จับตาพัฒนาการของ “ม้าเหล็กความเร็วสูง” จ่อชายแดนกว่างซี-เวียดนาม

 

ไฮไลท์

  • เส้นทางรถไฟความเร็วสูงสาย “นครหนานหนิง-อำเภอระดับเมืองผิงเสียง” เป็น 1 ใน 2 โครงการรถไฟความเร็วสูงประชิดชายแดนเวียดนาม มีระยะทางรวม 200.82 กิโลเมตร วิ่งด้วยความเร็ว 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
  • การก่อสร้างแบ่งเป็น 2 ช่วงเส้นทาง โดยเส้นทางช่วงแรกระหว่างนครหนานหนิง-เมืองชายแดนฉงจั่ว คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ในปี 2565 ซึ่งจะช่วยร่นเวลาการเดินทางจากนครหนานหนิง 2 ชั่วโมง เหลือเพียง 30 นาที ขณะที่เส้นทางช่วงที่สองระหว่างเมืองฉงจั่ว – อำเภอระดับเมืองผิงเสียง เพิ่งเริ่มก่อสร้างไม่นาน คาดว่าจะก่อสร้างเสร็จและเปิดให้บริการได้ในปี 2568
  • นับเป็นกุศโลบายของรัฐบาลกว่างซีในการกรุยทางเพื่อรองรับการพัฒนาและเชื่อมระบบคมนาคมขนส่งทางรางกับเวียดนาม ผ่านกรุงฮานอย-เวียงจันทน์-กรุงเทพฯ-กัวลาลัมเปอร์-สิงคโปร์ในอนาคต และช่วยนำความเจริญสู่พื้นที่ชายแดนได้อีกด้วย และผู้ค้าไทยสามารถใช้ประโยชน์จากรถไฟความเร็วสูงนี้ได้เช่นกัน
  • ความเคลื่อนไหวที่กล่าวมา สะท้อนถึงความกระตือรือร้นของกว่างซีในการสร้างความเชื่อมโยงกับอาเซียนตามเจตนารมณ์ของรัฐบาลกลางที่กำหนดยุทธศาสตร์ให้กว่างซีเป็น Gateway to ASEAN ซึ่งกลไกดังกล่าวนับเป็นกุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของเขตฯ กว่างซีจ้วง และอาเซียนก็สามารถใช้ช่องทางดังกล่าวในการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนกับจีนได้เช่นกัน

 

การก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงที่จะวิ่งเชื่อมระหว่างนครหนานหนิง เมืองฉงจั่ว และไปสิ้นสุดที่อำเภอระดับเมืองผิงเสียง (ชายแดนติดจังหวัด Langson ของเวียดนาม) มีความคืบหน้าเป็นอย่างมาก การปูรางรถไฟในช่วงเส้นทางระหว่างนครหนานหนิง-เมืองฉงจั่วมีความคืบหน้าไปกว่าครึ่ง คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ในปี 2565

ปัจจุบัน เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง กำลังเร่งก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงไปถึงเมืองชายแดนติดประเทศเวียดนาม ซึ่งเป็นโครงการที่รัฐบาลมณฑลเป็นผู้ลงทุนเอง มีอยู่ 2 เส้นทาง คือ หนึ่ง เส้นทางใหม่นครหนานหนิง – ระดับเมืองผิงเสียง (ตรงข้ามจังหวัด Langson) และ สอง เส้นทางส่วนต่อขยายเมืองท่าฝางเฉิงก่าง – อำเภอระดับเมืองตงซิง (ตรงข้ามจังหวัด Mongcai)

https://www.sohu.com/a/346614764_441343

รู้จัก…เส้นทางรถไฟความเร็วสูงสาย นครหนานหนิง-อำเภอระดับเมืองผิงเสียง” เป็นโครงการที่รัฐบาลกว่างซีเป็นผู้ลงทุนเอง มีระยะทางรวม 200.82 กิโลเมตร วิ่งด้วยความเร็ว 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง การก่อสร้างแบ่งเป็น 2 ช่วงเส้นทาง คือ

  • เส้นทางช่วงแรก “นครหนานหนิง – เมืองฉงจั่ว มีระยะทาง 119 กิโลเมตร เริ่มก่อสร้างในปี 2561 คาดว่าจะก่อสร้างเสร็จและเปิดให้บริการได้ในปีหน้า (ปี 2565) ซึ่งจะช่วยร่นเวลาการเดินทางจาก 2 ชั่วโมง เหลือเพียง 30 นาที
  • เส้นทางช่วงที่ 2 “เมืองฉงจั่ว – อำเภอระดับเมืองผิงเสียง” มีระยะทาง12 กิโลเมตร  เพิ่งเริ่มก่อสร้างในปีนี้ (ปี 2564) คาดว่าจะก่อสร้างเสร็จและเปิดให้บริการได้ในปี 2568 ซึ่งจะช่วยร่นเวลาการเดินทางจาก 3 ชั่วโมง เหลือเพียง 1 ชั่วโมง

