#อ้ายจง #เล่าเรื่องเมืองจีน ตอน จากปากคนจีน ”
ทำไมคนจีนจึงยังคงนิยมอ่านหนังสือและซื้อหนังสือเป็นเล่ม?”

จากประสบการณ์ที่อ้ายจงใช้ชีวิตอยู่ที่เมืองจีนมากกว่า 7ปี ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของการพัฒนายุคสมัยใหม่ของจีนอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะเทคโนโลยีที่เริ่มเข้ามา Disrupt แทนที่สิ่งเดิมๆ อย่างการใช้เงินด้วยธนบัตร ที่มีปัญหาธนบัตรปลอมเป็นเงาตามตัว ก็ถูกแก้ไขและแทนที่ด้วย “สังคมไร้เงินสด – ใช้จ่ายผ่านแอพมือถือไม่ว่าจะ Alipay และ WeChat Pay” หรือ การใช้หุ่นยนต์ในอุตสาหกรรมต่างๆ ไม่เว้นแม้แต่ร้านอาหาร ที่ตั้งแต่เด็กเสิร์ฟยันพ่อครัว เป็นหุ่นยนต์ทั้งหมด ดังที่ได้เห็นที่เมืองเทียนจินภายใต้การพัฒนาโดย JD.com อีคอมเมิร์ชยักษ์ใหญ่ของจีน

แต่จากการศึกษาข้อมูล ไม่ว่าจะสังเกต ,ค้นคว้าจากแหล่งข้อมูลหนังสือ หรือสอบถามจากคนจีน พบว่า มีอยู่สิ่งหนึ่งในจีน ที่ไม่ว่าจะมีเทคโนโลยีดีเพียงใด ก็ยังมิอาจแทนที่ได้

นั่นคือ

“หนังสือ”

ข้อมูลจาก OpenBook บ.วิจัยในจีน เผยว่า “ตลาดหนังสือจีนตลอดทั้งปี2017 มีการเติบโต 14.55% จากปีก่อนหน้า”

ในขณะที่ครึ่งปีแรกของปีนี้ 2018 การเติบโตชะลอตัวเล็กน้อย ก็ยังถือว่าหนังสือเป็นที่นิยมของคนจีน แต่มีการเปลี่ยนแปลงในแง่ของสถานที่จัดจำหน่าย โดยร้านหนังสือแบบหน้าร้าน ค่อยๆถูกแทนที่ด้วยร้านหนังสือออนไลน์(ที่ขายหนังสือเป็นเล่ม) มากขึ้น โดยราคาหนังสือก็ถูกปรับตัวสูงขึ้นด้วย โดยเฉลี่ยอยู่ที่เล่มละ 88 หยวน (ประมาณ 440 บาท)

ทำไมคนจีนจึงยังคงนิยมอ่านหนังสือและซื้อหนังสือเป็นเล่ม?

และนี่คือคำตอบที่อ้ายจงได้สัมภาษณ์จากคนจีนทั้งที่เป็นเพื่อน และบุคคลทั่วไปที่เจอตามร้านหนังสือในกรุงปักกิ่ง

1. คนจีนถูกปลูกฝังนิสัยรักการอ่านตั้งแต่เด็ก

สังคมจีน เป็นสังคมที่ค่อนข้างมีแรงกดดันอย่างสูงตั้งแต่สังคมหน่วยเล็กที่สุดคือ ครอบครัว โดยเฉพาะกดดันทางด้านการศึกษา เพื่อให้มีชีวิตที่ดีขึ้นและสบายในวันข้างหน้า

คนจีนมีความเชื่อที่ฝังแน่นมาตั้งแต่โบราณกาล “ความรู้คือแสงสว่างนำพาชีวิตแม้ในยามที่ไม่มีแสงไฟใดๆ”

และการค้นหาความรู้ที่คนจีนมีความคุ้นเคยมาโดยตลอด คือ “อ่านจากหนังสือ”

คุณหลี่ (นามสมมติ) หญิงวัยกลางคน คุณแม่ลูก1วัยประมาณ 5ขวบ ได้ให้สัมภาษณ์ในมุมหนึ่งของร้านหนังสือสไตล์จีนโมเดิร์น ณ ย่านเฉียนเหมิน ใจกลางกรุงปักกิ่ง

“พวกเราคนจีนมีความคุ้นเคยกับการเปิดหน้าหนังสือ เพื่อหาข้อมูลที่เราสนใจ จริงอยู่ที่มีมือถือ มีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มากมายให้เราได้ค้นหาความรู้ทุกที่ทุกเวลา แต่ฉันรู้สึกว่า มันไม่ได้ความรู้สึกของคำว่า อ่านหนังสือ”

คุณหลี่ยังอธิบายต่อไป พร้อมกับจูงมือเด็กชายชาวจีนวัย5ขวบ มายืนข้างๆ เพื่อไม่ให้ไปวิ่งเล่นทั่วร้านทำข้าวของเสียหาย

