Way Forward ครั้งที่ 13

“สรุปภาพรวมเศรษฐกิจโลก จีน และไทย ปี 2020 และแนวโน้มปี 2021”

วันอังคารที่ 29 ธันวาคม 2563
เวลา 9.30 -10.30 น. (ไทย) 10.30 -11.30 น. (จีน)
โดย คุณอภินันท์ ลีลาเชาว์ (เจ้าหน้าที่วิจัยอาวุโส ศูนย์วิจัยกสิกรไทย)
ดำเนินรายการโดย คุณโสภิต หวังวิวัฒนา (ผู้จัดการฝ่ายสื่อเสียง ไทยพีบีเอส)
สรุปโดย Phatphicha Lerksirinukul (www.salika.co)

‘จีน’ เป็นประเทศแรกที่เผชิญวิกฤตโรคระบาด อภินันท์ ลีลาเชาว์ เจ้าหน้าที่วิจัยอาวุโส ศูนย์วิจัยกสิกรไทยให้ข้อมูลคาดการณ์ที่เป็นค่ากลางว่า จะเติบโตที่ราว 1.7 – 2% แต่หากพิจารณาเพียงไตรมาส 4 คาดว่า GDP จีนจะเติบโตอยู่ที่ราว 5.6%

สมมุติฐานด้านเศรษฐกิจ ถ้าจีนไม่เจอโควิดระลอกใหม่

ปัจจัยที่ทำให้ตัวเลขของจีนอยู่ในแดนบวกมาจาก 1) ที่ผ่านมา จีนสามารถควบคุมโรคระบาดได้ดี 2) มีเงินหมุนเวียนจากการบริโภคของภาคเอกชน โดยเฉพาะการท่องเที่ยวภายในประเทศ และ 3) ภาคการผลิตของจีนฟื้นตัว อย่างหมวดอุปกรณ์ทางการแพทย์ เช่น หน้ากากอนามัย ถุงมือแพทย์ เครื่องวัดอุณหภูมิร่างกาย ที่ขาดแคลนกันมากในช่วงโควิด-19 กลายเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญต่อหลายประเทศ

คาดการณ์ว่า GDP จีนจะดีขึ้นในปี 2021 แต่อาจไม่กลับไปเติบโตอย่างช่วงก่อนโควิด-19

อภินันท์เผยสมมุติฐานในกรณีที่จีนไม่เจอโควิดระลอกใหม่ว่า ในปี 2021 GDP จีนอาจเติบโตที่ราว 7.5 – 8% โดยปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เศรษฐกิจเติบโตได้ดีมาจาก การบริโภค (Consumption) ภายในประเทศ และ ภาคการผลิต (Production) อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากสถานการณ์โควิด ทำให้มีอุปสงค์ด้านวัตถุดิบมากขึ้น ส่งผลให้ราคาสินค้าหน้าโรงงานมีราคาสูงขึ้น

ช่วงล็อกดาวน์ในไตรมาสแรก เป็นช่วงที่สถานการณ์หลายอย่างในจีนไม่มั่นคง ทั้งในด้านการจ้างงาน รายได้ ความพึงพอใจในการบริโภค ซึ่งสะท้อนจากอัตราการว่างงานที่พุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ GDP ในไตรมาสแรกของปี 2020 ลงไปอยู่ที่ -6.8% แต่สถานการณ์ค่อยๆ ดีขึ้นในไตรมาสต่อมา และส่งผลต่อ GDP ในปี 2021 ที่คาดว่าจะเป็นบวก

จีนใช้เงินจำนวนมากเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านมาตรการการเงินและมาตรการการคลัง 4 ล้านล้านหยวน หรือราว 20 ล้านล้านบาท ซึ่งการที่จีนใช้เงินจำนวนมากก็ทำให้หนี้ของจีนพอกพูนเร็วขึ้นตามการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

  • ตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) มีค่าเฉลี่ยการเติบโตในระดับโลกอยู่ที่ 6% โดยในเอเชียจะมีการเติบโตมากที่สุด

ปัจจัยไหนบนโลกใบนี้ที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย?

