Raw Jasmine rice in wooden bowl and spoon with grain and seed

ไฮไลท์

  • นครหนานหนิงเร่งติดตามความคืบหน้าโครงการ “นิคมโลจิสติกส์ธัญพืชจีน-อาเซียน” ซึ่งมีไฮไลท์ที่น่าสนใจ คือ การเป็นแพลตฟอร์มเปิดให้ “ข้าว” จากอาเซียนใช้ขยายตลาดในมณฑลและกระจายไปยังมณฑลอื่นทั่วจีน
  • นิคมแห่งนี้เป็นตลาดซื้อขายเฉพาะสินค้าธัญพืช ครอบคลุมทั้งกลุ่มสินค้าข้าวเปลือก ถั่ว และมันที่ยังไม่แปรรูป รวมถึงข้าว ธัญพืช (grain) น้ำมัน และอาหารที่แปรรูปแล้ว เป็นศูนย์โลจิสติกส์ธัญพืชขนาดใหญ่ที่ทันสมัยและเป็นสากล และเป็นตลาดกลางการนำเข้าธัญพืชจากอาเซียนเข้าสู่ประเทศจีน
  • คาดว่านิคมแห่งนี้จะช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาของภาคธุรกิจธัญพืชในมณฑลและต่อยอดไปทั้งประเทศ รวมทั้งอาศัย “อาเซียน” เป็นจุดขาย โดยเป็นช่องทางการนำเข้า-ส่งออกธัญพืชระหว่างจีนกับอาเซียน และดึงดูดให้วิสาหกิจด้านธัญพืชของจีนและต่างประเทศเข้ามาลงทุนในนิคมแห่งนี้

 

เทศบาลนครหนานหนิงเร่งติดตามความคืบหน้าโครงการ นิคมโลจิสติกส์ธัญพืชจีน-อาเซียน (中国-东盟粮食物流产业园) หลังจากที่ต้องหยุดชะงักเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งไฮไลท์ที่น่าสนใจ คือ การเป็นแพลตฟอร์มเปิดให้ ข้าวจากอาเซียนใช้ขยายตลาดในมณฑลและกระจายไปยังมณฑลทั่วประเทศจีน

ที่ผ่านมา นครหนานหนิงหรือเมืองอื่นๆ ในเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ยังไม่เคยมีตลาดซื้อขายขนาดใหญ่ในกลุ่มสินค้าธัญพืช นิคมแห่งนี้ได้รับการจัดตำแหน่ง (positioning) ให้เป็นตลาดซื้อขายเฉพาะกลุ่มสินค้าธัญพืช ครอบคลุมกลุ่มสินค้าข้าวเปลือก ถั่ว และมันที่ยังไม่แปรรูป รวมถึงข้าว ธัญพืช (grain) น้ำมัน และอาหารที่แปรรูปแล้ว เป็นศูนย์โลจิสติกส์ธัญพืชขนาดใหญ่ที่ทันสมัย เป็นสากล และเป็นตลาดกลางการนำเข้าธัญพืชจากอาเซียนเข้าสู่ประเทศจีน

นิคมแห่งนี้มีฟังก์ชันด้านการขายส่ง การจัดแสดงและขายตรง การตรวจสอบคุณภาพ การขนส่งและโลจิสติกส์ โกดังเย็น อีคอมเมิร์ซ บริการทางการเงิน และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ โดยคาดว่านิคมแห่งนี้จะช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาของภาคธุรกิจธัญพืชในมณฑลและต่อยอดไปทั้งประเทศ รวมทั้งอาศัย อาเซียน เป็นจุดขาย โดยเป็นช่องทางการนำเข้า-ส่งออกธัญพืชระหว่างจีนกับอาเซียน และดึงดูดให้วิสาหกิจด้านธัญพืชของจีนและต่างประเทศเข้ามาลงทุนในนิคมแห่งนี้

ตามรายงาน โครงการเฟสแรกมีมูลค่า(ตามสัญญา) 213.55 ล้านหยวน ใช้เวลาก่อสร้าง 692 วัน มีพื้นที่สิ่งปลูกสร้างมากกว่า 96,000 ตารางเมตร

บีไอซี เห็นว่า นิคมดังกล่าวเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ผู้ส่งออก ข้าวไทยสามารถใช้เป็นแพลตฟอร์มในการกระจายสินค้าเข้าสู่จีน ปัจจุบัน เขตฯ กว่างซีจ้วงมีด่านที่ได้รับการอนุมัตินำเข้าธัญพืช (รวมถึงข้าว) หลายแห่ง อาทิ ด่านท่าเรือชินโจว (มีเส้นทางเดินเรือกับท่าเรือแหลมฉบัง) ด่านท่าเรือฝางเฉิงก่าง ด่านท่าเรือเป๋ยไห่ ด่านท่าเรือแม่น้ำอู๋โจว (ล่องถึงปากแม่น้ำเพิร์ลมณฑลกวางตุ้ง) รวมถึงด่านทางบกติดประเทศเวียดนาม เช่น ด่านโหย่วอี้กวาน ด่านสุยโข่ว และด่านหลงปัง

นอกจากนี้ ผู้ส่งออกต้องศึกษาโควต้าการนำเข้าข้าวของประเทศจีน ซึ่งคณะกรรมาธิการเพื่อการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจีน (NDRC) จะกำหนดโควต้าการนำเข้าไม่เท่ากันในแต่ละปี ทั้งปริมาณการนำเข้าและบัญชีรายชื่อผู้นำเข้าที่ได้รับอนุมัติ

 

จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com (广西中新社) วันที่ 2 พฤษภาคม 2563
เครดิตภาพ www.freepik.com

ที่มา : https://thaibizchina.com/