นับเป็นช่วงขาขึ้นสำหรับ เศรษฐกิจอวกาศ” หรือ Space Economy ซึ่งเกิดขึ้นภายใต้สมรภูมิการแข่งขันของชาติมหาอำนาจด้านอวกาศในโลกยุคใหม่อย่างจีนและสหรัฐอเมริกา ทั้งนี้  นักเศรษฐศาสตร์​คาดการณ์กันว่า ในอีก 20 ปีข้างหน้า ตลาดอุตสาหกรรมอวกาศทั่วโลกจะมีมูลค่าราว 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งคิดเป็นมูลค่าหลายเท่าของตลาดเซมิคอนดักเตอร์ในปัจจุบัน

ในฐานะคนทั่วไปอาจคิดว่า เศรษฐกิจอวกาศ” เป็นเหมือนเรื่องไกลตัว แต่ท่านทราบหรือไม่ว่า… ปัจจุบัน เทคโนโลยีเหนือพื้นโลกแทรกซึมอยู่รอบตัวเรา และมีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตประจำวันและก่อให้เกิดประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมต่างๆ มากมาย อาทิ อุตุนิยมวิทยา โทรคมนาคม การขนส่งและโลจิสติกส์ การเดินเรือ การบิน การจราจร การแพทย์ ตลอดจนเทคโนโลยีอื่นที่เกี่ยวข้องที่เราๆ ท่านๆ ใช้กันทุกวันนี้

หากพูดถึงเรื่อง เศรษฐกิจอวกาศ” ต้องยอมรับว่า ตลอดทศวรรษที่ผ่านมา จีนได้สร้างความฮือฮาให้กับวงการอวกาศทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการสร้าง สถานีอวกาศเทียนกง (Tiangong) และส่งโมดูลส่วนต่างๆ ขึ้นไปประกอบ และการส่งทีมนักบินอวกาศจีนทั้งชายและหญิงออกไปปฏิบัติภารกิจนอกโลกแล้วหลายชุด ยังไม่นับรวมการประกาศ Mission Possible —- ภารกิจ ‘เหยียบดวงจันทร์’ ภายในปี 2573 นอกจากนี้ บนหน้าสื่อจะเห็นข่าวความเคลื่อนไหวของจีนกับการส่งดาวเทียมนำร่องในตระกูลเป๋ยโต่วเข้าสู่วงโคจรรอบโลก ซึ่งมีจำนวนเกือบ 60 ดวงแล้ว

ที่ผ่านมา รัฐบาลจีนให้น้ำหนักกับการพัฒนาเทคโนโลยีดาวเทียมเป๋ยโต่วเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเทคโนโลยีดาวเทียมโทรคมนาคม การจราจรทางอากาศ การพยากรณ์สภาพอากาศ ภูมิสารสนเทศ และการกำหนดพิกัดนำร่อง ซึ่งภาคส่วนที่เกี่ยวข้องของประเทศไทยสามารถแสวงหาแนวทางความร่วมมือและการใช้ประโยชน์จากเครือข่ายดาวเทียมเป๋ยโต่ว ทั้งในกรอบการแลกเปลี่ยนทางการศึกษาวิจัย การค้าการลงทุนเชิงพาณิชย์ และการพัฒนาขีดความสามารถของบุคลากรในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง

ก่อนหน้านี้ BIC เคยนำเสนอความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับ นิคมอุตสาหกรรมภูมิสารสนเทศและการประยุกต์ใช้ดาวเทียมจีน-อาเซียน” หรือ China-ASEAN Geographic Information and Satellite Application Industrial Park (中国-东盟地理信息与卫星应用产业园) ที่นครหนานหนิงสร้างขึ้นเพื่อวางรากฐานให้กับการพัฒนาอุตสาหกรรมกำลังทวีบทบาทสำคัญและสร้างความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและการใช้ชีวิตประจำวันอย่าง ‘อุตสาหกรรมเทคโนโลยีดาวเทียมและอวกาศ’ โดยเพิ่งก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อต้นปี 2566

โดยนิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้ได้รับการกำหนดตำแหน่ง (positioning) ให้มุ่งเน้นการพัฒนาข้อมูลเชิงพาณิชย์ด้านการสำรวจระยะไกลด้วยดาวเทียม (Satellite Remote Sensing) และข้อมูลด้านภูมิสารสนเทศเป็นพื้นฐาน รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง อาทิ ดาวเทียม ภูมิสารสนเทศ 5G และปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อนำไปต่ออยดและประยุกต์ใช้เชิงพาณิชย์ในสาขาต่างๆ อาทิ เมืองอัจฉริยะ การขนส่งและโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ ทะเลและฟาร์มปศุสัตว์ การพัฒนาและอนุรักษ์แม่น้ำ การเกษตรอัจฉริยะ รวมไปถึงความมั่นคงตามแนวชายแดน

ความเคลื่อนไหวใหม่เพื่อผลักดันการยกระดับเทคโนโลยีการสำรวจระยะไกลด้วยดาวเทียมและการนำเทคโนโลยีดังกล่าวไปประยุกต์ใช้อย่างแพร่หลายในภูมิภาค เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2566 ได้มีการจัดงานประชุมร่วมคณะกรรมการกำกับการดำเนินการ (Steering Committee) และคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญประจำศูนย์การประยุกต์ใช้ดาวเทียมเพื่อการสำรวจระยะไกลจีน-อาเซียน หรือ China-ASEAN Satellite Remote Sensing Application Center ที่นครหนานหนิง โดยมีผู้แทนจากส่วนกลางและชาติสมาชิกอาเซียนอาเซียนเข้าร่วมด้วย ซึ่งรวมถึงนายตติยะ ชื่นตระกูล รอง ผอ. สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ในฐานะผู้แทนไทย

