปรับสภาพดินให้เกิดความสมดุล เทคนิคการป้องกันและควบคุมแมลงศัตรูพืชด้วยแสง (เทคนิคใหม่ครั้งแรกในจีน) และการจ่ายอุดหนุนแก่เกษตรกร(คนยากจน)ที่ปลูกลิ้นจี่พันธุ์ดี ไร่ละ 2,572 หยวน
  • การแปรรูปผลิตภัณฑ์เชิงลึกเป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาผลผลิตล้นและเป็นช่องทางสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตได้เป็นอย่างดี เช่น การผลิตเหล้าลิ้นจี่ น้ำลิ้นจี่หมัก (lychee cider vinegar) เครื่องดื่มลิ้นจี่ เนื้อลิ้นจี่อบแห้ง ผลลิ้นจี่แห้ง น้ำผึ้งลิ้นจี่ และชาลิ้นจี่
  • แม้ว่าผลไม้เมืองร้อนของไทยจะมีชื่อเสียงและยังคงครองส่วนแบ่งในตลาดจีนได้สูงในปัจจุบัน แต่ทุกภาคส่วนของไทยไม่ควรชะล่าใจ เพราะจีนได้พัฒนาเทคนิคการปลูกและสายพันธุ์ผลไม้ที่ทับซ้อนกันกับไทยอยู่อย่างต่อเนื่อง อาทิ ลำไย ลิ้นจี่ ส้มโอ มะม่วง ขนุน ชมพู่ สับปะรด และกล้วยหอม มิหนำซ้ำ ประเทศคู่แข่งของไทยรายอื่น อย่างเวียดนามและมาเลเซีย ก็กำลังพัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขันอยู่ด้วยเช่นกัน

 

ด้วยรูป รส กลิ่น และคุณค่าทางสารอาหาร ทำให้ผลไม้เมืองกึ่งร้อนอย่าง “ลิ้นจี่” ได้รับการขนานนามเป็น “ผลไม้ชั้นเลิศแห่งจีนตอนใต้” ผลไม้ชนิดนี้มีการปลูกอย่างแพร่หลายในพื้นที่จีนตอนใต้ โดยเฉพาะมณฑลกวางตุ้งและเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงที่มีปริมาณผลผลิตรวมกันเกือบ 1/3 ของทั้งประเทศจีน

ในเขตฯ กว่างซีจ้วง มีบันทึกเกี่ยวกับการปลูกลิ้นจี่มาตั้งแต่ 2,100 ปีก่อน เมื่อปีที่แล้ว (ปี 2562) กว่างซีมีพื้นที่ปลูกลิ้นจี่ 1.01 ล้านไร่ มีปริมาณผลผลิต 5.8 แสนตัน (เฉลี่ยไร่ละ 1.75 ตัน) พื้นที่ปลูกลิ้นจี่ส่วนใหญ่อยู่ที่เมืองชินโจว เมืองยวี่หลิน และเมืองกุ้ยก่าง โดยลิ้นจี่ที่ปลูกมีอยู่หลายสายพันธุ์ ซึ่งจะทยอยออกสู่ตลาดตั้งแต่ช่วงปลายเดือนพฤษภาคมถึงกรกฎาคมของทุกปี (ลิ้นจี่ไทยออกช่วงเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม) โดยคาดว่าปีนี้ ปริมาณผลผลิตลิ้นจี่จะทะลุ 6 แสนตัน

อำเภอหลิงซาน (Ling Shan County/灵山县) ในเมืองชินโจว เป็นแหล่งเพาะปลูกลิ้นจี่ที่มีขนาดใหญ่ (พื้นที่เพาะปลูกลิ้นจี่ราว 1.77 แสนไร่) และมีชื่อเสียงในจีน ประวัติการปลูกลิ้นจี่ของอำเภอแห่งนี้สามารถนับย้อนไปไกลกว่าพันปี (มีต้นลิ้นจี่โบราณที่อายุมากกว่า 1,500 ปี) จนได้รับการขนานนามเป็น “บ้านเกิดลิ้นจี่จีน”

ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่เกษตรได้เข้าไปช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนลิ้นจี่ในอำเภอหลิงซานในการพัฒนาการปลูกลิ้นจี่ให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพสูง เช่น การเผยแพร่องค์ความรู้เกี่ยวกับเทคนิคการทาบกิ่ง การปรับสภาพดินให้เกิดความสมดุล และเทคนิคการป้องกันและควบคุมแมลงศัตรูพืชด้วยแสง (เทคนิคใหม่ครั้งแรกในจีน) ซึ่งได้ผลร้อยเปอร์เซนต์ในพื้นที่ทดลอง ช่วยให้เกษตรกรลดการใช้ยาฆ่าแมลง และภาครัฐพร้อมจ่ายเงินอุดหนุนแก่เกษตรกร(คนยากจน)ที่ปลูกลิ้นจี่พันธุ์ดี โดยให้เงินอุดหนุนไร่ละ 2,572 หยวน

นอกจากนี้ อำเภอหลิงซานยังได้พัฒนาพื้นที่นำร่องเทคนิคการปลูกลิ้นจี่ เพื่อใช้เป็นต้นแบบการพัฒนาอุตสาหกรรมลิ้นจี่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและครบวงจร ทั้งการผลิตและแปรรูปลิ้นจี่คุณภาพสูง การพัฒนาและอนุรักษ์พันธุ์ลิ้นจี่ การทดลองและเผยแพร่เทคนิคการปลูกลิ้นจี่พันธุ์ดี การท่องเที่ยวและสันทนาการในสวนลิ้นจี่ และการร่วมมือและแลกเปลี่ยนเชิงวิชาการสมัยใหม่

แนวทางการจัดการกับผลผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น แต่ไม่สามารถคงความสดไม่ได้นาน เป็นความท้าทายในอุตสาหกรรมลิ้นจี่ของอำเภอหลิงซาน โดยภาครัฐได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมให้ภาคการเกษตรเร่งพัฒนาธุรกิจแปรรูปสินค้าเชิงลึกเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิต เช่น การผลิตเหล้าลิ้นจี่ น้ำลิ้นจี่หมัก (lychee cider vinegar) เครื่องดื่มลิ้นจี่ เนื้อลิ้นจี่อบแห้ง ผลลิ้นจี่แห้ง น้ำผึ้งลิ้นจี่ และชาลิ้นจี่ โดยสินค้าบางประเภทได้ส่งออกไปจำหน่ายในตลาดต่างประเทศแล้ว ทั้งในมาเลเซียและเกาหลีใต้

บีไอซี เห็นว่า ด้วยสภาพภูมิอากาศของกว่างซีที่คล้ายคลึงกับประเทศไทย ทำให้ผลไม้หลายชนิดสามารถปลูกได้ดีในกว่างซี ไม่ว่าจะเป็นลำไย ลิ้นจี่ ส้มโอ มะม่วง มะละกอ มะเฟือง ฝรั่ง ขนุน ชมพู่ สับปะรด กล้วยหอม และเสาวรส และที่สำคัญกว่างซีได้พยายามพัฒนาเทคนิคการปลูกด้วยวิธีต่างๆ เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าผลไม้เมืองร้อนของไทยจะมีชื่อเสียงและยังคงครองส่วนแบ่งในตลาดจีนได้สูงในปัจจุบัน แต่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องของไทยไม่ควรชะล่าใจ เพราะจีนได้พัฒนาเทคนิคการปลูกและสายพันธุ์ผลไม้ที่ทับซ้อนกันกับไทยอยู่อย่างต่อเนื่อง มิหนำซ้ำ ประเทศคู่แข่งของไทยรายอื่น อย่างเวียดนามและมาเลเซีย ก็กำลังพัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขันอยู่ด้วยเช่นกัน

 

จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com (中新社广西) วันที่ 13 มิถุนายน 2563
รูปประกอบ www.freepik.com

 

 

ที่มา : https://thaibizchina.com/