อภินันท์กล่าวถึงมุมของ FTA ว่าเราได้ผลกระทบเชิงบวก เพราะเมื่อจีนฟื้นตัว จะมีความต้องการชิ้นส่วนสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ขณะที่ญี่ปุ่นจะต้องการชิ้นส่วนยานยนต์ จึงเป็นโอกาสของไทยที่จะเข้าไปเป็นกองหนุนในด้านกำลังการผลิตชิ้นส่วนของทั้งสองอุตสาหกรรม

อีกโอกาสของไทยคือ การเติบโตไปกับ RCEP โดยผลจาก RCEP สามารถสรุปได้ 2 ประเด็นคือ ประเทศในแถบเอเชียจะส่งออกได้มากขึ้น เมื่อจีนส่งออกได้มากขึ้น ไทยก็จะขยับด้านการส่งออกได้เช่นกัน

RCEP จะช่วยให้เศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียฟื้นตัว
โอกาสของไทยที่จะโตไปกับ RCEP สรุปได้ 2 ประเด็นคือ ประเทศในแถบเอเชียจะส่งออกได้มากขึ้น จีนส่งออกได้มากขึ้น ไทยก็ขยับด้านการส่งออกได้เช่นกัน
ประเทศที่ได้ประโยชน์จาก RCEP หลักๆ คือ จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ ซึ่งไทยจะได้อานิสงส์จากการเป็นจุดเชื่อมต่อสำคัญของซัพพลายเชนในระดับภูมิภาค

สำหรับ GDP ประเทศไทยนั้น อภินันท์ ลีลาเชาว์ เจ้าหน้าที่วิจัยอาวุโส ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ให้ข้อมูลคาดการณ์ว่า จะหดตัวลงมาที่ -6.7% ในปี 2020 และคาดการณ์ค่ากลางของ GDP ปี 2021 ว่าจะเติบโตที่ 2.6%

ส่วนปัจจัยที่จะมีผลกระทบเชิงลบต่อไทย ได้แก่ BREXIT ส่งผลกระทบต่อเนื่องให้ทางยุโรปเปลี่ยนคู่ค้าและสั่งสินค้าไทยน้อยลง และ ภูมิรัฐศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา เนื่องจากท่าทีสุภาพแต่แข็งกร้าวของ ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ที่มีต่อจีน มีแนวโน้มว่าไบเดนจะค่อยๆ โอบล้อมให้จีนหันมาให้ความร่วมมือกับสหรัฐอเมริกาดำเนินนโยบายต่างๆ ตรงข้ามกับโดนัลป์ ทรัมป์ ที่มักจะเปิดหมัดฮุกจีนตรงๆ สกัดดาวรุ่งทุกช่องทางที่ทำได้

ในสถานการณ์โควิด หลายประเทศหันไปลงทุนในเวียดนาม จนเวียดนามมีเศรษฐกิจที่่แข็งแกร่งขึ้นมาก กระเทือนถึงภาคการผลิตและซัพพลายเชนของไทย แต่อย่างไรก็ดี RCEP จะก่อให้เกิดผลดีต่อไทยในฐานะ Linkage ที่เชื่อมเส้นทางซัพพลายเชนโลกหลังวิกฤตโควิด

คาดการณ์วัคซีนที่ผลิตได้ก่อน โดยไทยสั่งซื้อ AstraZeneca เอาไว้ 26 ล้านโดส เพียงพอสำหรับประชากรไทยราว 20%

