• คลังความรู้
  • /
  • บทความ
  • /
  • ยูนนานเปิดแผน 3 ปี เร่งใช้ประโยชน์รถไฟจีน-ลาวและพื้นที่รายทาง – ศูนย์บริการข้อมูลธุรกิจไทยในจีน (Thailand Business Information Center in China)

ยูนนานเปิดแผน 3 ปี เร่งใช้ประโยชน์รถไฟจีน-ลาวและพื้นที่รายทาง – ศูนย์บริการข้อมูลธุรกิจไทยในจีน (Thailand Business Information Center in China)

ภายหลังรถไฟจีน-ลาวเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2564 ล่าสุด เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 พรรคคอมมิวนิสต์จีนประจำมณฑลยูนนานและรัฐบาลมณฑลยูนนานได้ออกประกาศ “แผนปฏิบัติการระยะ 3 ปีในการบำรุงรักษาและดำเนินงานรถไฟจีน-ลาว รวมถึงการพัฒนาและก่อสร้างตามแนวรถไฟจีน-ลาว ตามข้อสั่งการของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง” โดยได้กำหนดเป้าหมาย ภารกิจและมาตรการรองรับ สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2565 ขบวนรถไฟ “ล้านช้าง-แม่โขงเอ็กซ์เพรส” ซึ่งเป็นขบวนรถไฟขนส่งสินค้าผ่านเส้นทางรถไฟจีน-ลาวระหว่างนครคุนหมิงกับนครหลวงเวียงจันทน์ที่กำหนดตารางเวลาแน่นอนขบวนแรกเดินทางออกจากสถานีรถไฟขนส่งสินค้าหวังเจียหยิง นครคุนหมิง ไปยังนครหลวงเวียงจันทน์ สปป. ลาว

  1. เป้าหมาย

– ใช้เวลา 3 ปี (2565-2567) ดำเนินโครงการก่อสร้างตามแนวเส้นทางรถไฟจีน-ลาว ได้แก่ สถานีรถไฟและเส้นทางรถไฟพิเศษ โครงสร้างพื้นฐานของด่านชายแดน และสิ่งอำนวยความสะดวกในการตรวจปล่อย เป็นต้น รวมทั้งยกระดับความสะดวกและความเป็นอัจฉริยะในการตรวจปล่อย การเพิ่มขีดความสามารถในการขนส่งผู้โดยสารและสินค้า การให้บริการขบวนรถไฟขนส่งสินค้าจีน-ลาวที่กำหนดตารางเวลาแน่นอน เพื่อ “สร้างแบรนด์” ให้กับขบวนรถไฟขนส่งสินค้าจีน-ลาว

– สร้างเขตโลจิสติกส์รถไฟตามแนวเส้นทางรถไฟจีน-ลาว ได้แก่ นครคุนหมิง เมืองยวี่ซี เมืองผูเอ่อร์ และเขตฯ สิบสองปันนา เป็นต้น เร่งพัฒนาโลจิสติกส์แบบควบคุมอุณหภูมิ (cold-chain) โลจิสติกส์หลากหลายรูปแบบ และโลจิสติกส์อัจฉริยะ เพิ่มขีดความสามารถในการกระจายสินค้าและลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ เพื่อเป็น “ศูนย์กลาง” ขบวนรถไฟขนส่งสินค้าระดับภูมิภาค

– เร่งพัฒนากิจกรรมความร่วมมือทางเศรษฐกิจข้ามแดนตามแนวเส้นทางรถไฟจีน-ลาว เช่น การเกษตรข้ามแดน โลจิสติกส์ข้ามแดน การท่องเที่ยวข้ามแดน พลังงานข้ามแดน อีคอมเมิร์ซข้ามแดน และการเงินข้ามแดน เป็นต้น เสริมสร้าง
ความร่วมมือด้านกำลังการผลิตระหว่างประเทศอย่างรอบด้าน รวมทั้งเร่งพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อเปิดกว้างตามแนวเส้นทางรถไฟจีน-ลาว ได้แก่ เขตการค้าเสรีนำร่องจีน (มณฑลยูนนาน) เขตสินค้าทัณฑ์บนนครคุนหมิง เขตความร่วมมือทางเศรษฐกิจจีน (โม่ฮาน)-ลาว (บ่อเต็น) เขตนำร่องเพื่อการพัฒนาและเปิดกว้างเหมิ่งล่า (โม่ฮาน) และเขตพัฒนาไซเสดถานครหลวงเวียงจันทน์ เพื่อ “เพิ่มมูลค่านำเข้า-ส่งออก” ของเมืองและเขตปกครองตนเองในมณฑลยูนนานตามแนวเส้นทางรถไฟจีน-ลาว

