เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2565 นครฉงชิ่งได้รับอนุมัติให้จัดตั้งเขตสาธิตการใช้เงินหยวนดิจิทัลอย่างเป็นทางการ พร้อมกับเมืองสำคัญอื่น ได้แก่ นครเทียนจิน นครกว่างโจว นครฝูโจว เมืองเซี่ยเหมิน นครหังโจว เมืองหนิงโป เมืองเวินโจว เมืองหูโจว เมืองเช่าซิง และเมืองจินหัว รวมทั้งพื้นที่จัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวในกรุงปักกิ่งและเมืองจางจยาโข่ว

จีนเริ่มพัฒนาดิจิทัลหยวนตั้งแต่ปี 2557 และได้ทำการวิจัยและพัฒนาการใช้งานและด้านความปลอดภัยมาอย่างต่อเนื่องด้วยการขยายพื้นที่การทดลองใช้งานเงินดิจิทัลหยวนเป็นระลอก ๆ โดยเมื่อปลายปี 2561 ธนาคารกลางจีนได้ทดสอบการใช้งานเงินหยวนดิจิทัลในเขตสาธิตการใช้งานเงินหยวนดิจิทัล 4 แห่ง ได้แก่ เมืองเซินเจิ้น เมืองซูโจว เขตสยงอัน และนครเฉิงตู และเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2563 ได้เพิ่มเขตสาธิตฯ อีก 6 แห่ง ได้แก่ นครเซี่ยงไฮ้ มณฑลไห่หนาน นครฉางซา นครซีอาน เมืองชิงต่าว และเมืองต้าเหลียน

ที่ผ่านมานครเฉิงตูได้ทดสอบการใช้เงินหยวนดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 วันที่ 3 กรกฎาคม 2564 และวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 สำนักงานกำกับดูแลและบริหารการเงินนครเฉิงตูร่วมกับธนาคาร Bank of China สาขานครเฉิงตู ได้จัดกิจกรรมสุ่มแจกเงินดิจิทัลหยวนให้แก่ประชาชน เพื่อใช้จ่ายในร้านค้าในนครเฉิงตูกว่า 11,000 แห่ง ระบบขนส่งสาธารณะ เช่น รถโดยสารสาธารณะ รถไฟฟ้าใต้ดิน รถจักรยาน และแอปพลิเคชันต่าง ๆ เพื่อสร้างความคุ้นเคยให้ประชาชนและทดสอบอุปสรรค/ปัญหาที่เกิดขึ้นในการใช้งานจริง

นอกจากนี้ คณะกรรมการจัดงานกีฬามหาวิทยาลัยโลก (FISU World University Games) ครั้งที่ 31 ซึ่งมีกำหนดจัดที่นครเฉิงตูระหว่างวันที่ 26 มิ.ย. – 7 ก.ค. 2565 กำหนดจะใช้เงินดิจิทัลหยวนภายในบริเวณสถานที่แข่งขันฯ เช่น หมู่บ้านนักกีฬา สนามแข่งกีฬา ร้านค้า ร้านอาหาร และมหาวิทยาลัยเฉิงตู เช่นเดียวกับที่ใช้ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวที่กรุงปักกิ่งมาแล้ว

โดยที่การพัฒนาดิจิทัลหยวนได้รับการบรรจุเป็นภารกิจสำคัญในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมระยะ 5 ปี (ค.ศ. 2021-2025) ฉบับที่ 14 และตัวอย่างความผันผวนที่เกิดกับสกุลเงินรูเบิลเมื่อเกิดความตึงเครียดระหว่างรัสเซียกับชาติตะวันตก น่าจะทำให้จีนเร่งพัฒนาและส่งเสริมบทบาทเงินดิจิทัลหยวนเพื่อลดความครอบงำและอิทธิพลของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐในตลาดเงินโลก มณฑลและเมืองต่าง ๆ ที่ได้รับการอนุมัติเป็นเขตสาธิตฯ รวมถึงนครเฉิงตูและนครฉงชิ่งจึงต้องเร่งการทดลองใช้เงินดิจิทัลหยวนให้กว้างขวางยิ่งขึ้น โดยครอบคลุมตั้งแต่การอุปโภคบริโภค ท่องเที่ยว อีคอมเมิร์ซ ไปจนถึงภาคอุตสาหกรรม การค้าและการเงิน รวมถึงประเมินความเสี่ยงด้านความปลอดภัยในการใช้ เพื่อให้การใช้งานดิจิทัลหยวนเกิดขึ้นจริงจังต่อไป

สกุลเงินดิจิทัลหยวน แตกต่างจากเงินคริปโตเคอร์เรนซีอื่นๆ เพราะหยวนดิจิทัลถูกกำกับและผลิตโดยธนาคารกลางและรัฐบาลจีน และไม่ได้มีไว้เพื่อการเก็งกำไร ดิจิทัลหยวนเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยผลักดันเศรษฐกิจดิจิทัลของจีน และมีโอกาสจะก้าวมาเป็นสกุลเงินหลักของโลก ในอนาคตอาจเข้ามามีบทบาทด้านการค้า การลงทุนระหว่างประเทศมากขึ้น ซึ่งจีนอาจจะกำหนดให้ประเทศคู่ค้าของจีนใช้ดิจิทัลหยวนในการชำระเงินระหว่างประเทศ รวมถึงอาจจะมีการขยายการใช้งานไปสู่ภาคธุรกิจระหว่างประเทศมากขึ้น ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยที่ทำธุรกิจกับจีนควรปรับตัวและติดตามความเคลื่อนไหวของดิจิทัลหยวน ซึ่งจะมีอิทธิพลและผลกระทบต่อภาคธุรกิจไทยในระยะยาว  นอกจากนี้ ไทยได้มีการศึกษาการใช้เงินดิจิทัลเช่นกัน โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ร่วมกับธนาคารพาณิชย์ 8 แห่งได้ริเริ่ม “โครงการอินทนนท์” ตั้งแต่ปี 2560 เพื่อศึกษาประสิทธิภาพและความเป็นไปได้ของการใช้ CBDC หรือ Central Bank Digital Currency ในภาคสถาบันการเงิน รวมถึงมีการทดลองการโอนเงินข้ามประเทศ ทั้งนี้ ไทยอาจศึกษารูปแบบการพัฒนาหยวนดิจิทัลของจีนมาปรับใช้กับการพัฒนา CBDC เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเงินสกุลดิจิทัลของไทย ให้มีประสิทธิภาพและมีความมั่นคงปลอดภัย

 

แหล่งข้อมูลอ้างอิง : เว็บไซต์ 163.com และ chinadaily.com (เข้าถึงครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 15 เมษายน 2565)

https://www.163.com/dy/article/H3SVIR5M0552E55B.html

https://enapp.chinadaily.com.cn/a/202204/05/AP624b7afda3104446d8d14efd.html

 

ที่มา : https://thaibizchina.com/