• คลังความรู้
  • /
  • บทความ
  • /
  • จับตามอง “นครหนานหนิง” กับเป้าหมายการเป็นคลัสเตอร์ธุรกิจของบริษัทชั้นนำจีน-อาเซียน – ศูนย์บริการข้อมูลธุรกิจไทยในจีน (Thailand Business Information Center in China)

จับตามอง “นครหนานหนิง” กับเป้าหมายการเป็นคลัสเตอร์ธุรกิจของบริษัทชั้นนำจีน-อาเซียน – ศูนย์บริการข้อมูลธุรกิจไทยในจีน (Thailand Business Information Center in China)

ไฮไลท์

  • ‘นครหนานหนิง’ เป็นเมืองเอกของมณฑลในจีนที่ตั้งอยู่ใกล้กับอาเซียนมากที่สุด เป็นหนึ่งใน ‘เมืองข้อต่อ’ สำคัญของข้อริเริ่มหนึ่งแถบและเส้นทาง หรือ BRI และถือเป็น ‘เมืองหน้าด่าน’ ความร่วมมือและเปิดสู่ภายนอกของจีนสู่อาเซียน ด้วยเหตุนี้ นครหนานหนิง จึงได้กำหนดจุดยืนทางยุทธศาสตร์ (positioning) ของตนเองให้เป็น ‘พื้นที่แห่งโอกาส’ ของการพัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรมที่มุ่งสู่อาเซียน เป็น ‘สถานีกลาง’ (interchange station) ของการค้าและการลงทุนระหว่างจีนกับอาเซียน
  • ปัจจุบัน นครหนานหนิง กำลังมุ่งส่งเสริมการพัฒนาแพลตฟอร์มความร่วมมือและเปิดสู่ภายนอก ไม่ว่าจะเป็นเขตทดลองการค้าจีน(กว่างซี)พื้นที่ย่อยนครหนานหนิง ฐานหลักของศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศจีน-อาเซียน (China-ASEAN Information Harbor) พื้นที่ศูนย์กลางการเปิดเสรีภาคการเงินสู่อาเซียน (Financial opening-up gateway for ASEAN) และเขตสาธิตเศรษฐกิจท่าอากาศยานหนานหนิง รวมทั้งเร่งผลักดันการลงทุนแบบสองทาง ทั้งการ ‘เชิญเข้ามา’ และ  ‘ก้าวออกไป’ โดยมีเป้าหมายหลัก คือ การพัฒนาห่วงโซ่อุปทานในอุตสาหกรรมข้ามแดนที่มุ่งสู่อาเซียน
  • นครหนานหนิง เป็นแหล่งดึงดูดเงินลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติ จากข้อมูลปี 2564 การจัดตั้งธุรกิจทุนต่างชาติในนครหนานหนิง มีจำนวน 261 ราย เพิ่มขึ้น 75.17% (YoY) ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 40% ของทุนต่างชาติรายใหม่ที่เข้ามาลงทุนในกว่างซี รวมเม็ดเงินลงทุนจริงจากต่างประเทศ 578 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 31.3% (YoY)
  • ภาคธุรกิจไทยที่กำลังมองหาพื้นที่ลงทุนใหม่ในจีน เชื่อว่า นครหนานหนิงน่าจะเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุนที่ต้องการจะเจาะตลาดจีนตะวันตก ซึ่งมีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วและมีพลวัตสูง โดยนักลงทุนไทยสามารถใช้ประโยชน์จากนโยบาย/สิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่ได้รับในพื้นที่นั้นๆ รวมถึงเงินอุดหนุน เงินรางวัล การลด/ยกเว้นภาษี นอกจากนี้ ยังได้ตั้งเคาน์เตอร์รับเรื่องร้องเรียนสำหรับนักลงทุนต่างชาติ เพื่อคุ้มครองผลประโยชน์และสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนต่างชาติ

 

การผูกโยงยุทธศาสตร์ Gateway to ASEAN ของ นครหนานหนิง กับความสำคัญในฐานะเมืองเอกของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ส่งผลให้คำว่า “อาเซียน” ได้แทรกซึมเข้าไปอยู่ในทุกมิติ

‘นครหนานหนิง’ เป็นเมืองเอกของมณฑลในจีนที่ตั้งอยู่ใกล้กับอาเซียนมากที่สุด เป็นหนึ่งใน ‘เมืองข้อต่อ’ สำคัญของข้อริเริ่มหนึ่งแถบและเส้นทาง หรือ BRI และถือเป็น ‘เมืองหน้าด่าน’ ความร่วมมือและเปิดสู่ภายนอกของจีนสู่อาเซียน ด้วยเหตุนี้ นครหนานหนิง จึงได้กำหนดจุดยืนทางยุทธศาสตร์ (positioning) ของตนเองให้เป็น ‘พื้นที่แห่งโอกาส’ ของการพัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรมที่มุ่งสู่อาเซียน เป็น ‘สถานีกลาง’ (interchange station) ของการค้าและการลงทุนระหว่างจีนกับอาเซียน