– เพิ่มพลวัตและแรงขับเคลื่อนขององค์กรธุรกิจทุกประเภทตามแนวเส้นทางรถไฟจีน-ลาว เพิ่มประสิทธิภาพของสภาพแวดล้อมทางธุรกิจให้มีความเป็นระบบตลาด อ้างอิงกฎหมาย และเป็นนานาชาติอย่างต่อเนื่อง เพื่อ “เพิ่มจำนวน ขนาด พลวัต และศักยภาพขององค์กรธุรกิจในตลาด” ของเมืองและเขตปกครองตนเองในมณฑลยูนนานตามแนวเส้นทางรถไฟจีน-ลาว

– ปี 2565 มีผู้โดยสารมากกว่า 4.5 ล้านคน มีปริมาณการขนส่งสินค้าข้ามแดนมากกว่า 1.6 ล้านตัน แบ่งเป็นการนำเข้ามากกว่า 1 ล้านตัน และการส่งออกมากกว่า 6 แสนตัน ปี 2566 มีผู้โดยสารมากกว่า 7 ล้านคน มีปริมาณการขนส่งสินค้าข้ามแดนมากกว่า 2.4 ล้านตัน แบ่งเป็นการนำเข้ามากกว่า 1.4 ล้านตัน และการส่งออกมากกว่า 1 ล้านตัน และปี 2567
มีผู้โดยสารมากกว่า 9 ล้านคน มีปริมาณการขนส่งสินค้าข้ามแดนมากกว่า 3.4 ล้านตัน แบ่งเป็นการนำเข้ามากกว่า 1.9 ล้านตัน และการส่งออกมากกว่า 1.5 ล้านตัน

  1. ภารกิจ

     2.1   ปฏิบัติการเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของเส้นทางรถไฟจีน-ลาว

– เร่งก่อสร้างเส้นทางรถไฟจีน-ลาว-ไทย รวมทั้งผลักดันผ่านหน่วยงานระดับประเทศในด้านการเชื่อมต่อระหว่างเส้นทางรถไฟจีน-ลาวกับเส้นทางรถไฟในไทย เร่งก่อสร้างสถานีศูนย์ขนถ่ายสินค้าระหว่างรางมาตรฐานกับรางหนึ่งเมตร
ในนครหลวงเวียงจันทน์ เร่งการเริ่มก่อสร้างเส้นทางเชื่อมโยงระหว่างท่านาแล้งในนครหลวงเวียงจันทน์กับหนองคายในไทย ให้ความร่วมมือและสนับสนุนหน่วยงานระดับประเทศในด้านการก่อสร้างเส้นทางรถไฟไทย-จีน เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระบบรางผ่านเส้นทางรถไฟจีน-ลาว-ไทยอย่างราบรื่นโดยเร็วที่สุด

