• คลังความรู้
  • /
  • บทความ
  • /
  • ท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้เข้าวิน Top 30 ท่าเรือยักษ์ระดับโลก ทางเลือก(ไม่)ใหม่ของผู้ประกอบการไทย

ท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้เข้าวิน Top 30 ท่าเรือยักษ์ระดับโลก ทางเลือก(ไม่)ใหม่ของผู้ประกอบการไทย

ไฮไลท์

  • ใน “รายงานการพัฒนาท่าเรือทั่วโลก ประจำปี 2564” ของ Shanghai International Shipping Institute ระบุว่า ‘ท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้’ ขยับขึ้นมาอยู่ในอันดับที่ 28 ในการจัดอันดับท่าเรือตู้คอนเทนเนอร์ชั้นนำทั่วโลก (ขยับขึ้น 6 อันดับจากปี 2563) โดยแรงขับเคลื่อนสำคัญมาจากการเติบโตของปริมาณการขนถ่ายสินค้าที่ ‘ท่าเรือชินโจว’ เป็นท่าเรือหลักในกลุ่มท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้
  • ท่าเรือชินโจวกับท่าเรือแหลมฉบังมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิด โดยสองฝ่ายได้สถาปนาความสัมพันธ์ท่าเรือพี่น้อง (Sister port) เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2561 และบริษัท Beibu Gulf Port Group ก็มีความร่วมมือในการพัฒนาท่าเรือ TCT ในไทยด้วย
  • นับเป็นอีกทางเลือกสำหรับผู้ส่งออกไทย ใช้เวลาการขนส่งสั้นเพียง 4-7 วันเท่านั้น มีความสะดวกและรวดเร็ว ประหยัดต้นทุนเวลาและค่าใช้จ่าย เป็นจุดกระจายกระจายสินค้าไปทั่วประเทศจีนด้วยโมเดลการขนส่งแบบไร้รอยต่อ “เรือ+ราง” ในท่าเรือชินโจว (ทั้งขาขึ้นและขาล่อง) หรือใช้ช่องทางดังกล่าวเพื่อขนส่งสินค้าไปยังเอเชียกลางและยุโรปได้เช่นกัน

 

เป็นเวลากว่า 15 ปีแล้วที่รัฐบาลกว่างซีได้ดำเนินมาตรการบริหารจัดการทรัพยากรพื้นที่ชายฝั่งทะเลแบบบูรณาการด้วยการรวมกลุ่มท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้ หรือที่คนไทยรู้จักในชื่อ ‘อ่าวตังเกี๋ย’ เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับท่าเรือทะเลของกว่างซี พร้อมกับการจัดตั้งรัฐวิสาหกิจอย่าง Beibu Gulf Port Group (广西北部湾国际港务集团有限公司) เป็นผู้กุมบังเหียนในการดำเนินธุรกิจท่าเรือและอีกหลายสาขาทั้งในและต่างประเทศ ทำให้ ‘ท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้’ ทวีบทบาทสำคัญมากยิ่งขึ้นในเวทีการค้าโลก

ปี 2564 ท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้ ซึ่งประกอบด้วย 3 ท่าเรือ คือ ท่าเรือชินโจว (ท่าเรือหลัก) ท่าเรือฝางเฉิงก่าง และท่าเรือเป๋ยไห่ ถือเป็นกลุ่มท่าเรือเลียบชายฝั่งทะเลที่มีอัตราการเติบโตสูงที่สุดในประเทศจีน

ผลสำเร็จของการบูรณาการท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้ ทำให้ปริมาณการขนถ่ายตู้คอนเทนเนอร์เพิ่มขึ้นจาก 1.9 แสน TEUs ในปี 2549 เป็น 6.01 ล้าน TEUs ในปี 2564  ก้าวขึ้นมาเป็นอันดับที่ 8 ของท่าเรือทะเลในประเทศจีน และอันดับที่ 28 ของท่าเรือชั้นนำทั่วโลก และปริมาณการขนถ่ายสินค้าเพิ่มขึ้นจาก 33.47 ล้านตันในปี 2549 เป็น 360 ล้านตันในปี 2564 ก้าวขึ้นมาเป็นอันดับที่ 9 ของท่าเรือทะเลในประเทศจีน และอันดับที่ 19 ของท่าเรือหลักในโลก และการลำเลียงตู้สินค้าเชื่อม “เรือ+ราง” เพิ่มขึ้นจาก 178 เที่ยวในปี 2560 เป็น 6,117 เที่ยวในปี 2564

