ไวน์หนิงเซี่ย – ไวน์แห่งชาติจีน

อุตสาหกรรมการผลิตไวน์ของเขตปกครองตนเองหนิงเซี่ยหุย ถูกยกให้เป็น 1 ใน 6 อุตสาหกรรมหลักของเขตฯ หนิงเซี่ยหุยเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2553 ตามแผนพัฒนา “แผนยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมและวัฒนธรรมองุ่นตงหลู่เทือกเขาเฮ่อหลาน” ของรัฐบาลเขตฯ ที่ในปี 2554 ได้ขยายพื้นที่ปลูกองุ่นครั้งแรกราว 270,820 ไร่ ในปี 2564 ซึ่งเป็นปีแห่งการยกระดับอุตสาหกรรมอย่างคุณภาพสูงและพัฒนาระบบนิเวศวิทยาลุ่มแม่น้ำเหลือง (黄河流域生态保护和高质量发展) เนื่องจากเป็นหัวใจหลักของการพัฒนาเกษตรกรรมตลอดจนการผลิตและแปรรูปสินค้าเกษตรในพื้นที่ โดยเน้นยกระดับพืช/ปศุสัตว์เศรษฐกิจ 4 ประเภท ได้แก่ (1) การปลูกและแปรรูปเก๋ากี้หรือโกจิเบอร์รี่ (2) การผลิตไวน์จากองุ่น (3) การผลิตนม และ (5) การผลิตและแปรรูปเนื้อวัวและเนื้อแพะ  ทั้งนี้ ในปี 2564 เขตฯ หนิงเซี่ยหุยสามารถผลิตไวน์องุ่นได้กว่า 130 ล้านขวด คิดเป็นมูลค่า 30, 000 ล้านหยวน[1] นอกจากนี้รบ. เขตฯ หนิงเซี่ยหุยยังได้เร่งการก่อสร้างเขตสาธิตอุตสาหกรรมองุ่นและไวน์ระดับชาติ (国家葡萄及葡萄酒产业开放发展综合试验区) โดยมีกำหนดแล้วเสร็จแภายในปี 2568 ซึ่งจะเป็นฐานพัฒนาอุตสาหกรรมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะด้านแห่งแรกของจีน (全国首个特色产业开放发展综合试验区) ตลอดจนเร่งสร้างการรับรู้ “ไวน์หนิงเซี่ย” ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง ยกระดับไวน์หนิงเซี่ยขึ้นสู่ตัวแทน “ไวน์แห่งชาติ”   (中国葡萄酒的 “代言人”)

ล่าสุด เขตการผลิตไวน์องุ่นตงหลู่เขาเฮ่อหลาน (贺兰山东麓葡萄酒银川产区) หรือที่นิยมเรียกว่า“เขตการผลิตไวน์องุ่นนครหยินชวน” ครอบคลุมพื้นที่ราว 200,000 เฮคตาร์ (ราว 1.25 ล้านไร่) ได้รับการขนานนามว่า เป็นพื้นที่ปลูกองุ่นทำไวน์ที่ดีที่สุดของประเทศจีน เนื่องจากปลูกบนเทือกเขาเฮ่อหลาน ทั้งยังได้รับอานิสงส์จากความอุดมสมบูรณ์ของตะกอนที่ราบลุ่มแม่น้ำเหลือง (The Alluvial Plain of the Yellow River) ดังนั้น แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 14 ของเขตฯ หนิงเซี่ยหุย จึงได้ระบุถึงแนวทางการส่งเสริมอุตสาหกรรมไวน์องุ่นให้เป็นสินค้าพรีเมี่ยมของเขตฯ ที่นอกจากจะสามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคด้านการเป็นสินค้าเสริมสุขภาพและความงานแล้ว ยังตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นของผู้นิยมบริโภคไวน์ในประเทศจีนด้วย ซึ่งสอดคล้องจากข้อมูลขององค์การไวน์นานาชาติ (International Vine and Wine Organization: OIV) ที่ระบุว่า การบริโภคไวน์ของทั้งโลกในปี 2019 อยู่ที่ราว 24,400 ล้านลิตร โดยในจำนวนนี้เป็นการบริโภคไวน์ในประเทศจีนถึง 1,790 ล้านลิตร(ปี 2015-2019 ชาวจีนบริโภคไวน์เฉลี่ยเพิ่มขึ้นจาก 1.52 ลิตร เป็น 1.71 ลิตร) และแม้ในช่วง 2 ปีมานี้ อุตสาหกรรมไวน์ทั่วโลกจะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แต่จีนยังคงเป็นตลาดใหญ่ที่มีศักยภาพ เนื่องจากมีประชากรกลุ่มที่มีรายได้ปานกลาง-สูง (Middle and high income) มากกว่า 400 ล้านคน ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของตลาดบริโภคไวน์[2]

