• คลังความรู้
  • /
  • บทความ
  • /
  • ระบบการจัดการจักรยานสาธารณะในนครเฉิงตูได้รับรางวัลแบบอย่างดีเด่นประจำปี 2564 – ศูนย์บริการข้อมูลธุรกิจไทยในจีน (Thailand Business Information Center in China)

ระบบการจัดการจักรยานสาธารณะในนครเฉิงตูได้รับรางวัลแบบอย่างดีเด่นประจำปี 2564 – ศูนย์บริการข้อมูลธุรกิจไทยในจีน (Thailand Business Information Center in China)

 

จักรยานสาธารณะ (Bicycle Sharing) เป็นหนึ่งในธุรกิจกลุ่ม “เศรษฐกิจแบ่งปัน” (Sharing Economy) เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางในช่วง “1 กิโลเมตรสุดท้าย” ที่เป็นช่องว่างของระบบขนส่งสาธารณะ อาทิ จากสถานีรถไฟฟ้าถึงหมู่บ้าน จากป้ายรถโดยสารสาธารณะถึงอาคารสำนักงาน เป็นต้น ทั้งนี้ จักรยานสาธารณะเกิดขึ้นครั้งแรกในนครเฉิงตูเมื่อปี 2559 และเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยมา ในปี 2562 นครเฉิงตูมีจักรยานให้บริการมากถึง 1.8 ล้านคัน ซึ่งมากเกินกว่าความต้องการของประชาชน จักรยานบางส่วนไม่ได้ถูกนำไปใช้งาน และบางส่วนชำรุด ยากต่อการบริหารจัดการ จนกระทั่งเดือนตุลาคม 2563 สำนักงานคมนาคมนครเฉิงตู สำนักงานตำรวจนครเฉิงตู และคณะกรรมการบริหารเมืองนครเฉิงตู ร่วมกันจัดทำ “แผนเร่งการพัฒนาจักรยานสาธารณะนครเฉิงตู” กำหนดให้จักรยานทั้งหมดมีขนาดและลักษณะเดียวกัน และต้องติดป้ายทะเบียนจักรยานเพื่อระบุข้อมูลทั้งหมดของจักรยานและสะดวกต่อการจำกัดจำนวน

จักรยานสาธารณะในนครเฉิงตูใช้แพลตฟอร์มของบริษัทเอกชน อาทิ Meituan (สีเหลือง) Qingju (สีเขียว) และ Hellobike (สีฟ้า) ฯลฯ ผู้ใช้บริการสามารถเช่าจักรยานผ่านแอปพลิเคชั่นด้วยการสแกนคิวอาร์โค๊ตที่ตัวจักรยาน แต่ละบริษัทจะเก็บค่าบริการแตกต่างกันไปทั้งแบบรายครั้งและแบบรายเดือน เมื่อใช้งานเสร็จจะต้องนำไปจอดคืนตามจุดที่กำหนดไว้ โดยจักรยานสาธารณะจะมีจุดจอดบริเวณสถานีรถไฟฟ้า ป้ายรถโดยสารสาธารณะ หน้าหมู่บ้าน ห้างสรรพสินค้า โรงเรียน อาคารสำนักงาน และสี่แยกไฟแดงทั่วทั้งเมือง

จักรยานสาธารณะเปรียบเสมือนดาบสองคม ด้านหนึ่งช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทางให้แก่ประชาชนตามแนวคิดการพัฒนาเมืองสีเขียว  แต่อีกด้านหนึ่งส่งผลกระทบต่อการจัดระเบียบบ้านเมือง อันเป็นผลมาจากการจอดไม่เป็นระเบียบและปัญหาจำนวนจักรยานล้นเมือง นำไปสู่การพัฒนาระบบบริหารจัดการเรื่อยมา

เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2565 รัฐบาลนครเฉิงตูประกาศให้ ระบบจัดการจักรยานสาธารณะในนครเฉิงตู เป็น 1 ใน 10 แบบอย่างดีเด่นประเภทสร้างสรรค์ประจำปี 2564 โดยระบบดังกล่าวประกอบด้วยแพลตฟอร์มการจัดการจักรยานสาธารณะ และการติดป้ายทะเบียนจักรยาน

