• คลังความรู้
  • /
  • บทความ
  • /
  • โมเดล ‘การศึกษา + อุตสาหกรรม’ ปูฐาน ‘เศรษฐกิจมุ่งสู่ทะเล’ ของเมืองชินโจว ต้นแบบการเรียนรู้ของไทย

โมเดล ‘การศึกษา + อุตสาหกรรม’ ปูฐาน ‘เศรษฐกิจมุ่งสู่ทะเล’ ของเมืองชินโจว ต้นแบบการเรียนรู้ของไทย

เมื่อไม่นานมานี้ เมืองท่าชินโจวของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงได้เปิดใช้งาน “ฐานฝึกปฏิบัติการทักษะด้านวิศวกรรมเรือและวิศกรรมทางทะเลระดับกลาง-สูง จีน (กว่างซี) – อาเซียน” (Naval Architecture & Ocean Engineering) อย่างเป็นทางการ

ฐานฝึกปฏิบัติการดังกล่าวตั้งอยู่ในเขตทดลองการค้าเสรีจีน (กว่างซี) พื้นที่ย่อยท่าเรือชินโจว ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนและบ่มเพาะ ‘หัวกะทิ’ (Talent) ด้านการผลิตเครื่องจักรและอุปกรณ์ทางทะเลและมหาสมุทร (Marine Equipment Industry) และยกระดับ Soft power ในการพัฒนา ‘เศรษฐกิจมุ่งสู่ทะเล’ หรือ Seaward Economy ของเมืองชินโจวและเขตฯ กว่างซีจ้วง

การจัดตั้งฐานฝึกปฏิบัติการฯ ดังกล่าว เริ่มต้นขึ้นในปี 2564 เมื่อบริษัท CSSC Guangxi Shipbuilding and Offshore Engineering Co., Ltd. (中船广西船舶及海洋工程有限公司) ได้มีข้อริเริ่มการพัฒนาเชิงบูรณาการระหว่าง ‘การศึกษา + อุตสาหกรรม’ ในแวดวงอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องจักรและอุปกรณ์ทางทะเลและมหาสมุทร โดยบริษัทฯ ได้จับมือกับคณะกรรมาธิการเขตทดลองการค้าเสรีจีน (กว่างซี) พื้นที่ย่อยท่าเรือชินโจว และบริษัท CSSC J.K. Education (中船舰客教育公司) ในการก่อตั้งฐานฝึกปฏิบัติการฯ ภายใต้โมเดล 2 ศูนย์ 1 ฐาน ได้แก่ ศูนย์วิจัยและพัฒนา ศูนย์ฝึกอบรม และฐานฝึกปฏิบัติ

ฐานฝึกปฏิบัติการฯ ดังกล่าวใช้เวลาปีเศษในการวางแผนและก่อสร้าง จนกระทั่งมีคุณสมบัติความพร้อมในการเปิดใช้งานจริง มีศักยภาพในการวิจัยพัฒนาเรือรุ่นใหม่ปีละ 30 รายการ และฝึกอบรมทักษะขั้นกลาง – สูงให้บุคลากรได้  ปีละ 1,000 คน/ครั้ง

ฐานฝึกปฏิบัติการแห่งนี้ถือเป็น ‘หมาก’ ตัวสำคัญในกระดานหมากห่วงโซ่อุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการผลิตเครื่องจักรและอุปกรณ์ทางทะเล พลังงานทางเลือก การผลิตอัจฉริยะเมืองชินโจว การวางผังและคลัสเตอร์อุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องในเมืองชินโจว และเป็น ‘ฟันเฟือง’ ชิ้นสำคัญที่ช่วยผลักดันการบูรณาการห่วงโซ่บุคลากรหัวกะทิ ห่วงโซ่อุตสาหกรรม ห่วงโซ่นวัตกรรม และห่วงโซ่การศึกษา