– เร่งก่อสร้างเส้นทางรถไฟระหว่างมณฑลเพื่อเชื่อมโยงกับมณฑลโดยรอบ เร่งการเริ่มก่อสร้าง “เส้นทางรถไฟชายแดน” ช่วงภายในมณฑลยูนนานตามแนวชายแดนเมียนมา-ลาว-เวียดนาม ต้นทางจากตำบลโหวเฉียว อำเภอ (ระดับเมือง) เถิงชง เมืองเป่าซาน (ชายแดนยูนนาน-เมียนมา) ไปยังเมืองฝางเฉิงก่าง เขตฯ กว่างซี ก่อสร้างเส้นทางโลจิสติกส์เชื่อมโยงมณฑลยูนนานกับเขตเศรษฐกิจอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า เขตเศรษฐกิจลุ่มแม่น้ำแยงซี และเขตเศรษฐกิจลุ่มแม่น้ำจูเจียง เร่งก่อสร้างเส้นทางรถไฟคุนหมิง-ฉงชิ่ง เริ่มก่อสร้างเส้นทางรถไฟต้าหลี่-ลี่เจียง-พานจือฮัว (มณฑลเสฉวน) เร่งขยายขีดความสามารถของท่าเรือสุ่ยฟู่ก่างบนแม่น้ำจินซา-แม่น้ำแยงซีซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อมณฑลยูนนาน-มณฑลเสฉวน-นครฉงชิ่ง และมีเส้นทางรถไฟคุนหมิง-เน่ยเจียง (มณฑลเสฉวน) ตัดผ่าน เพื่อให้มณฑลยูนนานเชื่อมเป็นส่วนหนึ่งของระเบียงเศรษฐกิจแม่น้ำแยงซีและวงกลมเศรษฐกิจเฉิงตู-ฉงชิ่ง

– เร่งก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของด่านชายแดน ดำเนินโครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานของด่านชายแดนทางบก ขออนุมัติรัฐบาลจีนให้นครคุนหมิงเป็นเมืองชุมทางขบวนรถไฟขนส่งสินค้าระหว่างประเทศรวมถึงให้บรรจุสถานีตู้คอนเทนเนอร์รถไฟหวังเจียหยิงตะวันตก นครคุนหมิง ในระบบบริหารจัดการสถานีรถไฟขนส่งสินค้าระหว่างพื้นที่ตอนในของจีน เร่งผลักดันการก่อสร้างพื้นที่กักกันทางศุลกากรหวังเจียหยิง นครคุนหมิง รวมทั้งเร่งผลักดันการก่อสร้างพื้นที่กักกันทางศุลกากรสำหรับสินค้าจำเพาะที่ด่านรถไฟโม่ฮาน เช่น ผลไม้ และธัญพืช เร่งก่อสร้างรั้วกั้นเขตความร่วมมือทางเศรษฐกิจจีน (โม่ฮาน)-ลาว (บ่อเต็น) สนับสนุนให้เขตฯ สิบสองปันนายื่นขออนุมัติเขตสินค้าทัณฑ์บน ผลักดันการก่อสร้างคลังสินค้าทัณฑ์บน (ศูนย์โลจิสติกส์ทัณฑ์บน) ที่เมืองยวี่ซีและเมืองผูเอ่อร์

– ผลักดันการก่อสร้างสถานีรถไฟและเส้นทางรถไฟพิเศษเพื่อเชื่อมเส้นทางรถไฟจีน-ลาวกับนิคมอุตสาหกรรมในเมืองยวี่ซี เมืองผูเอ่อร์ และเขตฯ สิบสองปันนา รวมทั้งเร่งก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับการขนส่งสินค้าภายในสถานีรถไฟตามแนวเส้นทางรถไฟจีน-ลาว

– เร่งส่งเสริม “ระบบตรวจปล่อยอัจฉริยะ” ของด่านชายแดนทางบก ยกระดับมาตรฐานระบบสารสนเทศ ผลักดันการก่อสร้างด่านชายแดนดิจิทัลและติดตั้งระบบชั่งน้ำหนักบนรางรถไฟตามเส้นทางรถไฟจีน-ลาวช่วงภายในลาว ยกระดับสิ่งอำนวยความสะดวกในการตรวจสอบสินค้าและพัฒนาแพลตฟอร์มสารสนเทศอัจฉริยะของด่านรถไฟโม่ฮาน เร่งพัฒนาระบบ “single window” รวมถึงแพลตฟอร์มบริหารจัดการด่านและข้อมูลการค้าชายแดนร่วมกัน

     2.2   ปฏิบัติการสร้างชุมทางโลจิสติกส์เพื่อเพิ่มคุณภาพการดำเนินงานของเส้นทางรถไฟจีน-ลาว