อีกเรื่องที่สำคัญต่อประชากรทั่วโลกที่มีมากกว่า 7.7 พันล้านคน นั่่นคือ วัคซีนโควิด-19 เนื่องจากกำลังการผลิตวัคซีนรวม 3 ชื่อที่ได้รับการอนุมัติ รองรับได้เพียง 1 ใน 3 ของประชากรโลก ขณะที่สหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักรมีกำลังทรัพย์ที่จะซัพพอร์ตวัคซีนให้ประชาชนก่อนก็สั่งผลิตได้ก่อนในปริมาณมาก 

สำหรับประเทศไทยมีการสั่งซื้อวัคซีน AstraZeneca ที่ Oxford กับ AstraZeneca ร่วมกันพัฒนาขึ้น จำนวน 26 ล้านโดส ซึ่งเพียงพอสำหรับประชากร 13 ล้านคน และในขณะนี้ก็ยังไม่มีข้อมูลอัปเดตเพิ่มว่าจะซื้อวัคซีนเพิ่มเมื่อไร จากบริษัทใด

อย่างไรก็ตาม การขนส่งวัคซีนก็เป็นอุปสรรคของนานาประเทศ เพราะต้องรักษาอุณหูมิของวัคซีนไว้ที่ระดับติดลบ นอกจากนี้ พาหนะขนส่งและสถานที่จัดเก็บวัคซีนก็ต้องพร้อมรองรับอุณหภูมิในสภาวะที่แตกต่างกันไป

อภินันท์นำข้อมูลด้านการท่องเที่ยวมาฉายภาพว่า ประเทศไทยมี 31,500 โรงแรม รวมแล้วมีมากกว่า 1.15 ล้านห้อง

มาต่อที่ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง จะยังคงได้รับผลกระทบต่อเนื่องในปี 2021 โดยเฉพาะเมืองท่องเที่ยวอย่างเชียงใหม่ ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี ชลบุรี ตราด รัฐจึงต้องใช้มาตรการช่วยเหลือที่ต่างกันออกไปตามแต่ละพื้นที่

ด้านมูลค่าความเสียหาย ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินไว้ว่า ไทยอาจสูญเสียรายได้จากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวถึง 4 ล้านล้านบาท ในระหว่างปี 2020 – 2021

สรุปปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อไทยและความท้าทายในปี 2021

  • การเดินทางท่องเที่ยว การกระจายวัคซีนในประเทศพัฒนาแล้วในช่วงไตรมาส 1-3 คาดว่าจะส่งผลให้การเดินทางระหว่างประเทศและการท่องเที่ยวไทยผ่อนคลายลงในไตรมาส 4 
  • ระหว่างที่รอวัคซีน ให้ดูแลสุขภาพ สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ และเว้นระยะห่าง เพื่อรอรับวัคซีนในไตรมาส 2 เป็นต้นไป
  • เงินบาทอาจแข็งค่าตลอดปี โดยเฉลี่ยจะอยู่ 29.00 – 29.25 บาท ดังนั้น ผู้ประกอบธุรกิจอาจต้องเตรียมป้องกันความเสี่ยงในด้านนี้ โดยเฉพาะผู้ที่ทำธุรกิจระหว่างประเทศ
  • การส่งออกมีเหตุให้สะดุด จากการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ที่ใช้ส่งสินค้าระหว่างประเทศ อันเป็นผลมาจากการล็อกดาวน์ทำให้ระบบขนส่งและโลจิสติกส์ข้ามแดนต้องหยุดชะงัก แต่น่าจะดีขึ้นในไตรมาส 2
  • ผลกระทบจากสถานการณ์รอบโลก ความสัมพันธ์หรือการดำเนินนโยบายระหว่างประเทศในมิติต่างๆ เช่น BREXIT, ความไม่แน่นอนด้านภูมิรัฐศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งยังมุ่งคานอำนาจในสมรภูมิ Trade War และ Tech War กับจีนต่อไป

ที่มา : สรุปอิมแพ็คและความท้าทาย 2020-2021 ปัจจัยใดบ้างที่จะทำให้ ‘เศรษฐกิจไทย’ ไม่เหมือนเดิม