1. จีนมีบุคลากรด้าน วท. มากกว่า 112.34 ล้านคน ณ ปี 2020

27 มิ.ย. 65 – ในงานประชุมประจำปีของสมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติของจีน (China Association for Science and Technology) ครั้งที่ 24 ณ นครฉางซา มณฑลหูหนาน ทางตอนกลางของจีน มีการรายงานถึงการพัฒนาทรัพยากรบุคคลด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ของจีน และโครงสร้างอายุของบุคลากร วท. นับถึงสิ้นปี 2019 ร้อยละ 73.89 มีอายุ 39 ปีหรือต่ำกว่า และร้อยละ 9.94 มีอายุมากกว่า 50 ปี โดยบุคลากรด้าน วท. ของจีนมีอายุลดลงในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา และ ณ สิ้นปี 2020 จีนมีบุคลากรที่ทำงานด้าน วท. มากกว่า 112.34 ล้านคน เป็นหนึ่งในแหล่งบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ใหญ่ที่สุดในโลก

2. ประเด็นปัญหาสาขา วท. จีน ปี 2022

27 มิ.ย. 65 – ในการประชุมประจำปีของสมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติของจีน (China Association for Science and Technology) ครั้งที่ 24 ณ นครฉางซา มณฑลหูหนาน นายโยว่ เจิ้ง ผู้อำนวยการสถาบันวิศวกรรมแห่งชาติจีน (Chinese Academy of Engineering) ได้กล่าวถึงประเด็นสำคัญทางวิทยาศาสตร์และวิศวกรรม ได้แก่ การวินิจฉัยโรคอัลไซเมอร์และแนวทางการพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ การพัฒนาเทคโนโลยีการขุดเจาะ สิ่งอำนวยความสะดวกในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำใต้ทะเล การจัดการทางธรณีวิทยาและรูปแบบการมีส่วนร่วมของชุมชนในการดูแลระบบนิเวศวิทยา รวมถึงประเด็นด้านเทคโนโลยีอุตสาหกรรม เช่น การสร้างระบบการบำบัดรักษาโรคทางพันธุกรรม และแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมคาร์บอนต่ำ

3. รัฐบาลจับมือรัฐวิสาหกิจส่งเสริมจ้างงานบัณฑิตเพิ่มขึ้น

27 มิ.ย. 65 – คณะกรรมาธิการกำกับดูแลและบริหารทรัพย์สินรัฐของจีน เปิดเผยว่า รัฐวิสาหกิจจีนเตรียมรับสมัครผู้สำเร็จการศึกษาระดับวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยเพิ่มขึ้นในปีนี้ เพื่อร่วมกระตุ้นการจ้างงาน โดยจะดำเนินการรับสมัครงานทางออนไลน์และออฟไลน์ ในช่วงฤดูร้อนนี้ ทั้งนี้ จีนจะมีผู้สำเร็จการศึกษาระดับวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยในประเทศสูงเป็นประวัติการณ์ที่ 10.76 ล้านคน ในปี 2022 เพิ่มขึ้น 1.67 ล้านคน เมื่อเทียบปีต่อปี โดยผู้จบระดับวิทยาลัยถูกจัดเป็นเป้าหมายหลักของนโยบายจ้างงาน ก่อนหน้านี้จีนได้ดำเนินโครงการส่งเสริมการจ้างงาน ผลักดันการสัมภาษณ์งานทางออนไลน์ เสริมสิ่งจูงใจแก่บริษัทผู้ประกอบการเพื่อเพิ่มลูกจ้าง และกระตุ้นให้เมืองใหญ่ ๆ รับผู้จบการศึกษาระดับวิทยาลัย

4. AI กับการพัฒนาระบบเศรษฐกิจยุคใหม่

27 มิ.ย. 65 – จีนจัดการประชุม World Intelligence Conference ครั้งที่ 6 ระหว่างวันที่ 24 ถึง 25 มิถุนายน ณ นครเทียนจิน เพื่อส่งเสริมการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ นวัตกรรมและการยกระดับผลิตภาพอุตสาหกรรมใหม่ และร่วมผลักดันการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีขับเคลื่อนให้โลกก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลมากขึ้น ด้วยการส่งเสริมการปลูกฝังแนวคิดการพัฒนาและการใช้ประโยชน์จาก AI ในหน่วยงาน ในระบบเศรษฐกิจยุคใหม่ เช่น ด้านการผลิต การขนส่ง และการแพทย์ ปัจจุบันการพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ของจีนมีแนวโน้มเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ โดยมีมูลค่ารวมกว่า 4 แสนล้านหยวน โดยเฉพาะ“เซ็นเซอร์อัจฉริยะ” (intelligent sensor) และ“ยานยนต์เชื่อมต่อและขับขี่อัตโนมัติ” (Connected and Autonomous Vehicle :CAV) ที่มีการเติบโตและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

5. นักวิทย์จีนไขความลึกลับของเทือกเขาอัลไต

28 มิ.ย. 65 – หอดูดาวภูเขาม่วง (Purple Mountain Observatory) สถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์ ร่วมกับมหาวิทยาลัยซุนยัตเซ็น มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาเก๊า มหาวิทยาลัยแอริโซนา สหรัฐอเมริกาที่ร่วมกันวิจัยและได้เปิดเผยความลึกลับของการก่อตัวและที่มาของเทือกเขาอัลไต (Altai) ที่เป็นเทือกเขาขนาดใหญ่ตั้งอยู่กลางทวีปเอเชีย ครอบคลุมพื้นที่ 4 ประเทศ คือ รัสเซีย มองโกเลีย จีนและคาซักสถาน มีขนาดใหญ่เท่า ๆ กับเทือกเขาหิมาลัย มีความหลากหลายทางชีวภาพ เช่น ทุ่งหญ้าสเตปป์ พุ่มไม้ไทกา และทะเลทราย และเมื่อเร็ว ๆ นี้ นักวิจัยค้นพบอุกกาบาตขนาดใหญ่น้ำหนัก 28 ตัน 23 ตัน 18 ตัน 5 ตันและ 0.43 ตัน บริเวณเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ ของจีน โดยสันนิษฐานว่าเทือกเขาอัลไต (Altai) เป็นจุดตกของอุกกาบาตที่ยาวที่สุดในโลก

  • http://www.myzaker.com/article/62b96a5db15ec0386868c890
  • http://digitalpaper.stdaily.com/http_www.kjrb.com/kjrb/html/2022-06/28/content_537696.htm?div=-1
  • https://news.cctv.com/2022/06/27/ARTIo4Qc0ZOpck8I9Uo886Is220627.shtml?spm=C94212.PGZDd8bkBJCZ.E850fz1ryIUd.16
  • https://news.cctv.com/2022/06/16/ARTIB9Fqv7kCf3IDn9WPqMZ4220616.shtml?spm=C94212.PGZDd8bkBJCZ.E850fz1ryIUd.5
  • https://news.cctv.com/2022/06/28/ARTIjRNvWsfrRuOzQHlOScHt220628.shtml?spm=C94212.PGZDd8bkBJCZ.E850fz1ryIUd.112