– เร่งก่อสร้างชุมทางโลจิสติกส์ตามแนวเส้นทางรถไฟจีน-ลาว ได้แก่ นครคุนหมิง เมืองยวี่ซี เมืองผูเอ่อร์ อำเภอ (ระดับเมือง) จิ่งหง และตำบลโม่ฮาน รวมถึงเร่งการเชื่อมโยงชุมทางโลจิสติกส์ข้างต้นเข้ากับชุมทางโลจิสติกส์ทางบก-ทะเลในภาคตะวันกก เช่น เขตฯ กว่างซี นครฉงชิ่ง และนครเฉิงตู

– เร่งก่อสร้างศูนย์กระจายสินค้าตามแนวเส้นทางรถไฟจีน-ลาว ครอบคลุมประเภทสินค้า เช่น เหล็กกล้า โลหะมีสี วัสดุก่อสร้าง เครื่องจักรและเครื่องใช้ไฟฟ้า กาแฟ ยางพารา ไม้ ชา ธัญพืชและน้ำมันพืช อาหาร ผัก ผลไม้ ดอกไม้ โคเนื้อและแกะ

– เร่งพัฒนาระบบโลจิสติกส์แบบควบคุมอุณหภูมิ โดยเร่งก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกที่เกี่ยวข้องในนิคมอุตสากรรมและชุมทางโลจิสติกส์ตามแนวเส้นทางรถไฟจีน-ลาว เช่น อำเภอ (ระดับเมือง) อานหนิง เมืองยวี่ซี เมืองผูเอ่อร์ และเขตฯ สิบสองปันนา เร่งส่งเสริมขบวนรถไฟตู้คอนเทนเนอร์ควบคุมอุณหภูมิและการเชื่อมต่อแบบไร้รอยต่อระหว่างการขนส่งทางถนนกับระบบราง

– พัฒนาระบบการขนส่งหลากหลายรูปแบบ “ราง-ถนน-อากาศ-น้ำ” โดยก่อสร้างเส้นทางเชื่อมระหว่างสถานีรถไฟขนส่งสินค้ากับทางด่วน เร่งดำเนินงานโครงการขยายท่าอากาศยานนานาชาติฉางสุ่ย นครคุนหมิง กับท่าอากาศยานเขตฯ สิบสองปันนา เร่งดำเนินโครงการขยายศักยภาพท่าเรือกวนเหล่ยและก่อสร้างทางด่วนกวนเหล่ย-เหมิ่งล่า รวมถึงการเชื่อมโยงระหว่างการขนส่งบนแม่น้ำโขงกับเส้นทางรถไฟจีน-ลาว

– ส่งเสริมการก่อสร้างคลังสินค้าในหัวเมืองหลักและเมืองท่าสำคัญในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อกระตุ้นให้ผู้ประกอบการโลจิสติกส์และผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซของจีน “ก้าวออกไป”

     2.3   ปฏิบัติการพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อเพิ่มศักยภาพอุตสาหกรรมตามแนวเส้นทางรถไฟจีน-ลาว

– ส่งเสริมให้อุตสาหกรรมการเกษตรของมณฑลยูนนาน “ก้าวออกไป” โดยเน้นอุตสากรรมปศุสัตว์และปลูกพืชทดแทน ได้แก่ โคเนื้อและแกะ ธัญพืช ยางพารา ถั่วเหลือง ผลไม้ สัตว์น้ำ มันสำปะหลัง และอาหารสัตว์ เป็นต้น ในพื้นที่หลัก 3 แห่ง ได้แก่ เวียงจันทน์ โม่ฮาน-บ่อเต็น และยวี่ซี พร้อมด้วยพื้นที่รองตามแนวเส้นทางรถไฟจีน-ลาว

– ส่งเสริมการท่องเที่ยวข้ามแดน เช่น กำหนดช่องทางพิเศษสำหรับนักท่องเที่ยวแบบหมู่คณะทั้งขาเข้า-ขาออกที่ด่านรถไฟโม่ฮาน ขออนุมัติให้ด่านรถไฟโม่ฮานสามารถให้บริการตรวจลงตราสำหรับนักท่องเที่ยวแบบหมู่คณะ รวมถึงขออนุมัติขยายขอบเขตโครงการ “วีซ่า 144 ชั่วโมง” ของท่าอากาศยานนานาชาติฉางสุ่ย นครคุนหมิง ให้ครอบคลุมท่าอากาศยานเขตฯ สิบสองปันนาและด่านรถไฟโม่ฮาน