Cr. gx.news

ภายในฐานฝึกปฏิบัติการฯ มีฟังก์ชันครบครัน ทั้งศูนย์จัดแสดงเพื่อให้ความรู้ด้านการต่อเรือ ศูนย์ฝึกอบรมด้วยเทคโนโลยีเสมือนจริง (Virtual Reality – VR) ห้องเรียนทฤษฎี ห้องวิจัยและพัฒนา และห้องมัลติฟังก์ชัน มีโปรแกรมการฝึกปฏิบัติหลายอย่าง เช่น หุ่นยนต์อุตสาหกรรมในงานอ๊อกเชื่อม ฝึกปฏิบัติการประกอบอุปกรณ์ภายในเรือ ควบคุมการยก (Forklift Control) สายการผลิตและประกอบชิ้นส่วน และกราฟฟิกดีไซน์ เพื่อให้นักศึกษามีโอกาสได้ฝึกอบรมเชิงทฤษฎีและลงมือปฏิบัติในสภาพแวดล้อมเสมือนจริง เพื่อเพิ่มพูนความรู้และสัมผัสประสบการณ์จริงนอกตำรา

บริษัท CSSC มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมทางทะเลในเมืองชินโจว ในฐานะที่เป็นรัฐวิสาหกิจด้านการทหารของรัฐบาลจีนและเป็น ‘จ่าฝูง’ ในอุตสาหกรรมการต่อเรือของจีน (Marine Equipment Industry)

ตามรายงาน บริษัท CSSC จะพัฒนากิจการทางทะเลในเขตฯ กว่างซีจ้วงอย่างต่อเนื่อง และจะใช้จุดแข็งของบริษัทฯ ทั้งด้านการวิจัยพัฒนาและการผลิตอุปกรณ์วิศวกรรมทางทะเล และการบ่มเพาะบุคลากรที่มีคุณภาพ ในการผลักดันและขับเคลื่อนคีย์โปรเจกต์ที่เกี่ยวข้อง อาทิ คลองขนส่ง (ผิงลู่) ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พลังงานลมในทะเล การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในทะเลลึก การบูรณาการอุตสาหกรรมกับการศึกษา และพัฒนาระบบการสร้างหลักประกันและสนับสนุนอุตสาหกรรมเครื่องจักรและอุปกรณ์ทางทะเลและมหาสมุทรให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ผลักดันให้เศรษฐกิจมหาสมุทร (Marine Economy) ของกว่างซีพัฒนาก้าวหน้าอย่างมีคุณภาพสูง

ด้านรัฐบาลเมืองชินโจวก็พร้อมที่จะสนับสนุนการพัฒนาและปั้นให้ฐานฝึกปฏิบัติการฯ แห่งนี้เป็นแพลตฟอร์มที่มีบทบาทสำคัญด้านการฝึกอบรมทักษะ การทดสอบวัดระดับ การรับรองคุณสมบัติ และแหล่งความรู้ด้านกิจการทางทะเลของกว่างซี จีนตะวันตก รวมถึงอาเซียนด้วย

บีไอซี เห็นว่า อุตสาหกรรมอุตสาหกรรมเครื่องจักรและอุปกรณ์ทางทะเลและมหาสมุทร เป็นอุตสาหกรรมพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่สำคัญและมีส่วนเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องตั้งแต่ต้นน้ำ – ปลายน้ำ และเป็นอุตสาหกรรมเชิงยุทธศาสตร์ที่มีความสำคัญในแง่ของการป้องกันประเทศ (Defense Related Industry) ด้วย ซึ่งในหลายประเทศให้การส่งเสริมสนับสนุนอย่างจริงจังตั้งแต่การวางรากฐานความพร้อมด้านการศึกษา เพื่อพัฒนาบุคลากรป้อนสู่ตลาดอุตสาหกรรมดังกล่าว

จึงเป็นโอกาสที่ภาคการศึกษาและภาคธุรกิจของไทยจะแสวงหาความร่วมมือกับเมืองชินโจว เพราะการเรียนรู้นอกตำราเรียนถือเป็นสิ่งสำคัญสำหรับนักศึกษายุคใหม่ในการพัฒนาทักษะด้านต่าง ๆ ควบคู่ไปกับความรู้ทางวิชาการที่จะนำไปสู่ความสำเร็จในอนาคต

 

 

จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา : หนังสือพิมพ์กว่างซี เดลี่ (广西日报) วันที่ 14 มีนาคม 2566
เว็บไซต์
www.zgsyb.com (中国水运网) วันที่ 14 มีนาคม 2566
เว็บไซต์
www.gx.chinanews.com.cn (中新网广西) วันที่ 14 มีนาคม 2566  
       เว็บไซต์ http://gx.cssc.net.cn

ที่มา : https://thaibizchina.com/

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]