ปีที่ผ่านมา นครหนานหนิง เร่งดึงดูดการลงทุนจากบริษัทชั้นนำด้านอุตสาหกรรม โดยมีบริษัทชั้นนำ (World’s Top 500 Enterprises / China’s Top 500 Enterprises และ China’s Top 500 Private Enterprises) ได้ลงนามสัญญาการลงทุนในนครหนานหนิง 21 โครงการ มูลค่าการลงทุน 29,713 ล้านหยวน

ปัจจุบัน นครหนานหนิง กำลังมุ่งส่งเสริมการพัฒนาแพลตฟอร์มความร่วมมือและเปิดสู่ภายนอก ไม่ว่าจะเป็นเขตทดลองการค้าจีน(กว่างซี)พื้นที่ย่อยนครหนานหนิง ฐานหลักของศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศจีน-อาเซียน (China-ASEAN Information Harbor) พื้นที่ศูนย์กลางการเปิดเสรีภาคการเงินสู่อาเซียน (Financial opening-up gateway for ASEAN) และเขตสาธิตเศรษฐกิจท่าอากาศยานหนานหนิง รวมทั้งเร่งผลักดันการลงทุนแบบสองทาง ทั้งการ  ‘เชิญเข้ามา’ และ  ‘ก้าวออกไป’ โดยมีเป้าหมายหลัก คือ การพัฒนาห่วงโซ่อุปทานในอุตสาหกรมข้ามแดนที่มุ่งสู่อาเซียน

สำหรับโครงการลงทุนในนครหนานหนิงที่ผ่านมา จะเป็นโครงการลงทุนที่มุ่งเน้นธุรกิจที่มีเทคโนโลยีขั้นสูง (technology content) และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อาทิ ACC Technologies บริษัทผู้ให้บริการด้านเทคโนโลยีโซลูชันแบบครบวงจรสำหรับภาคธุรกิจ / QuaTerNes Group บริษัทชั้นนำระดับโลกด้านการแปรรูปสินค้าเกษตรและอาหารจากเนเธอร์แลนด์ / PowerLeader และ Inspur บริษัทชั้นนำด้านการผลิตอุปกรณ์คอมพิวเตอร์และเซิร์ฟเวอร์ / Hozon Auto (แบรนด์ NETA) และ Geely Auto ค่ายรถยนต์พลังงานทางเลือกของจีน / สถานท่องเที่ยวตากอากาศระดับนานาชาติว่านโหย่ว


credit: www.csilp.com

            ไฮไลท์สำคัญ คือ สวนโลจิสติกส์นานาชาติจีน(หนานหนิง)-สิงคโปร์ (เรียกสั้นๆ ว่า CSILP) บนพื้นที่กว่า 1,780 ไร่ โดยภายในสวนโลจิสติกส์ฯ มีโครงการลงทุนย่อยที่น่าสนใจ อาทิ สวนอัจฉริยะสินค้าทัณฑ์บนสิงคโปร์-จีน ซึ่งจะเป็นศูนย์บริการด้านโลจิสติกส์ที่ทำงานด้วยระบบอัจฉริยะแบบครบวงจร และธุรกิจ Cross-border e-Commerce ด้วย / สวนอุตสาหกรรมอัจฉริยะด้านการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบอาเซียน ซึ่งจะเป็นแพลตฟอร์มการลงทุนสำหรับธุรกิจชั้นนำด้านเทคโนโลยีการแพทย์ ธุรกิจโลจิสติกส์ และธุรกิจด้านการบ่มเพาะและศึกษาวิจัยโครงการด้านเทคโนโลยีขั้นสูงในห่วงโซ่อุปทานสมัยใหม่ /  ศูนย์รวมสินค้าโดดเด่นจีน-อาเซียน พื้นที่ที่จะเป็น ‘ประตู’ บานใหม่ของผู้ประกอบการอาเซียนที่ต้องการจะก้าวเข้าไปขยายตลาดในประเทศจีน

ในปีนี้ นครหนานหนิง จะเริ่มงานก่อสร้าง ศูนย์คอมพิวติงปัญญาประดิษฐ์จีน(กว่างซี)-อาเซียน (中国—东盟(广西)人工智能计算中心) เพื่อใช้เป็นแพลตฟอร์มสำคัญในการพัฒนาห่วงโซ่อุตสาหกรรมเศรษฐกิจดิจิทัลและความร่วมมือด้านดังกล่าวกับอาเซียน โดยมุ่งเน้นที่การพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI  เทคโนโลยีระบบสารสนเทศเชิงพื้นที่ (Spatial Information technology) และการสร้างสรรค์แอปพลิเคชันด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และโครงการก่อสร้างศูนย์บิ๊กดาต้าขนาดใหญ่ที่มุ่งส่งเสริมความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนด้านเทคโนโลยีสารสนเทศกับอาเซียนด้วย