เมื่อโครงการรถไฟความเร็วสูงนี้แล้วเสร็จ จะช่วยพลิกโฉมการเดินทางระหว่างนครหนานหนิง-เมืองฉงจั่ว-อำเภอระดับเมืองผิงเสียง ให้เป็น “รถไฟความเร็วสูง” ตลอดเส้นทาง นับเป็นกุศโลบายของรัฐบาลกว่างซีในการกรุยทางเพื่อรองรับการพัฒนาและเชื่อมระบบคมนาคมขนส่งทางรางกับเวียดนาม ผ่านกรุงฮานอย-เวียงจันทน์-กรุงเทพฯ-กัวลาลัมเปอร์-สิงคโปร์ในอนาคต และช่วยนำความเจริญสู่พื้นที่ชายแดนได้อีกด้วย

ที่สำคัญ รถไฟความเร็วสูงสายนี้จะแวะจอดใน “ศูนย์การขนส่งภาคพื้นดิน” (Ground Transportation Centre – GTC) ซึ่งอยู่บริเวณชั้นใต้ดินของ “ท่าอากาศยานนานาชาติอู๋ซวีนครหนานหนิง” ซึ่งเป็นศูนย์กลางการจราจรสำหรับการให้บริการขนส่งสาธารณะทุกมิติ ทั้งรถไฟความเร็วสูง รถไฟฟ้าใต้ดิน เครื่องบิน และรถขนส่งสาธารณะ ช่วยให้ผู้โดยสารได้รับความสะดวกในการเดินทางด้วยยานพาหนะต่างๆ แบบไร้รอยต่อได้อย่างสมบูรณ์ (ช่วยร่นเวลาการเดินทางระหว่างตัวเมืองหนานหนิง – สนามบิน เหลือเพียง 15 นาที)

BIC ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า อำเภอระดับเมืองจิ้งซี (Jingxi City/靖西市) ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของเมืองไป่เซ่อ เป็นอีกเมืองชายแดนของกว่างซีที่มีพรมแดนติดกับจังหวัดกาวบั่ง (Cao Bang) ของเวียดนาม ก็กำลังพยายามผลักดันโครงการก่อสร้างรถไฟชิดชายแดนเวียดนาม ช่วงเส้นทางต่อขยาย “ตัวอำเภอระดับเมืองจิ้งซี – ตำบลชายแดนหลงปัง” ซึ่งเป็นที่ตั้งของด่านสากลหลงปัง (ติดกับด่าน Tra Linh ของเวียดนาม) และผลักดันโครงการก่อสร้างเส้นทางรถไฟเชื่อมระหว่างเมืองไป่เซ่อกับเมืองอันซุ่นของมณฑลกุ้ยโจว (สถานีหวงถ่ง/黄桶站) ซึ่งจะช่วยเชื่อมโครงข่ายรถไฟในจีนตะวันตกให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

ความเคลื่อนไหวที่กล่าวมา สะท้อนถึงความกระตือรือร้นของกว่างซีในการสร้างความเชื่อมโยงกับอาเซียนตามเจตนารมณ์ของรัฐบาลกลางที่กำหนดยุทธศาสตร์ให้กว่างซีเป็น Gateway to ASEAN ซึ่งกลไกดังกล่าวนับเป็นกุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของเขตฯ กว่างซีจ้วง และอาเซียนก็สามารถใช้ช่องทางดังกล่าวในการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนกับจีนได้เช่นกัน

นอกจากนี้ หากเวียดนามสามารถพัฒนารถไฟเส้นทางหลัก “กรุงฮานอย-นครโฮจิมินห์” และพัฒนาเส้นทางรถไฟจากกรุงฮานอยไปยังพื้นที่ตอนเหนือของเวียดนามได้ ก็จะช่วยให้การส่งผู้โดยสารและสินค้านำเข้า/ส่งออกระหว่างสองพื้นที่เกิดความสะดวกรวดเร็ว ซึ่งผู้ค้าไทยก็อาจจะสามารถใช้ประโยชน์จากเส้นทางรถไฟดังกล่าวได้ด้วย

 

 

จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา  เว็บไซต์
http://gx.news.cn (广西新闻网) วันที่ 12 ธันวาคม 2564
เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com.cn (
中新社广西) วันที่ 09 ธันวาคม 2564
        เว็บไซต์ www.people.com.cn/ (人民网) วันที่ 23 พฤศจิกายน 2564

ที่มา : https://thaibizchina.com/

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]