– ส่งเสริมอีคอมเมิร์ซข้ามแดน โดยพัฒนาระบบ “ขบวนรถไฟขนส่งสินค้าจีน-ลาว + อีคอมเมิร์ซข้ามแดน” สร้างศูนย์ไลฟ์สตรีมมิ่งอีคอมเมิร์ซข้ามแดนในลาวและไทยเพื่อประชาสัมพันธ์และจำหน่ายสินค้าเกษตร รวมถึงสินค้าที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ

– ส่งเสริมการเงินข้ามแดน โดยกระตุ้นให้ธนาคารพาณิชย์ให้บริการทางการเงินระหว่างเงินสกุลหยวนกับเงินสกุลของประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงอำนวยความสะดวกในด้านการชำระเงินข้ามแดนเป็นสกุลหยวน

– ส่งเสริมการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมตามแนวเส้นทางรถไฟจีน-ลาว

– ส่งเสริมความร่วมมือด้านกำลังการผลิตในอุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตร สิ่งทอ วัสดุก่อสร้าง อะไหล่ยานยนต์และเครื่องจักรกล เป็นต้น รวมทั้งความร่วมมือด้านพลังงาน เช่น เครือข่ายสายส่งกระแสไฟฟ้าและโรงกลั่นน้ำมันในลาว

     2.4   ปฏิบัติการบ่มเพาะองค์กรธุรกิจเพื่อเป็นแรงสนับสนุนการพัฒนาตามแนวเส้นทางรถไฟจีน-ลาว

– ใช้ประสบการณ์จากขบวนรถไฟขนส่งสินค้าจีน-ยุโรปในการส่งเสริมการสร้างเครือข่ายบริการโลจิสติกส์ตามแนวเส้นทางรถไฟจีน-ลาว รวมทั้งประสานงานกับฝ่ายลาวเพื่อปรับลดต้นทุนโลจิสติกส์ของขบวนรถไฟขนส่งสินค้าจีน-ลาว
บนพื้นฐานเงื่อนไขที่ขบวนรถไฟขนส่งสินค้าจีน-ลาวให้บริการอย่างเป็นปกติแล้ว

– ส่งเสริมการสร้างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เหมาะสม รวมทั้งให้บริการปรึกษาด้านกฎหมายและนโยบายของประเทศต่าง ๆ ตามแนวเส้นทางรถไฟจีน-ลาวแก่ผู้ประกอบการจีน

– ส่งเสริมการลงทุน โดยดึงดูดอุตสาหกรรมจากมณฑลภาคตะวันออก เช่น โลจิสติกส์ทันสมัย เกษตรทันสมัย ยาชีวภาพ การท่องเที่ยวข้ามแดน และเศรษฐกิจดิจิทัล

– สร้างแบรนด์ให้กับขบวนรถไฟขนส่งสินค้าจีน-ลาว โดยกำหนดมาตรฐานการบริการ ราคา ตราสัญลักษณ์ ชื่อขบวนรถไฟ การใช้ตราสัญลักษณ์ และการประชาสัมพันธ์ เช่น ขบวนรถไฟ “ล้านช้าง-แม่โขงเอ็กซ์เพรส” เพื่อตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของผู้ประกอบการ รวมทั้งผลักดันการเชื่อมโยงทางยุทธศาสตร์ระหว่างเส้นทางรถไฟจีน-ลาวกับเส้นทางรถไฟจีน-ยุโรป เส้นทางขนส่งใหม่ทางบก-ทะเลในภาคตะวันตก และเส้นทางขนส่งใหม่จีน-เมียนมา-มหาสมุทรอินเดีย เพื่อให้ขบวนรถไฟขนส่งสินค้าจีน-ลาวเป็นแบรนด์ที่มีขีดความสามารถทางการแข่งขันและมีชื่อเสียงในระดับนานาชาติ

ที่มา: https://mp.weixin.qq.com/s/xzsC_A2g3I5IrMAoGZkj1Q

ที่มา : https://thaibizchina.com/

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]