เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2566 การประชุมรายงานประจำปี 2565 International Manganese Institute EPD (Electrolytic Products Division) Conference ได้จัดขึ้นที่นครหนานหนิง เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง โดยมีผู้เข้าร่วมการประชุมจากทั้งในและต่างประเทศกว่า 250 คน

ภายในงานฯ ได้มีการสรุปรายงานประจำปี 2565 (Annual Review) โดยมีข้อมูลที่น่าสนใจ ระบุว่า ภาพรวมของการบริโภคสินค้าอุตสาหกรรมทั่วโลกกำลังฟื้นตัวดีขึ้น ในปีที่ผ่านมา ทั่วโลกมีกำลังการผลิตแร่แมงกานีสได้ 58.8 ล้านตัน โดยมีประเทศผู้ผลิตหลัก ได้แก่ แอฟริกาใต้ กาบอง ออสเตรเลีย (กาบอง แซงหน้าออสเตรเลียได้เป็นครั้งแรก) และจีนเป็นประเทศที่มีการนำเข้า-ส่งออกแร่แมงกานีสและผลิตภัณฑ์จากแร่แมงกานีสมากที่สุดในโลก

ปี 2565 ประเทศจีนมีกำลังการผลิตแร่แมงกานีส 6.45 ล้านตัน มณฑลที่เป็นแหล่งผลิตสำคัญ ได้แก่ เขตฯ   กว่างซีจ้วง มณฑลกุ้ยโจว และมณฑลหูหนาน สินแร่แมงกานีสส่วนใหญ่ถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมเหล็กกล้า โดย 90%  ใช้ในการผลิตโลหะผสมซิลิคอนแมงกานีส (Silicon-Manganese Alloy) และโลหะผสมเหล็กแมงกานีส (Iron-Manganese Alloy) ส่วนที่เหลือใช้ในการผลิตแมงกานีสไดออกไซด์ที่แยกด้วยประจุไฟฟ้า (Electrolytic Manganese Dioxide) และแมงกานีสซัลเฟต (Manganese Sulfate)

การนำเข้าแร่แมงกานีสของจีน ส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศแอฟริกาใต้ กาบอง ออสเตรเลีย กานา บราซิล   โกตดิวัวร์ และเมียนมา ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนรวม 97.52% ของทั้งประเทศ (การนำเข้าแร่แมงกานีสจากประเทศไทย มีปริมาณ 4,617 ตัน มูลค่านำเข้ารวม 2.76 ล้านหยวน) มณฑลหลักที่มีการนำเข้าแร่แมงกานีสจากต่างประเทศ ได้แก่ นครเซี่ยงไฮ้ มณฑลเจ้อเจียง มณฑลเจียงซู มณฑลฝูเจี้ยน และเขตฯ กว่างซีจ้วง ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนรวม 58.1% ของทั้งประเทศ

แร่แมงกานีสมีความสำคัญต่อโครงสร้างอุตสาหกรรมจีน ทรัพยากรแร่แมงกานีสที่มีคุณภาพสูงในจีนส่วนใหญ่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ อย่างเช่น โลหะผสมแมงกานีส (Ferro Manganese) ต้องอาศัยการนำเข้ามากกว่า 90% ในขณะเดียวกัน จีนก็เป็นประเทศผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์แมงกานีสรายใหญ่ของโลก โดยเฉพาะแมงกานีสแยกด้วยประจุไฟฟ้า แมงกานีสไดออกไซด์ และแมงกานีสซัลเฟต

แนวโน้มที่จับตามองสำหรับอุตสาหกรรมแมงกานีสในประเทศจีน คือ การดำเนินนโยบายลดการสิ้นเปลืองพลังงานอย่างเข้มข้นของรัฐบาลจีน ได้ส่งผลให้กำลังการผลิตผลิตภัณฑ์โลหะผสมซิลิคอนแมงกานีส (Silicon-Manganese Alloy) และแมงกานีสแยกด้วยประจุไฟฟ้าในจีนมีแนวโน้มลดลง

