เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2565  คณะกรรมการการเคหะและการพัฒนาเมือง-ชนบทนครฉงชิ่ง ได้ออกประกาศ “แผนการระบายน้ำทิ้ง (น้ำเสีย น้ำฝน) และการก่อสร้างโครงข่ายท่อระบายน้ำทิ้งในนครฉงชิ่ง ระยะ 5 ปีฉบับที่ 14”  ชี้แจงข้อกำหนดสำหรับการระบายน้ำและบำบัดน้ำเสียในนครฉงชิ่ง โดยมีเป้าหมายและแผนงานซึ่งจะดำเนินการให้สำเร็จภายในปี 2568 ดังนี้

  1. บำบัดน้ำเสียเพิ่มขึ้น 2 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน ซึ่งจะสามารถบำบัดน้ำเสียจากครัวเรือนในตัวเมืองนครฉงชิ่งได้ร้อยละ 98 และสามารถบำบัดน้ำเสียจากครัวเรือนในเขตชนบทได้ร้อยละ 85 คุณภาพน้ำที่ผ่านการบำบัดจะต้องไม่ต่ำกว่าเกรด A
  2. สร้างและปรับปรุงระบบท่อบำบัดน้ำเสียในเมืองความยาวกว่า 5,500 กิโลเมตร คาดว่าจะสามารถรวบรวมน้ำเสียในนครฉงชิ่งเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 73
  3. รีไซเคิลน้ำเสียเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ 890,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน และอัตราการรีไซเคิลจะต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 15 โดยอัตราการรีไซเคิลน้ำเสียในตัวเมืองและในพื้นที่ขาดแคลนน้ำ จะต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 และร้อยละ 25 ตามลำดับ
  4. ไม่มีแหล่งน้ำท่วมขังซึ่งส่งผลกระทบร้ายแรงต่อการผลิตและการดำรงชีวิตของประชาชน ปรับปรุงระบบการจัดการการระบายน้ำอัจฉริยะ ระบบจัดเก็บข้อมูลทางภูมิศาสตร์ของเครือข่ายท่อระบายน้ำ รวมถึงปรับปรุงประสิทธิภาพการตรวจสอบโรงงานบำบัดน้ำเสียและระบบระบายน้ำเสีย

ปัจจุบัน นครฉงชิ่งมีโรงงานบำบัดน้ำเสียทั้งหมด 82 แห่ง สามารถบำบัดน้ำเสีย 4.8675 ล้านตันต่อวัน ซึ่งผ่านมาตรฐานการระบายน้ำระดับ A มีเครือข่ายท่อระบายน้ำในเมืองระยะทาง 25,800 กิโลเมตร และความหนาแน่นของโครงข่ายท่อระบายน้ำเฉลี่ย 13.87 กิโลเมตรต่อพื้นที่ 1 ตารางกิโลเมตร ปัจจุบันสามารถบำบัดน้ำเสียจากครัวเรือนในตัวเมืองและในชนบทได้ร้อยละ 96 และร้อยละ 85 ตามลำดับ

ปัญหาน้ำเน่าเสียเป็นปัญหาที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นตามระดับการพัฒนาชุมชนและการพัฒนาประเทศที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่ชุมชนแออัดและพื้นที่อุตสาหกรรม ก่อมลพิษทางกลิ่นและทางอากาศ ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชนในระยะยาว แต่ยังส่งผลต่อภาพลักษณ์ของประเทศในสายตาของนักท่องเที่ยว นักลงทุนต่างชาติ เป็นปัญหาที่เราทุกคนต้องให้ความสนใจ และช่วยกันแก้ไข โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยอาจพิจารณาเปลี่ยนแปลงระบบบำบัดน้ำเสียให้เป็นระบบปิด เช่น ท่อระบายน้ำเสียที่ส่งตรงเข้าสู่โรงงานบำบัดน้ำเสีย จัดสรรพื้นที่ให้กับจุดบำบัดน้ำเสียให้ห่างไกลชุมชน รวมถึงให้สิทธิประโยชน์เพื่อเป็นแรงจูงใจสนับสนุนให้ภาคเอกชนและประชาชนให้ความสำคัญและตระหนักในการบำบัดน้ำเสียมากขึ้น ฯลฯ ภาคเอกชน ควรรับผิดชอบกับน้ำเสียที่เกิดจากอุตสาหกรรมของตน รวมถึงสนับสนุนการวิจัยค้นคว้า ทำความร่วมมือหรือนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบำบัดน้ำเสียให้ดียิ่งขึ้น เป็นแบบอย่างของธุรกิจที่รับผิดชอบต่อสังคมและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สำหรับภาคประชาชน ควรให้ความใส่ใจ ช่วยกันเป็นหูเป็นตา สอดส่องดูแล ไม่ทิ้งขยะ เศษอาหารหรือซักผ้าในแม่น้ำลำคลอง รวมถึงลดกิจกรรมที่ทำให้เกิดปัญหาน้ำเน่าเสีย ร่วมกันสร้างสรรค์ประเทศไทยให้น่าอยู่ ทุกภาคส่วนจึงมีส่วนร่วมอย่างสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาเศรษฐกิจให้เข้มแข็ง ควบคู่กับกับการสร้างสรรค์สังคมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและมีความยั่งยืน

 

แหล่งข้อมูลอ้างอิง : เว็บไซต์สำนักข่าว The Paper New (เข้าถึงครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565)

https://m.thepaper.cn/newsDetail_forward_16798693

ที่มา : https://thaibizchina.com/