ปัจจุบัน การสืบค้นข้อมูลทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สามารถทำได้สะดวกและเข้าถึงได้ง่ายกว่าในอดีต ส่งผลให้มีการลักลอบใช้และละเมิดลิขสิทธิ์ทางความคิดจากผลงานวิชาการต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ การลักลอบ แอบอ้างหรือคัดลอกข้อมูลทางวิชาการ ไม่ว่าจะเป็นการคัดลอกข้อความย่อหน้าเดียวหรือเพียงข้อความสำคัญเพียงข้อความเดียว แอบอ้างคำประดิษฐ์หรือคำเฉพาะทางวิชาการที่เจ้าของผลงานประดิษฐ์ขึ้น หรือแปลจากภาษาต่างประเทศ หรือแอบอ้างแนวคิดทฤษฎีต่างๆ ของเจ้าของผลงานโดยไม่อ้างอิงแหล่งที่มา หรือการคัดลอกข้อความจากต้นฉบับและปรับแก้ไขข้อความบางตอน หรืออักษรบางคำเพื่อให้กลายเป็นข้อความของตนโดยไม่มีการอ้างอิงแหล่งที่มา รวมไปถึงการนำข้อมูลต้นฉบับไปใช้อย่างไม่ถูกต้อง ถือว่าเป็นพฤติกรรมทุจริตและพฤติกรรมมิชอบทางวิชาการ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่สำหรับแวดวงการศึกษา-วิจัยในสถาบันการศึกษาทั่วโลก ในวงการวิชาการของแต่ละประเทศ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของลิขสิทธิ์ทางปัญญาและปัญหาทางด้านคุณธรรมและจริยธรรมที่นักวิจัย นักวิชาการรวมไปถึงนักศึกษาพึงตระหนัก จึงได้คิดค้นและพัฒนาระบบเทคโนโลยีในการตรวจสอบ-คัดกรองการเทียบซ้ำทางลิขสิทธิ์ปัญญาเพื่อป้องกันการลอกเลียนวรรณกรรม (Plagiarism) ในการเขียนวิทยานิพนธ์ไม่ว่าจะเป็นระดับปริญญาตรี โท หรือเอก ล้วนต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบการลอกเลียนวรรณกรรม ก่อนจึงจะมีสิทธิ์สอบป้องกันวิทยานิพนธ์ (Defense) ได้ โปรแกรมตรวจสอบการคัดลอกผลงานทางวิชาการที่นิยมใช้ในจีน มี 2 โปรแกรม คือ โปรแกรม Academic Misconduct Literature Check System (AMLC) และ โปรแกรม Paperpass (PP) มีรายละเอียดดังนี้

1. โปรแกรม Academic Misconduct Literature Check System (AMLC)  

โปรแกรม Academic Misconduct Literature Check System หรือ โปรแกรม AMLC ภาษาจีน คือ 学术不端文献检测系统 พัฒนาโดยศูนย์วิจัยเพื่อพัฒนาและบริหารจัดการระบบความน่าเชื่อถือทางการวิจัย หรือ China National Knowledge Infrastructure (CNKI) หรือ 科研诚信管理系统研究中心 ภายใต้บริษัท Tongfang Knowledge Network Technology Co., Ltd. (同方知网出版集团) และนำมาใช้ในปี ค.ศ. 2008 (พ.ศ.2551) ข้อมูลจากเว็บไซด์ของ CNKI ในปี ค.ศ. 2009 (พ.ศ. 2552) ระบุว่า ระบบคลังข้อมูลของจีน มีจำนวนวิทยานิพน์ บทความ และวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องในสาขาวิชาต่างๆ มากกว่า 700,000 เรื่องที่ผ่านการคัดกรองการเทียบซ้ำทางลิขสิทธิ์ทางปัญญาแล้ว โดยทั่วไป สถาบันการศึกษาของจีนจะมีข้อกำหนดว่า วิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอก ควรจะมีค่าเทียบเคียงความเหมือนไม่เกิน 15% และวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโท ไม่เกิน 20% ทั้งนี้ ตัวเลขดังกล่าวขึ้นอยู่กับข้อกำหนดของแต่ละมหาวิทยาลัย  รายงานผลการตรวจสอบการคัดลอกข้อความผ่านโปรแกรม AMLC จะแสดงค่าความทับซ้อนหรือค่าความเหมือน (Similarity) ของข้อความในเอกสารทั้งหมด เปรียบเทียบกับฐานข้อมูลงานวิจัยและวิทยานิพน์ที่มีในระบบ ดังรูปที่ 1