แพลตฟอร์มการจัดการจักรยานสาธารณะทำหน้าที่รวบรวบข้อมูลจำนวนจักรยานในแต่ละจุดแบบเรียลไทม์ ด้วยเทคโนโลยีการนับจำนวนของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ถูกติดตั้งอยู่ที่ตัวจักรยานและบริเวณจุดจอด จึงสามารถให้ข้อมูลจำนวนจักรยานทุกสี หากจุดจอดใดมีจักรยานมากเกินกำหนด ศูนย์บัญชาการจะสั่งการไปที่เจ้าหน้าที่บำรุงรักษาจักรยานที่ประจำอยู่บริเวณพื้นที่นั้น ๆ เพื่อขนย้ายจักรยานสีของตนไปเติมในจุดที่มีจักรยานไม่เพียงพอ นอกจากนี้ แพลตฟอร์มยังสามารถเก็บรวบรวมข้อมูลจำนวนจักรยานชำรุด จักรยานที่จอดในพื้นที่ห้ามจอด จักรยานที่ไม่ถูกใช้งาน และรอบการใช้งาน ฯลฯ เพื่อประโยชน์ต่อบริษัทเจ้าของจักรยาน ในการพิจารณาเพิ่ม-ลดจำนวนจักรยาน การเพิ่มพื้นที่ให้บริการ และการขยายธุรกิจในอนาคต

ปัจจุบัน แพลตฟอร์มการจัดการจักรยานสาธารณะนครเฉิงตู ถูกนำไปใช้งานในหลายเขตใจกลางเมืองนครเฉิงตู ได้แก่ เขตจิ๋นเจียง เขตชิงหยาง เขตหวู่โหว เขตจินหนิว เขตเฉิงหัว และเขตไฮเทคโซน อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้จักรยานจากเขตชานเมือง (เขตซวงหลิว เขตหลงฉวนอี้ เขตผีตู เขตเวินเจียงและเขตซินตู) ปะปนกับจักรยานที่อยู่ภายใต้ระบบจัดการในตัวเมือง จึงกำหนดให้ใช้ป้ายทะเบียนสีต่าง ๆ 1 เขตต่อ 1 สี ให้ง่ายต่อการบริหารจัดการและบำรุงรักษา

ในช่วงแรกของการให้บริการจักรยานสาธารณะ นครเฉิงตูประสบกับปัญหาเช่นเดียวกับเมืองอื่น ๆ ในประเทศจีน รวมถึงประเทศไทยด้วย ได้แก่

  1. การจอดไม่เป็นที่ ขวางถนนหรือขวางทางเข้าออก จอดในน้ำหรือจอดทิ้งขว้างในจุดที่ตามกลับมายาก
  2. จำนวนจักรยานไม่สมดุล บางจุดมากเกินไป บางจุดไม่มีจักรยานให้บริการ
  3. การขโมยจักรยาน นำไปเป็นทรัพย์สินของตน ตลอดจนการนำไปแยกส่วนขายเป็นเศษเหล็ก

ต่อมา แพลตฟอร์มผู้ให้บริการกำหนดให้มีการยืนยันตัวตนผู้ใช้บริการเพื่อป้องกันการขโมยจักรยาน และการหักค่าบริการกรณีจอดนอกพื้นที่ที่กำหนด และระบบร้องเรียนที่ผู้บริโภคสามารถร้องเรียนในแอปพลิเคชั่นกรณีพบจักรยานชำรุด เพื่อระงับการใช้งานจักรยานคันดังกล่าวและสะดวกต่อการตรวจสอบ-บำรุงรักษา ประกอบกับระบบการจัดการจักรยานสาธารณะของนครเฉิงตู ซึ่งสามารถช่วยให้ปัญหาจักรยานสาธารณะในนครเฉิงตูหมดไป

ระบบดังกล่าวเป็นมาตรการหนึ่งในการช่วยลดความแออัดของการจราจรและระบบขนส่งสาธารณะ อีกทั้งอำนวยความสะดวกในการเดินทางของประชาชนในเมืองใหญ่ ที่สำคัญคือช่วยลดมลภาวะและประหยัดพลังงาน ในอนาคตหากผู้ประกอบการไทยมีแผนที่จะพัฒนาธุรกิจจักรยานสาธารณะในไทย โดยเฉพาะในพื้นที่ กทม. และเมืองใหญ่ อาจเรียนรู้ประสบการณ์การจัดการจักรยานสาธารณะของแพลตฟอร์มที่ประสบความสำเร็จในนครเฉิงตู ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากภาครัฐในการจัดสรรพื้นที่จอดและช่องทางสำหรับจักรยาน การปลูกฝังวินัยของผู้บริโภคและความรับผิดชอบต่อสังคม รวมถึงการออกกฎหมายหรือนโยบายที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมด้วย

 

แหล่งข้อมูลอ้างอิง : เว็บไซต์สำนักข่าว cdrb (เข้าถึงครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2565)

http://www.cdrb.com.cn/epaper/cdrbpc/202203/06/c94982.html

ที่มา : https://thaibizchina.com/

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]