#เรื่องเล่ายามดึก เมื่อสิทธิเสรีของสตรีจีนกำลังเบ่งบาน

ในสมัยโบราณของจีน ครอบครัวไหนมีลูกสาว จะไม่ค่อยภูมิใจและดีใจนักเท่ามีลูกชาย ดังที่เราเคยได้ยินเรื่องครอบครัวคนจีนบังคับให้ลูกสาวปลอมเป็นผู้ชายตั้งแต่เกิด เพียงเพราะอับอายที่ไม่มีลูกชายสืบสกุลเหมือนครอบครัวอื่นในหมู่บ้านของตน

.

แต่ปัจจุบัน ผู้หญิงจีน เริ่มมีสิทธิ เสรีภาพ ศักดิ์และศรี เท่าเทียมกับผู้ชาย โดยได้รับการยอมรับจากสังคมมากยิ่งขึ้นว่า เป็นผู้หญิง ก็ทำงานสร้างเนื้อสร้างตัวและสร้างอนาคตที่ดีได้ ดังที่เราได้เห็นจากผู้หญิงเก่งที่เป็นระดับผู้บริหารชั้นนำของโลกจำนวนมาก เช่น ลูซี่ เผิง เหล่ย ผู้ร่วมก่อตั้งอาณาจักรอาลีบาบา , เจน เจียซุน CEO ของCTRIP บริษัทท่องเที่ยวออนไลน์ระดับโลก

.

ถ้ามองย้อนกลับไป ประเด็นเรียกร้องสิทธิสตรีในประเทศจีน เริ่มได้รับความสนใจทั้งในจีนและทั่วโลก เมื่อปี 2554 มีข่าวดังเกี่ยวกับ Kim Lee สาวอเมริกันที่แต่งงานกับเศรษฐีชาวจีน เจ้าของธุรกิจสอนภาษาอังกฤษชื่อดังของจีน ได้ออกมาโพสต์รูปของเธอที่มีร่องรอยการโดนทำร้ายบนโลกโซเชียลจีน และฟ้องหย่าสามีในเวลาต่อมา ในข้อหา “ทำร้ายร่างกาย” ทำให้ประเด็นเรียกร้อง “ยุติความรุนแรงในครอบครัว และสิทธิสตรี”ในจีน ปะทุขึ้นมา

.

มองมาที่ปัจจุบัน เราได้เห็นการเจริญงอกงามของ สิทธิสตรีจีนมากขึ้น เริ่มจากชัยชนะของการออกกฎหมายว่าด้วยการใช้ความรุนแรงในครอบครัวได้ถูกนำมาบังคับใช้ทั่วประเทศจีน ในปี 2559 หลังจากมีการเรียกร้องมานานพอสมควร

.
แต่ประเด็น สิทธิสตรีจีนและการถูกคุมคามในจีน ยังคงมีการพูดถึงอย่างต่อเนื่อง จากหลายข่าวฉาวในจีน ซึ่งทำให้เห็นว่า ไม่ได้มีแค่ปัญหาการทำร้ายร่างกายหรือคุกคามผู้หญิงจีนในครอบครัวเท่านั้น แต่ในระดับที่ทำงาน หรือองค์กร รวมถึงมหาวิทยาลัย ก็มีปัญหานี้ ระหว่าง อาจารย์ชายและนักศึกษาหญิง อย่างข่าวฉาวที่ถูกเผยแพร่ออกมาเมื่อปี 2561 ถึงหลายกรณีที่อาจารย์คุกคามลูกศิษย์สาว

.

เช่น กรณีที่เกิดขึ้นที่มหาวิทยาลัยหนานจิง เมื่อศาสตราจารย์รายหนึ่ง รับผลแห่งการกระทำผิดที่ได้ก่อไว้เมื่อประมาณ20ปีที่แล้ว ตอนที่สอนในมหาวิทยาลัยปักกิ่ง (Peking University) ณ ตอนนั้นเขาได้ “คุกคามทางเพศ” ต่อนักศึกษาสาวแซ่เกา โดยแม้เรื่องราวจะเกิดขึ้นมา 20ปีแล้ว แต่ ศาสตราจารย์รายนี้ยังคุกคามและข่มขู่นักศึกษา Gao จนทำให้เธอฆ่าตัวตายเมื่อ 5 เมษายน 2561 เมื่อการกระทำของเขาถูกตีแผ่ออกมาโดยครอบครัวของอดีตนักศึกษาผู้นี้ ทางต้นสังกัดมหาวิทยาลัยหนานจิง มีมติถอดเขาออกจากตำแหน่งในมหาวิทยาลัยโดยทันที รวมถึงมหาวิทยาลัยครุศาสตร์เซี่ยงไฮ้ ที่ เขาเป็นอาจารย์พิเศษ ก็ได้ยกเลิกสัญญาจ้างเช่นกัน

.

