photo: xinhua

ในระบอบการปกครองของจีน “พรรคคอมมิวนิสต์จีน” (Communist Party of China: CPC) จะเป็นผู้กำหนดนโยบาย และรัฐบาลจะเป็นผู้นำไปปฏิบัติ โดยคณะรัฐบาลเรียกว่า “คณะมุขมนตรี” (State Council) ในปัจจุบัน นโยบายสำคัญ ๆ ของรัฐบาลจีนประกอบด้วยนโยบายภายในที่สำคัญดังนี้

  1. การปฏิรูปเชิงลึกอย่างรอบด้านและมีบูรณาการ 5 ด้าน (five-sphered integrated plan) ได้แก่ ด้านเศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม สังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างประเทศที่มีความรอบด้านใน 4 ด้าน (four comprehensive) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างสังคมอยู่ดีกินดีปานกลางอย่างรอบด้าน การเป็นนิติรัฐอย่างรอบด้าน การปราบปรามทุจริตคอร์รัปชันในพรรคอย่างรอบด้าน
  2. การปราบปรามการทุจริต ประพฤติมิชอบและการคอร์รัปชั่นอย่างเอาจริงเอาจังอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการกำจัดเนื้อร้ายที่คอยกัดกินผลของการพัฒนาประเทศของจีน ตลอดจนแก้ไขความไม่พอใจของประชาชนจีน อีกทั้งภาพลักษณ์ความชอบธรรมของพรรคคอมมิวนิสจีนในการบริหารและปกครองประเทศในระยะยาว
  3. การปฏิรูประบบการบริหารประเทศและธรรมาภิบาล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการประเทศและต่อสู้กับความท้าทายทั้งรูปแบบเก่าและรูปแบบใหม่ ถือเป็นประเด็นที่ได้รับความสำคัญเป็นลำดับต้นแห่งยุค (epoch-making) ภายใต้การนำของประธานาธิบดีสี จิ้นผิงมีสถานะเทียบเท่ากับ “การปฏิรูปเปิดประเทศ” ในสมัยของนายเติ้ง เสี่ยวผิง

พรรคคอมมิวนิสต์จีน

สาธารณรัฐประชาชนจีนปกครองในระบบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์โดยมีพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งมีสมาชิกประมาณ 90 ล้านคน เป็นสถาบันทางการเมืองที่มีอำนาจในการกำหนดนโยบายด้านต่าง ๆ ของประเทศอย่างเบ็ดเสร็จตามแนวทางลัทธิมาร์กซ์-เลนิน ความคิดของอดีตประธานาธิบดีเหมา เจ๋อตง ทฤษฎีการสร้างสรรค์สังคมนิยมที่มีเอกลักษณ์แบบจีนของเติ้ง เสี่ยวผิง รวมถึงทฤษฎีสามตัวแทน และแนวคิดสังคมนิยมที่มีอัตลักษณ์แบบจีนของนายสี จิ้นผิง ซึ่งได้รับการบรรจุลงในรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2561 โดยรัฐบาลและรัฐสภามีหน้าที่คอยปฏิบัติตาม ข้อมติและนโยบายที่พรรคกำหนดโดยยึดหลักประชาธิปไตยรวมศูนย์ (Democratic Centralism) ตามธรรมนูญพรรค กำหนดให้มีการประชุมสมัชชาพรรคแห่งชาติ (Party Congress) ทุก 5 ปี นับตั้งแต่ได้มีการจัดตั้งพรรคขึ้นในปี 2464 จนถึงปัจจุบัน พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้จัดให้มีการประชุมสมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์แล้วรวมทั้งสิ้น 19 ครั้ง โดยได้จัดประชุมสมัชชาพรรคสมัยที่ 19 ไปเมื่อเดือน ตุลาคม 2560 ซึ่งนายสี จิ้นผิง ได้รับเลือกให้เป็นเลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนและประธานาธิบดีจีนต่ออีก 1 สมัย

โครงสร้างระบบบริหารประเทศ

โครงสร้างระบบบริหารประเทศของสาธารณรัฐประชาชนจีน แบ่งออกเป็น 2 ระดับ คือ การบริหารระดับประเทศ และ การบริหารในระดับท้องถิ่น

  1. การบริหารระดับประเทศ (ส่วนกลาง) โดยรัฐบาลกลางเป็นองค์กรที่มีอำนาจควบคุมการปกครองทั่วทั้งประเทศ โดยมีสถาบันบริหาร ได้แก่ สภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติ (National People’s Congress: NPC) ประธานาธิบดี และคณะรัฐบาลบริหารตามมติพรรคคอมมิวนิสต์จีน และผ่านการเห็นชอบของสภา NPC โดยคณะรัฐบาลจีน ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรี (Premier) รองนายกรัฐมนตรี (Vice Premier) มนตรีแห่งรัฐ (State Counsellors) และรัฐมนตรี (Ministers) กระทรวงต่างๆ ประธานคณะกรรมการและสำนักต่าง ๆ ที่ขึ้นตรงต่อสำนักนายกฯ มีฐานะเทียบเท่ากระทรวง อยู่ตำแหน่งคราวละ 5 ปี และไม่เกิน 2 สมัย
  2. การบริหารในระดับท้องถิ่น ในระดับ มณฑล/มหานคร/เขตปกครองตนเอง และระดับท้องถิ่นอื่น ๆ มีอำนาจและสิทธิในการบริหารจัดการในระดับหนึ่ง แต่ต้องสอดคล้องและไม่ขัดกับนโยบาย

ที่มา : วารสาร “วิทย์ไมตรีไทย-จีน” ฉบับเดือนฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2565 “หน่วยงานด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของสาธารณรัฐประชาชนจีน”