นครฉงชิ่งคิดค้นเทคโนโลยีเปลี่ยนทะเลทรายเป็นที่ดินทำกินให้เกษตรกร

 

หลายคนอาจยังไม่รู้ว่าภายใต้ความสวยงามของทะเลทรายนั้นมีภัยร้ายซ่อนอยู่ ปัจจุบันมีประชากรราว 1 พันล้านคนทั่วโลกที่ประสบกับภัยแล้งและได้รับผลกระทบจากวิกฤติพื้นดินกลายสภาพเป็นทะเลทราย ได้แก่ 1) ผลกระทบทางการเกษตร เกษตรกรไม่สามารถเพาะปลูกพืชได้ 2) แม่น้ำ อ่างเก็บน้ำ และลำคลองอุดตัน  3). ความเสียหายกับระบบคมนาคม อาทิ ปกคลุมรางรถไฟ ถนน และพื้นทรายทำให้ถนนยุบตัวได้ง่าย 4) พายุทรายทำลายระบบสื่อสาร สายไฟ และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่น ๆ รวมถึงสร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน 5) เป็นอุปสรรคต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม เพิ่มระดับความยากจนและความเหลื่อมล้ำในภูมิภาค

ศาสตราจารย์อี้ จื้อเจียน และทีมงานจากมหาวิทยาลัยฉงชิ่งเจียวทง ได้คิดค้นเทคโนโลยีเปลี่ยนทะเลทรายเป็นดิน เทคโนโลยีดังกล่าวแตกต่างจากเทคโนโลยีฟื้นฟูทะเลทรายทั่วไปเพราะสามารถทำการเพาะปลูกได้ มีคุณสมบัติอุ้มน้ำ มีความชื้นและสารอาหารสูง เหมาะแก่การเจริญเติบโตของพืช และยังสามารถป้องกันการเปลี่ยนกลับไปเป็นทรายได้อย่างยั่งยืน

เทคโนโลยี “เปลี่ยนทะเลทรายเป็นดิน” ได้ถูกทดสอบกับพื้นที่ทะเลทรายในประเทศจีน อาทิ ทะเลทรายอูลันบูห์ (Ulan Buh Desert) ในเขตปกครองตนเองมองโกเลียใน ทะเลทรายทากลามากันในเมืองเหอเถียน เขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ ทุ่งหญ้ารั่วเอ๋อไก้ในมณฑลเสฉวน หมู่เกาะซีซาในมณฑลไห่หนาน และเกาะต่าง ๆ ในเมืองเซี่ยเหมิน มณฑลฝูเจี้ยน ฯลฯ นอกจากนี้ ยังได้ทดสอบมาตราส่วนภายใต้สภาพพื้นที่ทะเลทรายต่างประเทศที่มีคุณสมบัติแตกต่างกัน อาทิ ทะเลทรายสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และทะเลทรายซาฮาราในแอฟริกา ฯลฯ ซึ่งมีพื้นที่รวม 11.33 ตารางกิโลเมตร

ดินสำหรับการเพาะปลูกจากโครงการดังกล่าวให้ผลผลิตที่มากกว่าและประหยัดน้ำมากกว่า รวมถึงพืชยังมีความแข็งแรงกว่าเพาะปลูกในดินทั่วไป จากการทดสอบในทะเลทรายทากลามากัน พบว่า หญ้าไข่มุก มีปริมาณผลผลิต 9-15 กิโลกรัม/ตารางเมตร เทียบเป็นมูลค่า 4.5 หยวน/ตารางเมตร และจากการทดสอบในเขตปกครองตนเองอาล่าซ่าน (Alxa League) เขตปกครองตนเองมองโกเลียในพบว่า สามารถเพาะปลูกข้าวฟ่างเฉลี่ย 1.18 กิโลกรัม/ตารางเมตร หัวไชเท้า 12-19.5 กิโลกรัม/ตารางเมตร พริก 3.75-4.49 กิโลกรัม/ตารางเมตร มะเขือเทศ 9-15 กิโลกรัม/ตารางเมตร ผักและผลไม้ชนิดอื่น ๆ เกิน 9 หยวน/ตารางเมตร

ศาสตราจารย์อี้ เปิดเผยด้วยว่า ในปลายปี 2565 ทีมงานของเขาวางแผนที่จะนำเทคโนโลยีการฟื้นฟูระบบนิเวศ “เปลี่ยนทะเลทรายเป็นที่ดิน” ในพื้นที่ 2 ตารางกิโลเมตร โดยจะก่อตั้งศูนย์สาธิตโดยร่วมมือกับองค์กรท้องถิ่น อาทิ ทะเลทรายคูบูฉีในเมืองเอ้อเอ่อตัวซือ เขตปกครองตนเองมองโกเลียใน ทะเลทรายทากลามากันในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ ฯลฯ

เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2565 มหาวิทยาลัยฉงชิ่งเจียวทงเปิดเผยว่า ภายหลังจากการทดลองและวิจัยเป็นระยะเวลายาวนานกว่า 5 ปี ถึงเวลาแล้วที่จะนำเทคโนโลยีดังกล่าวไปใช้จริง โดยมหาวิทยาลัยฉงชิ่งเจียวทงได้ลงนามในโครงการฟื้นฟูทะเลทราย จำนวน 2 โครงการ ครอบคลุมพื้นที่ทะเลทรายและทะเลทรายหินกรวดกว่า 86.66 ตารางกิโลเมตร

 

ผลการศึกษาความแห้งแล้งซ้ำซากและความเสี่ยงการเข้าสู่การกลายเป็นทะเลทรายของประเทศไทยของกรมพัฒนาที่ดินระบุว่า ประเทศไทยมีพื้นที่เสี่ยงต่อภาวะการเป็นทะเลทรายในระดับรุนแรงจำนวน 6.93 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 2.17 ของพื้นที่ทั้งประเทศ จำแนกเป็น พื้นที่ราบ 2.39 ล้านไร่ และพื้นที่สูง 4.54 ล้านไร่ แม้ว่าปัจจุบัน ประเทศไทยยังไม่ได้รับผลกระทบจากสภาวการณ์กลายเป็นทะเลทราย แต่การเตรียมความพร้อมในการศึกษาวิจัยเทคโนโลยีดังกล่าวจะช่วยป้องกันภาวะการกลายเป็นทะเลทรายได้ในอนาคต

 

แหล่งข้อมูลอ้างอิง : เว็บไซต์ทางการของสำนักข่าว CQ News (เข้าถึงครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2565)

http://cq.news.cn/2022-07/11/c_1128821098.htm

ที่มา : https://thaibizchina.com/

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]