EHang เปิดตัวศูนย์ประสบการณ์การเคลื่อนย้ายทางอากาศอัจฉริยะ 5G

 EPA/Christian Bruna

เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2564 บริษัท EHang Holdings จำกัดร่วมกับบริษัท Guangzhou Development District Communications Investment Group จำกัด เปิดตัวศูนย์ประสบการณ์การเคลื่อนย้ายทางอากาศอัจฉริยะ 5G (5G Intelligent Air Mobility Experience Center) ที่เขตหวงผู่ นครกว่างโจว โดยศูนย์ประสบการณ์การเคลื่อนย้ายทางอากาศอัจฉริยะ 5G มีวัตถุประสงค์สำคัญในการส่งเสริมการบินในเขตเมืองในจีนตอนใต้ โดยจะเป็นศูนย์ที่ใช้เพื่อการวางแผน ประเมินและทดสอบการบินรับส่งผู้โดยสารและการขนส่งสินค้าด้วยโดรนอัจฉริยะไร้คนขับ

โดยศูนย์แห่งนี้ยังออกแบบให้เป็นฐานการทดสอบและควบคุมการบินที่ประกอบด้วยอุปกรณ์และเทคโนโลยีพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับโดรนขับเคลื่อนไร้คนขับของบริษัท EHang ประกอบด้วย (1) ลานจอดโดรนบนดาดฟ้า (rooftop vertiport) (2) อุปกรณ์อัดประจุไฟฟ้าสำหรับโดรน (3) ศูนย์ซ่อมบำรุง และ (4) อุปกรณ์รับส่งสัญญาณ 5G สำหรับระบบอากาศยานที่สามารถขึ้นลงในแนวดิ่งด้วยพลังงานไฟฟ้า (electric vertical take-off and landing)

นอกจากนี้ เมื่อเดือนกันยายน 2564 บริษัท EHang ร่วมกับบริษัท HELI-EASTERN ซึ่งเป็นบริษัทผู้ให้บริการอากาศยานบินต่ำ (low-altitude general aviation) และเฮลิคอปเตอร์ที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองเซินเจิ้น โดย HELI-EASTERN ยังเป็นบริษัทที่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานบริหารการบินพลเรือนของจีน Civil Aviation Administration of China และรัฐบาลเซินเจิ้นในการพัฒนา ทดสอบ และปฏิรูปอากาศยานบินต่ำในจีน โดยบริษัท EHang และบริษัท HELI-EASTERN ได้ลงนามข้อตกลงในการพัฒนาอากาศยานบินต่ำด้วยโดรนขับเคลื่อนไร้คนขับสำหรับเมืองเซินเจิ้น

อนึ่ง บริษัท EHang ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2557 โดยนายหู หัวจื้อ (Hu Huazhi) และนายสง อี้ฟั่ง (Song Yifang) มีสำนักงานใหญ่ โรงงานฐานการผลิต และพื้นที่ทดลองทำการบินอยู่ที่นครกว่างโจว โดยเมื่อปี 2562 จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ NASDAQ บริษัท EHang ผลิตโดรนสำหรับรับส่งผู้โดยสารแห่งแรกของจีน อย่างไรก็ดี บริษัท EHang ยังผลิตโดรนโดยแบ่งตามประเภทการใช้งาน ได้แก่ (1) โดรนสำหรับขนส่งผู้โดยสาร (Passenger Transportation) รุ่น 216 (2) โดรนสำหรับขนส่งสินค้า รุ่น EHang 216L รุ่น Falcon และรุ่น GD2.0X  (3) โดรนสำหรับสมาร์ทซิตี้ (Smart City Management) และ (4) โดรนสำหรับการแสดง (Aerial Media)

อุตสาหกรรมโดรนของมณฑลกวางตุ้งมีความก้าวหน้าและมีมาตรฐานในระดับโลก ภาคเอกชนไทยสามารถใช้เทคโนโลยีโดรนเพื่อยกระดับการขนส่งสินค้าทางอากาศในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในไทย โดยเฉพาะ อุตสาหกรรมเกษตร อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการบริการ และการบรรเทาภัยพิบัติ อย่างไรก็ดี มีประเด็นกฏระเบียบที่เกี่ยวข้องที่ต้องพิจารณา

 

แหล่งที่มาของข้อมูล
https://www.chinadaily.com.cn/a/202112/30/WS61cd771fa310cdd39bc7e5f8.html
https://www.ehang.com/news/844.html
https://futureflight.aero/news-article/2021-12-29/5g-communications-center-guangzhou-boosts-air-mobility-plans-china
https://www.ehang.com/news/813.htmlb

ที่มา : https://thaibizchina.com/

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]