รัฐบาลมณฑลส่านซีประกาศเดินหน้าขยายเครือข่ายสัญญาณ 5G ให้ครอบคลุมทั่วทั้งมณฑลอีกครั้ง เพื่อรองรับการเปิดใช้งานอย่างเต็มรูปแบบในช่วงปลายปี 2563 ภายหลังการเปิดทดลองให้บริการสัญญาณ 5G ไปแล้วเมื่อเดือน พ.ย. 2562 ปัจจุบัน ผู้ให้บริการโทรคมนาคมขนาดใหญ่ของจีน China Telecom China Mobile China Unicom ร่วมกับ China Tower (ผู้ติดตั้งและซ่อมบำรุงโครงสร้างพื้นฐานการสื่อสารขนาดใหญ่ของจีน) ได้ติดตั้งเสารับส่งสัญญาณ 5G ในมณฑลส่านซีไปแล้วกว่า 1,000 เสา โดยตั้งเป้าติดตั้งเสารับส่งสัญญาณ 5G ให้ครบ 9,000 ต้นภายในสิ้นปีนี้ เพื่อรองรับการใช้งานของผู้บริโภคที่มีความต้องการใช้งานอินเทอร์เน็ตมากขึ้น เป็นไปตามแผนการพัฒนากระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศที่ตั้งเป้าขยายสัญญาณ 5G ให้ครอบคลุมทั่วประเทศครบ 600,000 เสา ภายในสิ้นปี 2563

ในปี 2563 มณฑลส่านซียังตั้งเป้าพัฒนาและขยายคุณภาพสัญญาณ 5G ให้ครอบคลุมและมีประสิทธิภาพสูง โดยเฉพาะในพื้นที่เมืองหลักที่จะเป็นพื้นที่สำคัญทางอุตสาหกรรมต่างๆ รวมถึงความพร้อมสำหรับการเป็นเจ้าภาพมหกรรมกีฬาแห่งชาติครั้งที่ 14 ที่มณฑลส่านซีตั้งเป้าดึงดูดผู้เข้าชมกีฬาและนักท่องเที่ยวจากทั่วประเทศ

นอกจากเป้าหมายการติดตั้งเสาสัญญาณ 5G แล้ว มณฑลส่านซียังตั้งเป้าติดตั้งและขยายสัญญาณ 5G ให้ครอบคลุมพื้นที่ชนบทอีก 5,000 เสาสัญญาณภายในปี 2565 ซึ่งไม่เพียงจะส่งผลในด้านการตอบสนองข้อมูลและการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ขึ้นรวดเร็วของประชาชน แต่ยังเป็นการกระตุ้นอุตสาหกรรมในพื้นที่ อาทิ การผลิตชิปความจำ การผลิตอุปกรณ์เครือข่ายอัจฉริยะต่างๆ การผลิตเสาอากาศเชื่อมต่อสัญญาณ รวมไปถึงอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์และการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับการรักษาความปลอดภัยของเครือข่ายผู้ให้บริการอีกด้วย

มีการคาดการณ์ว่าในปี 2565 ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรม 5G ของนครซีอาน จะมีมูลค่าราว 30,000 ล้านหยวนและจะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากอุตสาหกรรม 5G จะเป็นอุตสาหกรรมพื้นฐานในการต่อยอดอุตสาหกรรมเทคโนโลยีที่สำคัญต่อชีวิตประชาชน ได้แก่ (1) ปัญญาประดิษฐ์ (AI) (2) Internet of Things (IoT) (3) Cloud Computing (4) Big Data และ (5) Enhanced Data rates for Global Evolution (EDGE) และจะเป็นฐานข้อมูลสำคัญในการพัฒนาและต่อยอดธุรกิจต่างๆ โดยเฉพาะในด้านการคมนาคมและขนส่งสินค้า การแพทย์ การศึกษา การเงินการธนาคาร การเกษตร เป็นต้น

โดยรัฐบาล นครซีอานยังตั้งเป้าพัฒนาแอปพลิเคชันรองรับการใช้งานในกลุ่มเมืองอัจฉริยะ การผลิตขั้นสูง และปัญญาประดิษฐ์ที่สามารถรองรับการทำงานแบบ 5G อีกราว 20-30 แอปพลิเคชันภายในสิ้นปี 2565 อีกด้วย และยังมีการคาดการณ์ว่าภายในปี 2568 อุตสาหกรรม 5G จะสร้างผลิตผลทางเศรษฐกิจโดยตรง (Direct Economic Output) ให้แก่จีนมากถึง 10.6 ล้านล้านหยวนและในกลุ่มเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องอีกกว่า 24.8 ล้านล้านหยวน

ข้อมูลอ้างอิง 

  1. http://en.xa.gov.cn/news/2270.htm
  2. http://sn.ifeng.com/a/20191101/7857543_0.shtml
  3. http://www.cnr.cn/sxpd/shgl/20200425/t20200425_525067357.shtml
  4. http://global.chinadaily.com.cn/a/202005/04/WS5eaf55cba310a8b241153539.html

ที่มา : https://thaibizchina.com/