เน้นสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง

ที่ผ่านมา เขตฯ หนิงเซี่ยหุยพยายามสร้างแบรนด์สินค้าไวน์ที่ผลิตในท้องถิ่น ผ่านสัญลักษณ์ของเขตฯคือ เทือกเขาเฮ่อหลานตงหลู่ “贺兰山东麓葡萄酒” ในการสร้างอัตลักษณ์แก่สินค้าไวน์ที่ปลูกบริเวณเทือกเขาดังกล่าว โดยมีคณะกรรมการบริหารเขตการผลิตไวน์องุ่นของเทือกเขาเฮ่อหลานตงหลู่เป็นหน่วยงานกำกับดูแล นอกจากนี้ เขตฯ ยังได้นำจุดเด่นของสภาพภูมิประเทศที่สภาพดินและอุณหภูมิที่มีความพิเศษคล้ายกับเมืองบอร์กโดซ์ของฝรั่งเศส ทำให้ผลผลิตไวน์ของเขตฯ ได้รับการยอมรับว่าเป็นไวน์ที่ผลิตจากพื้นที่ทีดีที่สุดสำหรับการปลูกองุ่นและผลิตไวน์ชั้นเลิศในจีน

นอกจากการสร้างแบรนด์ท้องถิ่นให้เป็นที่รู้จักแล้ว เขตฯ ยังได้ให้การสนับสนุนวิสาหกิจผลิตไวน์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรในพื้นที่ให้มีรายได้มากขึ้น โดยเฉพาะการสร้างศูนย์รวมองค์ความรู้ให้แก่เกษตรกรและวิสาหกิจผู้ผลิต โดยในปี 2564 เขตฯ ได้ดำเนินการส่งเสริมการสร้างแบรนด์สินค้าเกษตรของหนิงเซี่ยให้เป็นที่รู้จักด้วยการ (1) รับรองสินค้าที่ผ่านคัดเลือกด้านคุณภาพและความาเชื่อถือโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของภาครัฐ (2) สร้างกลไกสนับสนุนการจำหน่าย ทั้งรูปแบบการจัดงานประชาสัมพันธ์อุตสาหกรรมไวน์[1] การจัดโรดโชว์สินค้าในเมืองใหญ่ ๆ ของประเทศ และ (3) ก่อตั้งเขตพัฒนาและทดลองแบบเปิดสำหรับอุตสาหกรรมองุ่นและไวน์แห่งชาติ(宁夏国家葡萄及葡萄酒产业开放发展综合试验区: Ningxia National Grape and Wine Industry Open Development Comprehensive Experimental Zone) โดยได้รับการอนุมัติจากคณะมนตรีแห่งรัฐเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2564 การดำเนินการดังกล่าว เป็นเสมือนกลไกสำคัญในการยกระดับอุตสาหกรรมไวน์ของหนิงเซี่ยให้ทัดเทียมนานาประเทศ

จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นได้ว่า “อุตสาหกรรมไวน์หนิงเซี่ย” เป็นตัวอย่างที่ดีของรัฐบาลจีนและรัฐบาลท้องถิ่น ในการยกระดับผลไม้ธรรมดาสู่ผลิตภัณฑ์ที่สามารถตอบสนองได้ทั้งการบริโภคและรสนิยม แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือ สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มและสร้างรายให้แก่เกษตรกรรวมถึงวงจรที่เกี่ยวข้อง และแม้กำลังการผลิตไวน์ของเขตฯ หนิงเซี่ยหุย จะยังไม่สามารถเทียบชั้นการผลิตไวน์ของต่างประเทศ โดยเฉพาะเมืองบอร์กโดซ์ของฝรั่งเศสที่มีกำลังการผลิตในปี 2564 มากถึง 440 ล้านลิตร หรือราว 587 ล้านขวด[2] (ซึ่งเขตฯ อาจต้องใช้เวลามากกว่า 15 ปีในการเพิ่มกำลังการผลิตให้ทัดเทียมผู้เล่นอันดับต้น ๆ ของโลก) อย่างไรก็ดี เขตฯ หนิงเซี่ยหุยได้วางแผนการพัฒนาสร้าง “อุตสาหกรรมไวน์แสนล้านหยวน” โดยตั้งเป้าสร้างรายได้จากอุตสาหกรรมไวน์ให้ได้ถึงแสนล้านหยวนภายใน 5-15 ปีต่อจากนี้ (ปี 2569-2578)  โดยแบ่งเป็น (1) เป้าหมายระยะสั้น 5 ปี (ภายในปี 2569) โดยการขยายพื้นที่เพาะปลูกองุ่นทำไวน์เพิ่มอีก 1 ล้านหมู่ (ราว 409,836 ไร่) และเพิ่มระดับมูลค่าการผลิตไวน์สู่ 100,000 ล้านหยวน  (2) เป้าหมายระยะยาว15 ปี (ภายในปี 2578) โดยการขยายพื้นที่เพาะปลูกองุ่นทำไวน์เพิ่ม 1.5 ล้านหมู่ (ราว 614,754 ไร่) และเพิ่มระดับมูลค่าการผลิตไวน์ไปสู่ 200,000 ล้านหยวน

จับมือยักษ์ใหญ่ JD.com เพิ่มช่องทางจำหน่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ล่าสุดเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2564 เขตผลิตไวน์องุ่นตงหลู่เทือกเขาเฮ่อหลาน (贺兰山东麓葡萄酒银川产区) โดยศูนย์การพัฒนาและบริการอุตสาหกรรมไวน์องุ่นนครหยินชวน (银川市葡萄酒产业发展服务中心)ได้ลงนามความร่วมมือกับ JD.Com โดยนายเจิ้ง กัง (Zheng Gang:郑刚) ผู้จัดการใหญ่ JD.Com ประจำเขตฯ หนิงเซี่ยหุย มณฑลกานซู และมณฑลชิงไห่ เพื่อแต่งตั้งให้เป็นผู้แทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการเพียงแห่งเดียวของเขตผลิตไวน์องุ่นตงหลู่ฯ เป็นเวลา 3 ปี (联盟共同签署三年战略合作协议) ปัจจุบัน มีไวน์ท้องถิ่นกว่า 25 แบรนด์ อาทิ CHANDON, He Lan Hong, Silver Heights, Xixia King ที่ตบเท้าเข้าเป็นพันธมิตรกับ JD.com โดยมีไวน์ยี่ห้อ Helan Mountains ได้รับความนิยมสูงสุด มีราคาจำหน่าย เฉลี่ย 73.16 หยวน/ขวด

 