ภายในงานประชุมฯ ได้มีการประกาศแผนการก่อสร้างและพัฒนาศูนย์ China-ASEAN Satellite Remote Sensing Application Center ระยะ5 ปี (ระหว่างปี 2566-2570) และผู้เชี่ยวชาญได้มีการแลกเปลี่ยนในประเด็นสำคัญ อาทิ การสร้างกลไกความร่วมมือที่ยั่งยืนด้านการสำรวจระยะไกลด้วยดาวเทียมระหว่างจีนกับอาเซียน การสร้างแพลตฟอร์มเครือข่ายข้อมูลดาวเทียมจีน-อาเซียนบนระบบคลาวด์ การส่งเสริมการบ่มเพาะ ‘หัวกะทิ’ และการแลกเปลี่ยนการฝึกอบรมด้านเทคนิคการใช้งานดาวเทียมสำรวจระยะไกลร่วมกัน

นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาการวิจัยและการนำบริการเสริมของผลิตภัณฑ์การสำรวจระยะไกลด้วยดาวเทียมไปประยุกต์ใช้ร่วมกัน การพัฒนาความร่วมมือในโครงการด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมการสำรวจระยะไกลด้วยดาวเทียมจีน-อาเซียนร่วมกัน รวมถึงการแสวงหาแนวทางการจัดตั้งกลไกลและความร่วมมือเชิงพาณิชย์ด้านการสำรวจระยะไกลด้วยดาวเทียมจีน-อาเซียน

บีไอซี ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในบริบทของการเป็น Gateway to ASEAN ของเขตฯ กว่างซีจ้วง ตลอดหลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลจีน(กว่างซี)ได้ใช้งาน China-ASEAN Expo ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีที่นครหนานหนิง เป็นหนึ่งในเวทีสำคัญที่จีนใช้ส่งเสริมการพัฒนาและขับเคลื่อนความร่วมมือด้านเทคโนโลยีอวกาศกับชาติสมาชิกอาเซียน โดยมีการจัดฟอรัมและนิทรรศการที่เกี่ยวข้องเป็นประจำทุกปี

 

“ประเทศไทยจำเป็นต้องเร่งเดินหน้าและตักตวงโอกาสในการพัฒนาความร่วมมือด้านการศึกษา วิจัย และพัฒนานวัตกรรมเกี่ยวกับเทคโนโลยีอวกาศกับชาติมหาอำนาจใหม่ด้านอวกาศอย่างจีน เพื่อต่อยอดและเสริมสร้างศักยภาพการผลิตในอุตสาหกรรมดาวเทียมและอวกาศ อย่าพลาดโอกาสหรือตกขบวน”

 

เทคโนโลยีดาวเทียม เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่รัฐบาลไทยให้ความสำคัญเนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต (New Engine of Growth) ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสตาร์ทอัปไทยสามารถพัฒนาความร่วมมือและใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มด้านเทคโนโลยีดาวเทียมและอวกาศที่ตั้งอยู่ในนครหนานหนิง โดยเฉพาะการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดาวเทียมเป๋ยโต่วที่สอดคล้องกับนิเวศเศรษฐกิจ (ecosystem) ของประเทศไทย การพัฒนาคนที่มีทักษะด้านเทคโนโลยีดาวเทียมและแอปพลิเคชัน การดึงดูดให้องค์กรในกว่างซีเข้ามามีส่วนร่วมในซัพพลายเชนอุตสาหกรรมดาวเทียมและอวกาศของไทย รวมทั้งการต่อยอดจากฐานอุตสาหกรรมเดิมที่มีอยู่แล้วในประเทศ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มที่สูงขึ้น

โดยรัฐบาลกว่างซีได้แสดงความพร้อมในการให้การสนับสนุน ทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐาน การศึกษาวิจัย นโยบายและสิทธิประโยชน์ และการให้บริการข้อมูลแบบเปิด ซึ่งจะช่วยให้สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ง่าย ตลอดจนการลดข้อจำกัดในการใช้งาน จะช่วยสร้าง ‘โอกาส’ ให้กับธุรกิจสตาร์ทอัปไทยในการนำเครื่องมือและข้อมูล Insight ที่มีประสิทธิภาพไปศึกษาต่อยอดและพัฒนาโซลูชัน แอปพลิเคชัน และบริการต่าง ๆ ป้อนสู่ตลาดปลายน้ำ ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้งานที่หลากหลายระหว่างไทยและจีน

 

 

จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา
หนังสือพิมพ์ Guangxi Daily (广西日报) วันที่ 24 พฤษภาคม 2566
       เว็บไซต์ http://dmxxg.gxzf.gov.cn (中国东盟信息港) วันที่ 24 พฤษภาคม 2566
เว็บไซต์
www.mnr.gov.cn (中国自然资源部) วันที่ 07 พฤศจิกายน 2565

 

 

ที่มา : https://thaibizchina.com/