กว่างซีอัดฉีด แสนล้านหยวน ลุยโปรเจกต์ขนส่งและโลจิสติกส์

ไฮไลท์

  • รัฐบาลกว่างซีวางแผนใช้เงินลงทุนราว 106,650 ล้านหยวน เพื่อลงทุนในโครงการเกี่ยวกับงานขนส่งและโลจิสติกส์รวม 324 โครงการ ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการรองรับและสนับสนุนการพัฒนาโครงข่ายเส้นทางการขนส่งเชื่อมทางบกกับทางทะเลสายใหม่แห่งภาคตะวันตก (New Western Land-Sea Corridor) หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า “เส้นทางNWLSC”
  • เป้าหมายการลงทุนมุ่งในหลายด้าน อาทิ การจัดตั้งนิคมโลจิสติกส์และสถานีสินค้า การพัฒนางานขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ การพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานของด่านทางบกและท่าเรือ การพัฒนาธุรกิจโลจิสติกส์สินค้าทัณฑ์บน การพัฒนาโครงข่ายโลจิสติกส์ในสินค้าโภคภัณฑ์ (bulk) การพัฒนาแพลตฟอร์มข้อมูลสารสนเทศด้านโลจิสติกส์ และการพัฒนางานโลจิสติกส์สมัยใหม่
  • เส้นทาง NWLSC เป็นกลไกสำคัญที่ช่วยเชื่อมโยงการค้าระหว่างจีนตะวันตกกับอาเซียน(ไทย)และเป็นทางเลือกใหม่สำหรับผู้ประกอบการไทยที่ต้องการขนส่งสินค้าไทยไปเจาะตลาดจีนหรือใช้ช่องทางดังกล่าวเพื่อขนส่งสินค้าไปยังเอเชียกลางและยุโรปปัจจุบันมีบริการเที่ยวเรือขนส่งสินค้าระหว่างท่าเรือชินโจวกับท่าเรือแหลมฉบังและท่าเรือกรุงเทพของไทย และการขนส่งทางบกจากภาคอีสานของไทย ผ่าน สปป.ลาว เวียดนาม เข้าสู่ด่านชายแดนของกว่างซีอยู่แล้ว
  • การลงทุนในโครงการงานขนส่งและโลจิติกส์ของกว่างซียังเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยที่ใช้ประโยชน์จากสิ่งอำนวยความสะดวกในโครงการเพื่อบริหารจัดการสินค้าที่จะส่งไปจำหน่ายในจีน หรือการเข้ามาลงทุนเพื่อจัดตั้งธุรกิจในโครงการต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้น

 

รัฐบาลกว่างซีวางแผนใช้เงินลงทุนราว 106,650 ล้านหยวนเพื่อลงทุนในโครงการการขนส่งและโลจิสติกส์ รวม 324 โครงการ เพื่อรองรับและสนับสนุนโครงข่ายเส้นทางการขนส่งเชื่อมทางบกกับทางทะเลสายใหม่แห่งภาคตะวันตก (New Western Land-Sea Corridor/西部陆海新通道) หรือ NWLSC ซึ่งครอบคลุมการจัดตั้งนิคมโลจิสติกส์และสถานีสินค้า การพัฒนางานขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ การพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานของด่านทางบก การพัฒนาธุรกิจโลจิสติกส์สินค้าทัณฑ์บน การพัฒนาโครงข่ายโลจิสติกส์ในสินค้าโภคภัณฑ์ (bulk)การพัฒนาแพลตฟอร์มข้อมูลสารสนเทศด้านโลจิสติกส์ และการพัฒนางานโลจิสติกส์สมัยใหม่

“เส้นทางการขนส่งเชื่อมทางบกกับทางทะเลสายใหม่แห่งภาคตะวันตก” เดิมใช้ชื่อว่า “เส้นทางมุ่งลงใต้” (Southern Transportation Corridor/南向通道) เป็นข้อริเริ่มที่รัฐบาลกลางใช้ส่งเสริมการพัฒนาภาคตะวันตกของจีนมีบทบาทเป็นตัวเชื่อมยุทธศาสตร์เส้นทางสายไหมทางบก (Silk Road Economic Belt) กับเส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งศตวรรษที่ 21 (21st Century Maritime Silk Road) และเขตเศรษฐกิจลุ่มแม่น้ำแยงซี (Yangtze River Economic Belt) ซึ่งรัฐบาลกลางได้ประกาศ “แผนแม่บทเส้นทางNWLSC” และยกฐานะขึ้นเป็นยุทธศาสตร์แห่งชาติเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2562

แผนแม่บทฯ ครอบคลุม 13 มณฑล/เขตปกครองตนเอง/เทศบาลนครของจีน (กรอบยุทธศาสตร์ “การพัฒนาพื้นที่ภาคตะวันตก” หรือ Great Western Development Strategy) ได้แก่ นครฉงชิ่ง เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงมณฑลกุ้ยโจว มณฑลกานซู่ มณฑลเสฉวน มณฑลส่านซี มณฑลยูนนานเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ มณฑลชิงไห่ เขตปกครองตนเองหนิงเซี่ยหุยเขตปกครองตนเองมองโกเลียใน เขตปกครองตนเองทิเบต บวกด้วยมณฑลไห่หนาน