มองดูเขาแล้วย้อนกลับมาดูตัวเรา

หลังจากที่ได้ทราบถึงการพัฒนาอุตสาหกรรมไวน์ของเขตฯ หนิงเซี่ยหุยแล้ว BIC นครซีอาน ขอพาทุกท่านมาย้อนกลับมามองถึงการพัฒนาอุตสาหกรรมไวน์และโอกาสทางความร่วมมือของไทย ทั้งนี้ ไทยเริ่มนิยมดื่มไวน์มาตั้งแต่ปี 2538 โดยเป็นไวน์นำเข้าถึงร้อยละ 95 ไทยเริ่มผลิตไวน์เองในปี 2541 โดยมีแหล่งผลิตไวน์ที่มีชื่อเสียงอยู่ 4 แหล่ง (บริเวณภาคเหนือ, อ. เขาใหญ่ จ. นครราชสีมา, อ. หัวหิน จ. ประจวบคีรีขันธ์ และเมืองพัทยาจ. ชลบุรี) แต่ละแหล่งมีสภาพดินและภูมิอากาศที่แตกต่างกันจนได้ชื่อว่าเป็น New Latitude Wine ไวน์ไทยส่วนใหญ่จะจับคู่ได้ดีกับเมนูอาหารที่มีรสเผ็ด และเมนูอาหารไทย โดยรสชาติจะมีความนุ่มนวล กลมกล่อม มีรสและกลิ่นผลไม้ แต่ถึงแม้ไทยจะผลิตไวน์ได้เองและมีคุณภาพสูง กำลังการผลิตและผู้เล่นในตลาดกลับยังมีน้อย และเมื่อคำนึงว่าผู้บริโภคชาวไทย โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่เริ่มหันมาบริโภคไวน์ที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น ดังนั้น ตลาดไวน์นำเข้าในไทยจึงยังเปิดกว้าง ซึ่งไวน์หนิงเซี่ยก็อาจเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่ผู้ประกอบการที่สนใจและพิจารณานำเข้าสู่ตลาดไวน์ของไทยเพื่อเป็นทางเลือกในกลุ่ม New World Wine ให้แก่ผู้บริโภคชาวไทยมากยิ่งขึ้น ไวน์หนิงเซี่ยนอกจากจะได้รับการยอมรับในชื่อเสียงและคุณภาพการผลิตแล้ว ไวน์หนิงเซี่ยยังมีจุดเด่นในด้านราคาที่ย่อมเยาแต่คุณภาพทัดเทียมกับไวน์จากทวีปยุโรปหรือออสเตรเลีย ที่อาจเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่น่าสนใจในตลาดผู้บริโภคชาวไทย

(อ่านเพิ่มเติมเนื้อหาที่เกี่ยวข้องได้ที่ หนิงเซี่ยหุย ยกระดับไวน์จากเชิงเขาเฮ้อหลานขึ้นสู่ไวน์คุณภาพระดับโลก)

ข้อมูลอ้างอิง 

  1. http://www.news.cn/local/2021-09/29/c_1211387860.htm
  2. https://www.nxnews.net/ly/ljnx/202203/t20220301_7461828.html
  3. https://www.sohu.com/a/525734413_506252

[1] เมื่อ 26 กันยายน  2564 เขตฯ หนิงเซี่ยหุย ได้เป็นเจ้าภาพจัดงานมหกรรมส่งเสริมวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวไวน์นานาชาติ ครั้งที่ 1 (中国(宁夏)国际葡萄酒文化旅游博览会: The First China (Ningxia) International Wine Culture and Tourism Expo) เพื่อเป็นเวทีประชาสัมพันธ์อุตสาหกรรมไวน์ของเขตฯ หนิงเซี่ยหุย ตลอดจนเป็นการกระตุ้นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงพักผ่อนในพื้นที่ อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://bit.ly/3hWQyM7

[1] ข้อมูลจาก https://www.putaojiu.com/news/202112312206.html

[2] ข้อมูลจาก http://www.nx.gov.cn/zwgk/qzfwj/202202/t20220208_3316559.html

ที่มา : https://thaibizchina.com/