• คลังความรู้
  • /
  • บทความ
  • /
  • มณฑลเจียงซีออกแผนการพัฒนาอุตสาหกรรมน้ำมันเมล็ดชาเร่งพัฒนาสินค้า GI ของท้องถิ่น – ศูนย์บริการข้อมูลธุรกิจไทยในจีน (Thailand Business Information Center in China)

มณฑลเจียงซีออกแผนการพัฒนาอุตสาหกรรมน้ำมันเมล็ดชาเร่งพัฒนาสินค้า GI ของท้องถิ่น – ศูนย์บริการข้อมูลธุรกิจไทยในจีน (Thailand Business Information Center in China)

ปัจจุบัน น้ำมันเมล็ดชาเป็นผลิตภัณฑ์ทางเลือกที่กำลังเป็นที่นิยมในหมู่คนรักสุขภาพ เนื่องจากมีสรรพคุณในการช่วยลดคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (LDL) ป้องกันการเกิดโรคความดัน โรคเบาหวาน และโรคหัวใจได้ และเป็นสมุนไพรจีนชนิดหนึ่งที่มีสรรพคุณในการแก้ท้องผูก ล้างพิษในร่างกายและลำไส้ โดยน้ำมันเมล็ดชาเป็นผลิตภัณฑ์ที่สกัดจากเมล็ดของต้นชาคามิเลีย (Camellia Oleifera) มณฑลเจียงซีมีประวัติการผลิตน้ำมันเมล็ดชายาวนานกว่า 2,300 ปี ด้วยปัจจัยทางภูมิศาสตร์ของมณฑลเจียงซีซึ่งมีพื้นที่ภูเขาสูงปราศจากมลพิษทางธรรมชาติและภูมิอากาศที่เอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูกชา โดยมีพื้นที่การปลูกชารวม 6.46 ล้านไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ปลูกชาคามิเลียหลัก อาทิ พื้นที่ทางตอนใต้ของเมืองก้านโจว โดยเฉพาะอำเภอซ่างหยูของเมืองก้านโจว มีพื้นที่การปลูกชากว่า 166,666 ไร่ ปริมาณการผลิต 48,000 ตัน มูลค่าการผลิต 1.2 หมื่นล้านหยวน รวมถึงเขตกว่างซิ่นของ เมืองซ่างเหร่า อำเภอหยู่สุ่ยของเมืองซินหยู และเมืองจี่อาน ปัจจุบัน มณฑลเจียงซีเป็นแหล่งการผลิตหลักของน้ำมันเมล็ดชาของจีนและน้ำมันเมล็ดชาได้กลายเป็นสินค้า GI ของมณฑลเจียงซี โดยมียี่ห้อที่มีชื่อเสียง อาทิ “Green-Sea” ของบริษัท Jiangxi Green-Sea Oil-Fat จำกัด

ล่าสุด เมื่อเดือนมกราคม 2566 รัฐบาลเจียงซีได้ออกแผนการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตน้ำมันเมล็ดชาซึ่งเป็นแผนการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตน้ำมันเมล็ดชาท้องถิ่นฉบับแรกของจีน เพื่อส่งเสริมการเพาะปลูกชาและอุตสาหกรรมการผลิตน้ำมันเมล็ดชา โดยมีมาตรการสำคัญเพื่อบรรลุเป้าหมายมูลค่าการผลิตของอุตสาหกรรมน้ำมันเมล็ดชาให้สูงกว่า 1 แสนล้านหยวนภายในปี 2568 ดังนี้

(1) การเกษตรแบบผสมผสาน อาทิ การสนับสนุนการพัฒนาธุรกิจรูปแบบผสมผสานระหว่างการพัฒนาอุตสาหกรรม “น้ำมันเมล็ดชา+การท่องเที่ยว” “น้ำมันเมล็ดชา+ร้านอาหาร” และ “น้ำมันเมล็ดชา+วัฒนธรรม” ซึ่งจะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรเฉลี่ยมากกว่า 20,000 หยวนต่อครัวเรือน

(2) การขยายการเพาะปลูกชาคามิเลีย ให้มากกว่า 10 ล้านไร่ภายในปี 2568 โดยเฉพาะส่งเสริมการปลูกชาในเมืองก้านโจว เมืองจี่อาน และเมืองซินหยู โดยเมืองซินหยูตั้งเป้าหมายขยายพื้นที่การปลูกชาให้มากกว่า 125,000 ไร่ และเพิ่มมูลค่าการผลิตให้สูงกว่า 3 พันล้านหยวนภายในปี 2568

(3) การยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์ ส่งเสริมให้ผู้ผลิตน้ำมันเมล็ดชาปฏิบัติตามมาตรฐานการผลิตน้ำมันเมล็ดชาของมณฑลเจียงซีอย่างเคร่งครัด โดยจะจัดทำฐานข้อมูลการผลิตและการแปรรูปและนำเข้าระบบดิจิทัล เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบคุณภาพของผลิตภัณฑ์น้ำมันเมล็ดชาได้ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ของผลิตภัณฑ์น้ำมันเมล็ดชาของมณฑลเจียงซีให้มีความน่าเชื่อถือยิ่งขึ้น รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันทางตลาดของผลิตภัณฑ์ให้สูงเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศ

  ผลิตภัณฑ์น้ำมันเมล็ดชาเจียงซี                                                                   เมล็ดชาคามิเลียเจียงซี

 

โดยสรุป การส่งเสริมอุตสาหกรรมน้ำมันเมล็ดชาไม่เพียงแต่ช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรให้แก่เกษตรของมณฑลเจียงซี แต่ยังเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญที่รัฐบาลมณฑลเจียงซีนำมาใช้เพื่อขจัดความยากจนและสร้างความมั่นคงทางรายได้ให้กับประชาชนในท้องถิ่น โดยเฉพาะเกษตรกรในชนบทอย่างยั่งยืน โดยปัจจุบัน มณฑลเจียงซีมีบริษัทแปรรูปน้ำมันจากเมล็ดชามากกว่า 280 ราย อาทิ บริษัท Jiangxi Qiyunshan Food จำกัด

บริษัท Jiangxi Tianyu Oil & Fat จำกัด บริษัท Jiangxi Qinglong Hi-tech จำกัด บริษัท Jiangxi Luyuan Oil Industry จำกัด เป็นต้น โดยมีปริมาณการผลิตน้ำมันชารวมกว่า 170,000 ตันต่อปี และมูลค่าการผลิต 5 หมื่นล้านหยวน สูงเป็นอันดับ 2 ของประเทศ รองจากมณฑลหูหนาน

แหล่งอ้างอิง http://www.jx.chinanews.com.cn/news/2023/0102/73150.html

http://jx.people.com.cn/n2/2023/0103/c190181-40251827.html

ที่มา : https://thaibizchina.com/

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]