อย่างไรก็ดี การพัฒนาอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับพลังงานทางเลือกและวัสดุใหม่ (New Material) ในประเทศจีน เป็นแรงขับเคลื่อนใหม่ที่ทำให้ความต้องการใช้แร่แมงกานีสขยายตัวขึ้น อย่างเช่น แมงกานีสไดออกไซด์ แมงกานีสซัลเฟต ถูกใช้เป็นจำนวนมากในผลิตภัณฑ์กักเก็บพลังงานและแบตเตอรี่พลังงานทางเลือก และประเทศจีนยังคงพึ่งพาการนำเข้าสินแร่เชิงกลยุทธ์ (Strategic Mineral) จากต่างประเทศในปริมาณมาก รวมถึงแร่แมงกานีส

ภายใต้บริบทใหม่ของเศรษฐกิจจีน นอกจากการกระตุ้นทุกภาคส่วนของตลาด (Market Entity) ในการเข้าไปมีส่วนร่วมในการสำรวจแร่ เพื่อสร้างแหล่งสำรองทางทรัพยากรที่พร้อมบุกเบิกและใช้ประโยชน์ได้แล้ว ยังต้องเร่งฝีก้าในการ ‘ก้าวออกไป’ ของภาคธุรกิจจีนเพื่อพัฒนาความร่วมมือด้านกำลังการผลิตระหว่างประเทศ การเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดสรรทรัพยากรทั่วโลก การปฏิรูปการดำเนินธุรกิจแบบดั้งเดิมที่ล้าสมัยให้ก้าวไปสู่รูปแบบการดำเนินธุรกิจที่ลดการสิ้นเปลืองทรัพยากร มีเทคโนโลยีคอนเทนต์สูง และสร้างมลพิษต่ำ

บีไอซี ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เขตฯ กว่างซีจ้วงเป็นหนึ่งใน ‘ผู้เล่น’ ตัวสำคัญในอุตสาหกรรมแร่แมงกานีส ทั้ง   ในฐานะผู้ผลิตและผู้นำเข้ารายใหญ่ของจีน นอกจากนี้ เมื่อปลายปี 2565 เขตฯ กว่างซีจ้วงได้เปิดตัวแพลตฟอร์มซื้อขายสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodity) ที่มีชื่อว่า  ‘Beibu Gulf Mercantile Exchange’ (北部湾(广西)大宗商品交易平台) เพื่อพัฒนาให้อุตสาหกรรมแร่แมงกานีสของมณฑลมีความครบวงจร และสร้างอำนาจการต่อรองในอุตสาหกรรมดังกล่าว

การดำเนินงานในระยะแรกของแพลตฟอร์มดังกล่าวจะมุ่งเน้นที่ ‘ผลิตภัณฑ์แมงกานีสแบบ Full-line products’ อาทิ แร่แมงกานีสนำเข้า โลหะผสมซิลิคอนแมงกานีส แมงกานีสแยกด้วยประจุไฟฟ้า แมงกานีสไดออกไซด์ แมงกานีสซัลเฟต และลิเธียมแมงกานีส  และมีแผนจะขยายสายผลิตภัณฑ์ไปยังกลุ่มโลหะนอกกลุ่มเหล็ก (Non-Ferrous Metals) กลุ่มธัญพืช (Grains) กลุ่มผลิตภัณฑ์ห่วงโซ่ความเย็น (Cold chain) รวมถึงกลุ่มปิโตรเลียมและเคมีภัณฑ์ (Petroleum & Chemical) ในระยะต่อไปด้วย

ทั้งนี้ แพลตฟอร์มดังกล่าวได้ตั้งเป้าหมายว่าจะเป็น ‘ศูนย์ซื้อขายสินค้าโภคภัณฑ์ที่มีบทบาทสำคัญในภูมิภาค’ เป็น ‘จุดชำระบัญชีการค้า’ และเป็น ‘จุดกำหนดราคาที่คิดราคาด้วยสกุลเงินหยวน’ ที่เชื่อมการเทรดแบบ Spot และ Futures / Inbound and Outbound / Online และ Offline และการจัดหาเงินทุน (Financing)

 

 

จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา : เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com.cn (中新网广西) วันที่ 10 มีนาคม 2566
เว็บไซต์
http://gx.news.cn (广西新闻网) วันที่ 14 พฤศจิกายน 2565
เว็บไซต์ www.manganese.org

ที่มา : https://thaibizchina.com/