บทบาทของกว่างซี รัฐบาลกลางได้กำหนดให้ “กลุ่มท่าเรืออ่าวเป่ยปู้” และ “ด่านพรมแดนทางบก” ของกว่างซี เป็น Hub สำคัญของเส้นทาง NWLSC ที่มณฑลทางภาคตะวันตกของจีนสามารถใช้เป็นประตูเชื่อมออกสู่ต่างประเทศโดยอาศัยโมเดลการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ โดยเฉพาะการขนส่งในรูปแบบ “รถไฟ+เรือ” และการขนส่งผ่านด่านชายแดน (รถบรรทุกและรถไฟระหว่างประเทศ)

ไม่นานมานี้ รัฐบาลกว่างซีได้ประกาศ “แผนปฏิบัติการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานโครงข่ายโลจิสติกส์กว่างซี ระยะ 3 ปี” (ปี 2563-2563) เพื่อเร่งรัดการพัฒนาเส้นทาง NWLSC ให้เป็นโครงข่ายโลจิสติกส์มุ่งสู่อาเซียน เชื่อมต่อพื้นที่อ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า (GBA) และเชื่อมโยงพื้นที่ภาคตะวันตกเฉียงใต้และภาคกลางตอนล่างให้มีความสะดวกรวดเร็วและมีประสิทธิภาพสูง

การดำเนินโครงการข้างต้น รัฐบาลกว่างซีพร้อมให้การสนับสนุนเชิงรุก เช่น การให้สิทธิพิเศษ (green lane) ในการตรวจอนุมัติโครงการที่รวดเร็วยิ่งขึ้น การให้สิทธิพิเศษในการจัดสรรและใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการก่อสร้างโครงการ การสนับสนุนด้านเงินทุนและการคลังเป็นพิเศษ การติดตามและบริหารจัดการโครงการก่อสร้าง รวมทั้งช่วยเหลือแก้ไขปัญหาเพื่อผลักดันความคืบหน้าโครงการ และสร้างหลักประกันให้โครงการก่อสร้างมีคุณภาพและมีประสิทธิภาพ

ปัจจุบันเส้นทางNWLSCได้รับความนิยมจากผู้ประกอบการนำเข้า-ส่งออกในพื้นที่จีนตอนใน หากเปรียบเทียบกับการขนส่งแบบเดิมผ่านมณฑลเลียบชายฝั่งทะเลทางภาคตะวันออก (มณฑลซานตง นครเซี่ยงไฮ้ มณฑลเจ้อเจียงและมณฑลกวางตุ้ง)พบว่า การใช้เส้นทางNWLSCที่มีกว่างซีเป็น “ฮับ” นั้น มีความได้เปรียบกว่าทั้งด้านระยะทางและระยะเวลาการขนส่งสินค้าที่สั้นกว่ามาก สามารถควบคุมเวลาได้ดีกว่า การขนส่งมีความปลอดภัย สะดวกรวดเร็วกว่า และมีต้นทุนค่าใช้จ่ายที่ต่ำกว่า

ปัจจุบัน ปริมาณการขนส่งตู้สินค้าของท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้ขยายตัวเป็นอันดับต้นๆของประเทศจีนการขนส่งสินค้าจากต่างประเทศด้วยโมเดล “เรือ+รถไฟ” ระหว่างท่าเรืออ่าวเป่ยปู้กับหลายมณฑลภาคตะวันตก (อาทิ นครฉงชิ่งมณฑลเสฉวน มณฑลยูนนนาน มณฑลกุ้ยโจว และมณฑลกานซู่)ได้เปิดให้บริการเป็นเที่ยวประจำแล้ว และเริ่มมีการขยายเส้นทางใหม่เพิ่มมากขึ้น

ขณะที่ปริมาณการขนส่งสินค้าผ่าน “ด่านทางบก” ก็มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน หลายปีก่อนปริมาณรถบรรทุกสินค้าที่ด่านโหย่วอี้กวาน (Youyiguan Border Gate) อยู่ที่ประมาณวันละ 300 คัน ปัจจุบันเพิ่มขึ้นเฉลี่ยวันละ 1,000-1,300 คัน

บีไอซี เห็นว่าเส้นทาง NWLSC เป็นกลไกสำคัญที่ช่วยเชื่อมโยงการค้าระหว่างจีนตะวันตกกับอาเซียน(ไทย)และเป็นโอกาส/ทางเลือกใหม่สำหรับผู้ประกอบการไทยที่ต้องการขนส่งสินค้าไทยไปเจาะตลาดจีนหรือใช้ช่องทางดังกล่าวเพื่อขนส่งสินค้าไปยังเอเชียกลางและยุโรปปัจจุบันมีบริการเที่ยวเรือขนส่งสินค้าระหว่างท่าเรือชินโจวกับท่าเรือแหลมฉบังและท่าเรือกรุงเทพของไทย และการขนส่งทางบกจากภาคอีสานไทย ผ่าน สปป.ลาว เวียดนาม เข้าสู่ด่านชายแดนของกว่างซีอยู่แล้ว

นอกจากนี้ การลงทุนในโครงการงานขนส่งและโลจิติกส์ของกว่างซียังเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยที่จะสามารถใช้ประโยชน์จากสิ่งอำนวยความสะดวกในโครงการเพื่อบริหารจัดการสินค้าที่จะส่งไปจำหน่ายในจีน หรือการเข้ามาลงทุนเพื่อจัดตั้งธุรกิจในโครงการต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้น

 

 

จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์www.chinanews.com.cn (中国新闻网)วันที่ 4 มีนาคม2563
เครดิตภาพ www.sohu.com

ที่มา : https://thaibizchina.com/

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]