เพ็ญพิสุทธิ์ สีกาแก้ว (จี)
อาจารย์ประจำวิทยาลัยนานาชาติจีน-อาเซียน มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์และเป็นอาจารย์พิเศษชาวต่างชาติวิทยาลัยภาษาต่างประเทศมหาวิทยาลัยปักกิ่งประจำภาคการศึกษาที่ 1/2021 (กันยายน 2563 – มกราคม 2564)
ปริญญาเอก – คติชนวิทยา มหาวิทยาลัย East China Normal University
ปริญญาโท – คติชนวิทยา มหาวิทยาลัย East China Normal University
ปริญญาตรี – ภาษาจีน คณะศิลปศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

ผู้ก่อตั้งกลุ่ม “Thai Ph.D. in China”
บ้านหลังใหญ่สำหรับครอบครัวปริญญาเอกในจีน

รู้จักสาขา “คติชนวิทยา”

คติชนวิทยา คือ การศึกษาเกี่ยวกับคติความคิด ความเชื่อ วัฒนธรรมประเพณีของชนกลุ่มต่าง ๆ โดยใช้แนวคิดและทฤษฎีทางด้านคติชนวิทยามาศึกษาข้อมูลเหล่านั้น การเรียนคติชนในประเทศจีน หลายคนอาจเข้าใจว่า เรียนคติชนที่จีนต้องเชี่ยวชาญเรื่องเกี่ยวกับวัฒนธรรมจีนทุกศาสตร์ทุกแขนง ที่จริงแล้วไม่ใช่แบบนั้น เพราะเรานำเอาทฤษฎีและแนวความคิดทางด้านคติชนวิทยาซึ่งมีลักษณะเป็นสากล มาจับกับข้อมูลด้านคติชนของกลุ่มต่าง ๆ แน่นอนว่าการเรียนในประเทศจีน เวลาพูดถึงข้อมูลคติชน เวลาที่อาจารย์ยกตัวอย่างหรือนำมาเป็นกรณีศึกษา ย่อมหลีกไม่พ้นการใช้ชุดข้อมูลคติชนของจีนมาอธิบาย แต่ขณะเดียวกันก็เปิดกว้างให้หยิบยกกรณีศึกษาจากข้อมูลทางคติชนของบ้านเราไปใช้อภิปรายในชั้นเรียนด้วย  

ชีวิตในห้องเรียน

ระหว่างเรียน ได้ลงพื้นที่ไปยังแหล่งต่าง ๆ ในเมืองเซี่ยงไฮ้และมณฑลเจ้อเจียงกับอาจารย์ที่ปรึกษาและรุ่นพี่รุ่นน้องที่เรียนด้วยกัน ซึ่งทุกการเดินทาง ทุกแดดทุกฝน ทุกบทบันทึกและสัมภาษณ์ล้วนเป็นประสบการณ์ตรงที่อาจารย์สอนให้เรารู้ว่า เวลาลงพื้นที่ต้องเก็บข้อมูลอย่างไร มีกระบวนการสังเกตอย่างไร เทคนิคการสัมภาษณ์รวมถึงการสืบค้นข้อมูลต่าง ๆ เป็นต้น

สิ่งที่ประทับใจในการเรียนคติชนวิทยาที่นี่ก็คือ เราในฐานะนักศึกษาต่างชาติหรืออาจเรียกได้ว่าเป็นทั้งนักศึกษาและผู้สังเกตการณ์ ได้เห็นบทบาทของนักวิชาการที่มีต่อการพัฒนาประเทศผ่านการลงพื้นที่และทำงานวิจัยอย่างแท้จริง ปัจจุบันเราจะเห็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอย่างหมู่บ้านโบราณตามเมืองหรือมณฑลต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมาย ซึ่งก่อนที่หมู่บ้านเหล่านี้จะได้รับการพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว เขาต้องผ่านการทำสัมมนา ประชุมวิชาการ ต้องประสานงานระหว่างนักวิชาการ ชาวบ้านในพื้นที่และรัฐบาลท้องถิ่นกันหลายครั้งหลายหน เพื่อประสานประโยชน์ให้ทั้งท้องที่ ชุมชนและชาวบ้าน และพยายามรักษาวิถีชีวิตของชาวบ้านในพื้นที่ให้ใกล้เคียงกับรูปแบบเดิมมากที่สุด   