รูปที่ 1 ตัวอย่างรายงานผลการตรวจสอบของโปรแกรม AMLC
รูปที่ 2 ตัวอย่างการแสดงผลข้อความที่ผ่านการตรวจสอบด้วยโปรแกรม AMLC

รายงานผลการตรวจสอบ จะแสดงด้วยสัญลักษณ์สีแดง สีเขียว และสีดำ
สีแดง คือ พบการลอกเลียนวรรณกรรมหรือคัดลอกมาจากแหล่งงานอื่น
สีเขียว คือ แสดงการอ้างอิงการใช้ข้อมูล
สีดำ คือ ส่วนที่ผ่านการตรวจสอบ ไม่ใช่ข้อความที่คัดลอกมาจากแหล่งข้อมูลอื่น

2. โปรแกรม PaperPass (PP)

โปรแกรม PaperPass (PP) เป็นระบบการตรวจสอบการลอกเลียนวรรณกรรมออนไลน์ ของบริษัท Beijing Wisdom Teeth Number Hui Technology Co., Ltd.(北京智齿数汇科技有限公司)พัฒนาขึ้นในปี ค.ศ. 2007 (พ.ศ.2550) และทดสอบและนำออกใช้งาน ในปี ค.ศ.2008 (พ.ศ. 2551) จนถึงปัจจุบัน เป็นโปรแกรมที่ค่อนข้างได้รับความนิยมในกลุ่มนักศึกษาต่างชาติ มีค่าใช้จ่าย 1.8 หยวน/1,000 ตัวอักษร

รายงานผลการตรวจสอบ จะแสดงค่าความเหมือนโดยภาพรวม (Total Similarity) และร้อยละของค่าความเหมือนเมื่อเทียบกับฐานข้อมูลทางวารสาร วิทยานิพนธ์ รายงานการประชุม หนังสือ และข้อมูลทางเว็บไซด์ต่างๆ ที่มีการเผยแพร่ก่อนหน้านี้ ในรูปแบบ PDF ( รูปที่ 3 ) และ HTML ( รูปที่ 4 )

รูปที่ 3 ตัวอย่างรายงานผลการตรวจสอบการคัดลอกข้อความของโปรแกรม Paperpass รูปแบบ PDF
รูปที่ 4 ตัวอย่างรายงานผลการตรวจสอบการคัดลอกข้อความของโปรแกรม Paperpass รูปแบบ HTML

แสดงผลค่าความคล้ายคลึงกันของข้อความ โดยแบ่งเป็น 3 สี
สีแดง หมายถึง ค่าความคล้ายคลึงเกิน 70 % ควรแก้ไขใหม่
สีส้ม / สีเหลือง หมายถึง ค่าความคล้ายคลึง 40–70 % มีความคล้ายคลึงระดับน้อยอาจแก้ไขบางส่วน
สีเขียว หมายถึง ผ่านมาตรฐาน

แหล่งสืบค้น
คู่มือประชาสัมพันธ์การใช้ระบบตรวจสอบข้อความคัดลอกผลงานทางวิชาการ AMLC
https://check.cnki.net/downloadfile/%E5%AD%A6%E6%9C%AF%E4%B8%8D%E7%AB%AF%E6%96%87%E7%8C%AE%E6%A3%80%E6%B5%8B%E7%B3%BB%E7%BB%9F%E5%AE%A3%E4%BC%A0%E5%86%8C.pdf
https://check.cnki.net/Article/about/2009/06/59.html
https://check.cnki.net/Article/about/2009/03/25.html

ดร.พิมพร วัฒนากมลกุล ผู้รวบรวมและเรียบเรียงข้อมูล
ศาสตราจารย์ ดร.จรัสศรี จิรภาส ผู้ตรวจความถูกต้องและคุณภาพรายงาน
โครงการส่งเสริมและเผยแพร่องค์ความรู้ด้านการศึกษาในสาธารณรัฐประชาชนจีน

สถานะวันที่ 18 มกราคม 2564