โดยในช่วงปี 2561 มีเหตุการณ์คุกคามทางเพศต่อนักศึกษาในจีนเกิดขึ้นหลายครั้ง จนมีการเรียกร้องจากสังคมออนไลน์จีน โดยการติดแฮชแท็ก 我也是 ฉันก็ด้วย เพื่อเล่าเหตุการณ์ในทำนองเดียวกัน และออกมาแสดงจุดยืน “เรียกร้องให้มีการแก้ปัญหาคุกคามทางเพศในมหาวิทยาลัย และภายในองค์กร”
“ที่น่าสนใจคือ ผลสำรวจของมหาวิทยาลัยปักกิ่ง พบว่า มากกว่า 30% ของนักเรียนนักศึกษาสาวจีนเคยถูกคุกคามทางเพศ”

.

นอกเหนือจากการคุกคามทางเพศในมหาวิทยาลัยและองค์กรในจีน ยังมีประเด็น “การถูกกีดกันสำหรับการทำงานหรือสมัครงานในองค์กร ที่เลือกรับเฉพาะ ผู้ชาย” โดยคราวนี้เป็นทีของบริษัทอาลีบาบาและอีกหลายบริษัทชื่อดังในจีน ถูกกระแสโซเชียลจีนเรียกร้องให้ “เลิกกีดกันและใส่คุณสมบัติสมัครงานที่กีดกันทางเพศ”

.

จนเมื่อปลายเดือนมิถุนายน 2562 ที่ผ่านมา เริ่มมีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ของสตรีจีน รัฐบาลท้องถิ่นกรุงปักกิ่งได้ออกกฎหมาย “ห้าม บริษัทในปักกิ่งทำการกระทำลักษณะแบ่งแยกชายหญิงในการคัดเลือกเข้าทำงาน” รวมถึงการให้กรอก “สถานภาพสมรส” ในใบสมัคร ก็ห้ามทำ โดยรายละเอียดของกฎหมายข้อนี้ ครอบคลุมหลายประเด็นของการคัดเลือกเข้าทำงานที่เคยมีในก่อนหน้านี้ในลักษณะที่อาจจะเข้าข่ายแบ่งแยกเพศ เช่น การระบุรับเฉพาะเพศชาย จะโดนแบน ห้ามทำอีกต่อไป การสอบถามสถานภาพสมรสของฝ่ายหญิงว่า แต่งงานหรือยังโสด ก็ห้ามมีการสอบถาม ห้ามมีให้กรอกในใบสมัครด้วย สมัยก่อน ผู้หญิงจีนจะต้องตรวจการตั้งครรภ์ในขั้นตอนการตรวจสุขภาพก่อนเข้าทำงาน แต่ตามกฎใหม่ออกมานี้ของทางรัฐบาลปักกิ่ง บอกชัดเจนว่า “ต่อไปนี้ตรวจการตั้งครรภ์จะไม่มีในรายการตรวจสุขภาพของผู้หญิงในกระบวนการคัดเลือกเข้าทำงานในบริษัทที่ปักกิ่งอีกต่อไป” หากบริษัทไหนฝ่าฝืนจะโดนปรับ 10,000 -50,000 หยวน (ประมาณ 50,000 -250,000บาท) แล้วถ้าบริษัทไหนยังไม่ยอมแก้ไข ก็จะโดนเพิกถอนใบอนุญาตสำหรับงานทรัพยากรบุคคล หรือ HR ในบริษัท การเคลื่อนไหวของรัฐบาลปักกิ่งในครั้งนี้ มีจุดประสงค์เพื่อต้องการให้สิทธิของผู้หญิงเท่าเทียมกับผู้ชายมากขึ้น

.

จากเท่าที่ศึกษาข้อมูลพบว่า ยังมีหลายเรื่องเหมือนกัน ที่สาวจีนยังคงรู้สึกว่าไม่เท่าเทียมผู้ชาย และมีการเรียกร้องสิทธิอยู่จนถึงขณะนี้ เช่น ประเด็นการขอเลี้ยงดูบุตรหลังจากหย่าร้าง ก็ต้องติดตามต่อไปว่า จะเป็นเช่นใดต่อไป แต่เท่าที่เล่ามา ก็น่าจะทำให้เห็นภาพแล้วว่า ตอนนี้สิทธิเสรีภาพของสตรีจีนกำลังค่อยๆเบ่งบานในแดนมังกร

#อ้ายจง #เล่าเรื่องเมืองจีน

ขอบคุณที่มาของข้อมูล :
แฟนเพจอ้ายจง