ก่อนจบคอร์สเวิร์ค ได้ไปลงคอร์สระยะสั้นเกี่ยวกับประวัติและพัฒนาการด้านคติชนวิทยาที่ Fudan University เป็นการบรรยายโดยนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านคติชนวิทยาประจำ CASS และศาสตราจารย์ด้านคติชนวิทยาอีกสองท่าน ซึ่งคอร์สระยะสั้นนี้ได้ปูพื้นฐานความคิดเกี่ยวกับพัฒนาการทางคติชนวิทยาให้กับตัวเอง และทำให้ค้นพบว่าตัวเองชอบศึกษาเรื่องแนวคิดและทฤษฎี เพราะมันเป็นสากล มันเหมือนกรอบแว่นที่เราไว้ใช้มอง ใช้อ่านหรือวิเคราะห์ข้อมูลชุดต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นของชาติพันธุ์หรือวัฒนธรรมไหน ๆ

ตำนานข้าว ทฤษฎีความทรงจำวัฒนธรรม วิทยานิพนธ์ปริญญาเอก

ตัดสินใจทำเรื่องเกี่ยวกับทฤษฎีความทรงจำวัฒนธรรม โดยใช้ตำนานข้าวมาเป็นกรณีศึกษา เพื่อนำมาศึกษา วิเคราะห์และดูพัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงของวัฒนธรรม ซึ่งมีหน่วยย่อยที่สุดก็คือ “คน” หรือผู้สืบทอดวัฒนธรรม กำหนดสร้างอัตลักษณ์ ความเชื่อ และอื่น ๆ จากกลุ่มชน สู่สังคม สู่การกลายเป็นอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชาติ จนเป็นแบบแผนไว้ให้ชนรุ่นหลัง ดังนั้นหาก “คน” ซึ่งเป็นหน่วยย่อยที่สุดในกระบวนการการสืบทอดเปลี่ยนพฤติกรรม เลิกยึดถือ ปฏิบัติหรือสืบต่อความเชื่อดั้งเดิมที่ส่งต่อกันมา รูปแบบหรือแบบแผนของวัฒนธรรมก็จะเปลี่ยนไปด้วย

Thai Ph.D. in China นอกห้องเรียนปริญญาเอก

ระหว่างที่เรียนปริญญาเอกก็ทำกิจกรรมหลากหลาย เช่น เป็นอาจารย์สอนภาษาไทยให้กลุ่มอาสาสมัครฮั่นปั้นตั้งแต่สมัยเรียนปริญญาโท หรือเป็นประธานนักเรียนไทยในเซี่ยงไฮ้ รุ่นที่ 7 แต่มีกิจกรรมหนึ่งที่ค่อนข้างเกินความคาดหมายของตัวเองพอสมควร คือ การตั้งกลุ่ม Thai Ph.D. in China เพื่อเป็นพื้นที่สำหรับติดต่อและแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร เรื่องราวต่าง ๆ สำหรับผู้ที่เรียนปริญญาเอกในประเทศจีน ซึ่งภายหลังได้พัฒนาจากกลุ่มแชทเล็ก ๆ มาเป็นเพจเฟซบุ๊ก Thai Ph.D. in China และมี WordPress สำหรับลงข้อเขียนต่าง ๆ รวมถึงคอลัมน์ “ชีวิต Ph.D. ในแดนมังกร” ที่ทำให้เราได้พัฒนาทักษะของนักคติชน ก็คือ การไปสัมภาษณ์พี่ ๆ น้อง ๆ ชาวไทยที่กำลังเรียนปริญญาเอกในหลากหลายสาขา ซึ่งปัจจุบันหลายท่านจบการศึกษาและกลับมาทำงานในมหาวิทยาลัย องค์กร และสถาบันวิจัยต่าง ๆ ในประเทศไทย

เพจ Thai Ph.D. in China  จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากไม่ได้รับความช่วยเหลือและคำแนะนำตลอดระยะเวลาจาก ปอ แอดมินเพจอ้ายจง และ พี่ป่าน ที่กลับไทยมาเป็นอาจารย์ประจำในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ผู้ร่วมก่อตั้งและเป็นที่ปรึกษาตลอดระยะเวลาที่ทำเพจ รวมถึงทีมงานแอดมินที่คอยตอบคำถาม สื่อสารและประสานงานในกรุ๊ปแชท รวมถึงอาจารย์ที่ปรึกษากลุ่ม ศ.ดร. จรัสศรี จิรภาส จากมหาวิทยาลัยภาษาต่างประเทศปักกิ่ง ผู้ซึ่งทำให้เพจเป็นมากกว่าพื้นที่กระจายข้อมูลข่าวสารและการสื่อสารทั่วไป และตอนนี้เนื้อหาคอลัมน์ก็ได้ส่งมอบไว้ให้ทางฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง และเพจเฟซบุ้ค “วิทย์ไมตรีไทย-จีน” ช่วยดูแลต่อเป็นที่เรียบร้อย