นครหนานหนิง ยังเป็นพื้นที่นำร่องนโยบายการพัฒนาและปฏิรูปภาคการเงิน การธนาคาร และการประกันภัย โดยได้กำหนดจุดยืนทางยุทธศาสตร์เป็น “ประตูการเงินสู่อาเซียน” หรือ Financial Gateway for ASEAN โดยมีโครงการสำคัญ คือ ย่านการเงินจีน-อาเซียน หรือ China-ASEAN Financial Town อยู่ในเขตเมืองใหม่อู่เซี่ยง นครหนานหนิง ย่านดังกล่าวจัดตั้งขึ้นเพื่อรองรับ key projects ด้านการส่งเสริมความร่วมมือด้านการลงทุนระหว่างสถาบันการเงินจีน-อาเซียน (ตามข้อมูล ณ สิ้นปี 2564 พบว่า ย่านแห่งนี้มีสถาบันการเงินและประกันภัยชั้นนำในประเทศและต่างประเทศเข้าไปจัดตั้งสำนักงานแล้ว 285 ราย)

นอกจากนี้ นครหนานหนิง ยังได้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมทองคำจีน-อาเซียนกับตลาดค้าทองคำและเครื่องประดับมีค่า เพื่อให้เป็นพื้นที่คลัสเตอร์ธุรกิจทองคำและเครื่องประดับมีค่าแบบครบวงจรที่มุ่งสู่อาเซียน

ข้อมูลจากกรมพาณิชย์กว่างซี ระบุว่า ปี 2564 เขตฯ กว่างซีจ้วงได้อนุมัติการลงทุนจัดตั้งธุรกิจที่เป็นทุนต่างชาติ รวม 644 ราย มูลค่าเงินลงทุนจริงจากต่างประเทศ 1,650 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 25.4% (YoY) ในจำนวนนี้ เป็นการจัดตั้งธุรกิจทุนต่างชาติในนครหนานหนิง 261 ราย เพิ่มขึ้น 75.17% (YoY) ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 40% ของทุนต่างชาติรายใหม่ที่เข้ามาลงทุนในกว่างซี รวมเม็ดเงินลงทุนจริงจากต่างประเทศ 578 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 31.3% (YoY)

เมื่อเดือน ก.ย. 2564 บริษัท ทิฟฟ่า จำกัดของไทย ได้ร่วมลงนามความร่วมมือในโครงการศูนย์โลจิสติกส์นานาชาติจีน (หนานหนิง) – สิงคโปร์ กับทางบริษัท Singapore-Guangxi Integrated Developments Pte. Ltd. ผ่านทาง Virtual Video Conference ในการดำเนินธุรกิจด้านโลสิติกส์และกระจายสินค้าไทยในประเทศจีนในอนาคต

ดังนั้น ภาคธุรกิจไทยที่กำลังมองหาพื้นที่ลงทุนใหม่ในจีน เชื่อว่า นครหนานหนิงน่าจะเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุนที่ต้องการจะเจาะตลาดจีนตะวันตกซึ่งมีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วและมีพลวัตสูง  โดยนักลงทุนไทยสามารถใช้ประโยชน์จากนโยบาย/สิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่ได้รับในพื้นที่นั้นๆ รวมถึงเงินอุดหนุน เงินรางวัล การลด/ยกเว้นภาษี

สำหรับประเด็นที่นักลงทุนต่างชาติเป็นกังวลเกี่ยวกับความคุ้มครองทางการค้าการลงทุน นครหนานหนิงได้จัดตั้งเคาน์เตอร์รับเรื่องร้องเรียน เพื่อช่วยคุ้มครองผลประโยชน์และสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนต่างชาติ และได้จัดตั้งแพลตฟอร์มบริการแบบเบ็ดเสร็จในกว่างซีไว้ทำหน้าที่เป็น “เสี่ยวเอ้อร์” (พนักงานบริการ) คอยติดตามให้บริการนักลงทุนต่างชาติ โดยโฟกัสไปที่การบริการและช่วยเหลือนักลงทุนต่างชาติ (Customer Service & Support) เพื่ออำนวยความสะดวกและยกระดับสภาพแวดล้อมทางการลงทุน หวังจูงใจให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาจัดตั้งธุรกิจในนครหนานหนิงเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งช่วยสนับสนุนธุรกิจต่างชาติให้สามารถเติบโตได้อย่างแข็งแรงและมั่นคงด้วย

 

จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา
 เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com.cn (中新社广西) วันที่ 11 มีนาคม 2565
เว็บไซต์ http://swt.gxzf.gov.cn (广西商务厅 ) วันที่ 19 มกราคม 2565

ที่มา : https://thaibizchina.com/

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]