ใน “รายงานการพัฒนาท่าเรือทั่วโลก ประจำปี 2564” ของ Shanghai International Shipping Institute ระบุว่า ท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้ขยับขึ้นมาอยู่ในอันดับที่ 28 ในการจัดอันดับท่าเรือชั้นนำทั่วโลก (ขยับขึ้น 6 อันดับจากปี 2563) โดยแรงขับเคลื่อนสำคัญมาจากการเติบโตของปริมาณการขนถ่ายสินค้าที่ ‘ท่าเรือชินโจว’ (Qinzhou Port) ซึ่งเป็นท่าเรือหลักในกลุ่มท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้

จากข้อมูลพบว่า ปี 2564 ท่าเรือชินโจวมีปริมาณขนถ่ายสินค้า 167 ล้านตัน (สัดส่วน 46.3% ของกลุ่มท่าเรือ) เพิ่มขึ้น 22.3% (YoY) และปริมาณขนถ่ายตู้สินค้า 4.62 ล้าน TEUs (สัดส่วนเกือบ 77%) เพิ่มขึ้น 17.1% (YoY) โดยตั้งเป้าหมายว่าในปี 2568 ท่าเรือชินโจวจะมีปริมาณขนถ่ายสินค้า 250 ล้านตัน (สัดส่วน 50% ของกลุ่มท่าเรือ) ปริมาณขนถ่ายตู้สินค้า 8 ล้าน TEUs (สัดส่วน 80%) การลำเลียงตู้สินค้า “เรือ+ราง” 12,000 เที่ยว และขยับอันดับท่าเรือชั้นนำของจีน

บีไอซี ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ท่าเรือชินโจวเป็นท่าเรือที่มีความพร้อมสำหรับการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ เป็นด่านนำเข้าสินค้าที่ต้องได้รับการอนุมัติเป็นกรณีพิเศษ อาทิ ผลไม้ เนื้อสัตว์ ธัญพืช(ข้าว) รถยนต์ประกอบสำเร็จ และไวน์

นอกจากนี้ ท่าเรือชินโจวกับท่าเรือแหลมฉบังมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิด โดยสองฝ่ายได้สถาปนาความสัมพันธ์ท่าเรือพี่น้อง (Sister port) เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2561 และบริษัท Beibu Gulf Port Group ก็มีความร่วมมือในการพัฒนาท่าเรือ TCT ในไทยด้วย

   ปัจจุบัน เที่ยวเรือสินค้าระหว่างท่าเรือชินโจวกับท่าเรือแหลมฉบังและท่าเรือกรุงเทพมีหลายเที่ยวต่อสัปดาห์ ดังนี้

 

นับเป็นอีกทางเลือกสำหรับผู้ส่งออกไทย ใช้เวลาการขนส่งสั้นเพียง 4-7 วันเท่านั้น มีความสะดวกและรวดเร็ว ประหยัดต้นทุนเวลาและค่าใช้จ่าย เป็นจุดกระจายกระจายสินค้าไปทั่วประเทศจีนด้วยโมเดลการขนส่งแบบไร้รอยต่อ “เรือ+ราง” ในท่าเรือชินโจว (ทั้งขาขึ้นและขาล่อง) หรือใช้ช่องทางดังกล่าวเพื่อขนส่งสินค้าไปยังเอเชียกลางและยุโรปได้เช่นกัน

 

จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา  เว็บไซต์ http://bbwb.gxzf.gov.cn (广西北部湾办公) วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565
เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com.cn (中新社广西) วันที่ 16 และ 25 กุมภาพันธ์ 2565
เว็บไซต์ http://gx.news.cn (广西新闻网) วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2565

 

ที่มา : https://thaibizchina.com/

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]