• คลังความรู้
  • /
  • บทความ
  • /
  • ธัญพิสิษฐ์ เฉิน | นักศึกษาวิศวะฯจากมหาวิทยาลัยชิงหัว (บทความจากนิตยสาร TAP Magazine )

ธัญพิสิษฐ์ เฉิน | นักศึกษาวิศวะฯจากมหาวิทยาลัยชิงหัว (บทความจากนิตยสาร TAP Magazine )

หากพูดถึงมหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งของจีน แน่นอนว่าชื่อหนึ่งที่หลายคนนึกถึง คือ มหาวิทยาลัยชิงหัว มหาวิทยาลัยชั้นนำด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แหล่งรวมคนเก่งและเด็กอัจฉริยะจากทั่วเมืองจีน

TAP Magazine ได้มีโอกาสพูดคุยกับ “ฉวน” ธัญพิสิษฐ์ เฉิน บัณฑิตปริญญาตรีและโท คณะวิศวกรรมศาสตร์จากมหาวิทยาลัยชิงหัว คนไทยรุ่นใหม่ที่ใช้ชีวิตอยู่ในจีนมากว่า 14 ปี ครั้งล่าสุดที่บินกลับมาเมืองไทย เขายังได้รับเชิญจากสถาบันขงจื่อแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขึ้นเวทีเล่าถึงเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ที่กำลังก้าวล้ำในจีน

พื้นเพของฉวนเป็นคนเชียงใหม่ ถูกส่งไปเรียนต่อที่จีนตั้งแต่อายุ 12 ขวบ เพราะพ่อเป็นคนจีน จึงอยากให้ลูกได้เรียนรู้ภาษาจีน ผ่านมาถึงวันนี้ ฉวนมองว่าเป็นความโชดดีอย่างมากที่ได้ไปเรียนต่อที่จีน เพราะยุคนี้เป็นยุคที่พญามังกรกำลังผงาดขึ้นมามีบทบาทในโลก นอกจากความรู้ที่ได้รับจากมหาวิทยาลัยชิงหัว การอยู่ภายใต้สภาพแวดล้อมที่กดดันอย่างหนัก ยังหล่อหลอมความอึด ฮึด สู้ จนกลายเป็นตัวเขาในวันนี้

“คนรอบข้างที่ชิงหัวทุกคนขยันหมด พอนึกภาพว่าเพื่อนคนอื่นยังไม่นอนกัน ถึงจะเหนื่อยแค่ไหน เราก็ต้องลุกขึ้นมาสู้ต่อ” ฉวนเล่าถึงช่วงชีวิตในมหาวิทยาลัยชิงหัวที่วนอยู่กับการทำโปรเจ็กต์หามรุ่งหามค่ำ ท้อแล้วท้ออีก แล้วก็กลับมาฮึดสู้ใหม่ วนเวียนไปอย่างนี้

“เคยมีคนเปรียบเทียบว่า โปรแกรมเมอร์ที่จีนเป็นเหมือนนักรบ Gladiator ที่ต้องสู้เท่านั้นถึงจะอยู่รอด คนจีนไม่ค่อยแคร์เรื่องการก๊อปปี้ แค่มีไอเดียเจ๋งๆ ไม่พอ แต่คุณต้องพัฒนาตัวเองให้ไปได้เร็วมาก เพื่อไม่ให้คนอื่นตามก๊อปปี้ทัน ต้องแข่งขันกับเวลา จนไม่รู้สึกว่าการได้นอนวันละไม่กี่ชั่วโมงเป็นเรื่องที่โหด”ฉวนเล่าถึงวัฒนธรรมการทำงานหนักของคนจีน

ในสังคมจีนยังมีค่านิยมให้การยกย่องคนทำอาชีพนักวิทยาศาสตร์และวิศวกร ไม่ต่างจากในเมืองไทยที่คนเก่งต้องเรียนหมอ ทำให้สาขาอาชีพด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกลายเป็นแหล่งชุมนุมของคนเก่งระดับหัวกะทิ และถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้จีนก้าวมาเป็นผู้นำเทคโนโลยีด้าน AI ด้วยจำนวนบุคลากรด้าน AI มากเป็นอันดับสองของโลก

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา AI ยังกลายเป็นเครื่องมือที่ถูกนำมาประยุกต์ใช้กับสาขาเทคโนโลยีต่างๆที่มีการเปิดการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยต่างๆ อย่างเช่นสาขาวิศวกรรมอุตสาหการ ซึ่งฉวนเลือกทำงานวิจัยระดับปริญญาโท โดยนำเทคโนโลยี AI ด้านภาษามาใช้ในกระบวนการ Text-mining in Decision Making ถอดคำพูดจากไฟล์เสียงการประชุม ดึงข้อมูลสำคัญประมวลผลออกมาเพื่อช่วยวิเคราะห์การตัดสินใจกลยุทธ์

ฉวนอธิบายถึงความฉลาดของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ว่า AI คือ ระบบประมวลผลคอมพิวเตอร์ที่สามารถทำงานได้คล้ายสมองมนุษย์ มีกลไก Machine Learning ที่เรียนรู้ได้ด้วยตัวเองและฉลาดขึ้นได้จากข้อมูลใหม่ๆ เช่น AI หมากรุกที่ยิ่งแข่งก็ยิ่งเก่งขึ้น

ข้อมูลจึงเป็นปัจจัยที่สำคัญมากต่อการพัฒนาระบบ AI และเป็นข้อได้เปรียบสำคัญที่ทำให้เทคโนโลยี AI ของจีนสามารถก้าวไกลอย่างรวดเร็ว ในยุคที่“Data is the new oil” จีนจึงเปรียบได้กับ‘ซาอุดิอาระเบีย’ในยุค AI ที่ ‘ข้อมูล’คือขุมทรัพย์ใหม่มีค่าดั่งน้ำมัน ด้วยจำนวนผู้ใช้อินเตอร์เน็ตของจีนที่มีมากที่สุดในโลก ทำให้มีข้อมูล Big Data มหาศาล

วันนี้ จีนยังได้ก้าวสู่สังคมไร้เงินสดอย่างเต็มตัว คนจีนใช้มือถือทำธุรกรรมต่างๆมากมายในชีวิตประจำวัน ทำให้นอกจากจะมีข้อมูลมากที่สุดในโลกแล้ว ยังมีข้อมูลที่หลากหลายมาก เมื่อเทียบกับสหรัฐอเมริกา

“ในด้านการวิจัยพัฒนาขั้นสูงบุกเบิกคิดค้นเทคโนโลยีใหม่ๆ อเมริกาอาจยังนำหน้าจีนอยู่ แต่ในด้านการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้งานในตลาดและสร้างให้เกิดเป็นธุรกิจ จีนค่อนข้างไปได้ไกลกว่า ด้วยขนาดตลาดที่ใหญ่กว่าและจำนวนข้อมูลที่มีมหาศาล ตัวอย่างเช่นเทคโนโลยีจดจำใบหน้า‘Face++’ของจีนที่แม่นยำที่สุดในโลก”

อีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้จีนก้าวมาเป็นผู้นำเทคโนโลยีด้าน AI คือ การมีสภาพแวดล้อมในการทำธุรกิจที่เอื้อต่อการพัฒนาด้าน AI ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนบ่มเพาะผู้ประกอบการรุ่นใหม่ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนและความรู้ ทำให้สตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีเบ่งบานในจีน

นอกจากนี้ จีนยังมีการออกกฎหมายที่รวดเร็วเท่าทันกับเทคโนโลยี เอื้อให้เกิดโอกาสใหม่ๆทางธุรกิจ ขณะที่รัฐบาลท้องถิ่นในแต่ละมณฑลของจีนมีการแข่งขันกันเพื่อเอาเทคโนโลยีต่างๆมาปรับใช้ เช่น การก่อสร้างทางด่วนไร้คนขับแห่งแรกของโลก

นศ.ไทยเรียนต่อจีน เปิดประตูสู่โอกาส

เมื่อถามว่ามหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งของจีนอย่างชิงหัว มีนักศึกษาไทยไปเรียนต่อมากแค่ไหน? ฉวน ศิษย์เก่าเพิ่งจบมาหมาดๆ เล่าว่า จำนวนนักศึกษาไทยในชิงหัวอยู่ที่ราวๆ 30-40 คน ส่วนใหญ่มาเรียนต่อในระดับปริญญาโท เพราะเปิดสอนเป็นภาคภาษาอังกฤษ มีทั้งด้านกฎหมาย ด้านภาษา ด้านวิศวกรรมศาสตร์ ด้านวารสารศาสตร์

นักศึกษาไทยที่มาเรียนระดับปริญญาตรีมีน้อยมาก เนื่องจากต้องเรียนเป็นหลักสูตรภาษาจีน อย่างน้อยจึงต้องมีพื้นฐานเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายที่จีนก่อน 3 ปี เพื่อเตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัย ซึ่งเด็กต่างชาติจะแยกสอบต่างหาก ไม่ต้องสอบร่วมแข่งกับเด็กจีน

นักศึกษาไทยที่ชิงหัวเกินกว่าครึ่งมาเรียนต่อด้วยทุนตัวเอง หลายคนเป็นลูกเจ้าของกิจการ พ่อแม่ทำธุรกิจอยู่แล้วหรือมีเชื้อสายจีน ถ้าเป็นนักศึกษาระดับปริญญาตรี ส่วนใหญ่จะเป็นพ่อแม่ส่งมาเรียนตั้งแต่อายุยังน้อย แต่ถ้าเป็นนักศึกษาระดับปริญญาโท ส่วนใหญ่เลือกมาเรียนต่อเพราะมองถึงโอกาสการทำงานในอนาคต

“สำหรับคนที่สนใจเรียนต่อด้านเทคโนโลยี ผมคิดว่าจีนเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ เพราะเป็นตลาดที่ใหญ่มากและกำลังเติบโต การเข้าไปทำงานกับบริษัทในจีนจึงมีโอกาสเติบโตได้เร็วกว่า นอกจากนี้ บริษัทจีนหลายแห่งยังกำลังขยายเข้ามาทำธุรกิจในไทย ใครที่เข้าไปทำงานรุ่นบุกเบิกจึงมีโอกาสที่จะได้เลื่อนตำแหน่งเร็วมาก”

สำหรับแผนชีวิต หลังเรียนจบปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยชิงหัว ฉวนตั้งใจว่าจะใช้ชีวิตอยู่ในจีนเพื่อสั่งสมประสบการณ์ทำงานด้านซอฟท์แวร์ไปก่อนสักระยะ ส่วนในอนาคตหากมีโอกาสก็อยากเริ่มต้นธุรกิจใหม่ๆของตัวเอง และนำความรู้ความสามารถที่มีกลับมาทำประโยชน์ให้กับสังคมและประเทศไทยซึ่งเป็นบ้านเกิด

ที่มา : มองจีนยุค AI ผ่านวิศวกรหัวกะทิ ม.ชิงหัว ‘ธัญพิสิษฐ์ เฉิน’

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]