“พ่อแม่ของฉันได้สอนฉันตั้งแต่เด็กให้รักการอ่าน เพราะการอ่านทำให้มีความรู้ และการเรียนจะออกมาดี พวกเราถูกปลูกฝังมาตลอดว่า ถ้าสอบเกาเข่า-เข้ามหาวิทยาลัยไม่ได้ ชีวิตจะลำบาก ทุกครั้งที่ฉันมาร้านหนังสือ ก็จะพาลูกมาที่ร้านด้วย เพื่อทำให้เขารักการอ่านหนังสือแบบที่ฉันเป็น โดยเริ่มจากซื้อหนังสือสำหรับเด็กให้อ่าน เพื่อนๆของฉันหลายคนที่มีลูก ล้วนเป็นแบบนี้นะ ซื้อหนังสือให้ลูก เสียเงินเท่าไหร่ไม่ว่า อาจจะมากกว่าของเล่นด้วยซ้ำ”

ข้อมูลของคุณหลี่ เรียกว่าน่าสนใจมากในประเด็นของ “หนังสือเด็ก” อ้ายจงจึงได้ค้นคว้าหาข้อมูลเพิ่มเติม พบว่า “รายงานตลาดค้าปลีกหนังสือประเทศจีนในปี2017 ระบุว่า ตลาดหนังสือเด็กกินพื้นที่ของหนังสือที่วางขายทั้งหมด ประมาณ 24.64% ซึ่งมูลค่าหนังสือที่ขายทั้งหมดในปี2017 คือ 8หมื่นล้านหยวน และมีแนวโน้มเติบโตทุกปีประมาณ 10-15% โดยปี2017 หนังสือเด็ก 40,000 หัวเรื่อง ถูกขาย ซึ่งถือว่าเป็นตลาดหนังสือเด็กที่ใหญ่ที่สุดในโลก ณ ปัจจุบัน”

2. คนจีนจำนวนไม่น้อย มองว่า การอ่านหนังสือคือการผ่อนคลาย

จากแหล่งข้อมูลที่อ้ายจงไปรวบรวมข้อมูลมา มีจำนวนมากที่ตอบว่า “พวกเขาอ่านหนังสือในเวลาที่เครียด ต้องการความRelax ผ่อนคลาย” โดยเฉพาการได้จิบชา จิบกาแฟชิลชิล นั่งปล่อยกายอยู่ในสภาวะที่สบาย และอ่านหนังสือพลางจิบกาแฟจิบชาพลาง ก็ทำให้เรื่องหนักๆที่เจอมาทั้งวัน รู้สึกสบายได้

สำหรับข้อนี้ จึงไม่น่าแปลกใจว่า “ตามร้านกาแฟ จะมีหนังสือให้เราเลือกอ่านมากมาย และบางร้านก็เป็นกึ่งร้านกาแฟร้านขายหนังสือ จนกระทั่งร้านหนังสือใหญ่ๆบางร้าน มีมุมร้านกาแฟ มีโต๊ะให้นั่งอ่านนั่งกินกาแฟอยู่ภายในร้าน”

3. สภาพแวดล้อมในเมืองจีน ส่งเสริมให้ทุกคนรักการอ่านที่เป็นสิ่งพิมพ์

ตามย่านที่พักอาศัย สถานที่ท่องเที่ยว หรือในมหาวิทยาลัยในจีน เราจะเห็นมุมกระดานหรือบอร์ด ที่ไม่ได้มีกระดาษติดประกาศ แต่เป็นบอร์ดที่ติด “หนังสือพิมพ์ ประจำวัน/ประจำสัปดาห์” ให้ทุกคนได้อ่าน แบบไม่ต้องเสียเงินซื้อหนังสือพิมพ์

หรือ ห้องสมุด24ชม. ,ห้องสมุดระบบอัตโนมัติ ที่ให้ทุกคนได้เข้าห้องสมุดและยืมหนังสือได้ตลอดเวลา เพียงใช้บัตรประชาชน – แอพมือถือ ก็เป็นหนึ่งในสิ่งกระตุ้นและชี้วัดได้อย่างดีว่า คนจีนยังต้องการหนังสือ

4. หนังสือจีนมีความหลากหลาย ทุกเรื่องที่อยากรู้ สามารถรู้ได้จากหนังสือ แม้กระทั่งตำราจากต่างประเทศก็ถูกขายในราคาไม่แพง

ในฐานะที่เคยเป็นนักศึกษาต่างด้าว เอ้ยต่างชาติ ในจีน ก็อยากจะหาตำราภาษาอังกฤษมาอ่านควบคู่ไปด้วย ซึ่งพบว่า ตามร้านหนังสือมีหนังสือตำราต่างประเทศ หรือที่เราเรียกว่า Textbook เต็มไปหมด และถูกวางขายในราคาถูก เล่มละไม่กี่ร้อยบาท เป็นตำราที่ถูกรวบรวมมาโดยสำนักพิมพ์ในจีน และนำมาพิมพ์ให้คนจีนได้ซื้อหาได้ง่ายแบบไม่แพง

5. ร้านหนังสือที่ไม่ใช่แค่ร้านหนังสือ

คุณเฉิน (นามสมมติ) 1ในคนจีนจำนวนมากที่อ้ายจงสัมภาษณ์ในร้านหนังสือที่ปักกิ่ง และประทับใจในคำตอบมากจนต้องยกมาอ้างอิงในข้อนี้

กล่าวว่า “ฉันและหลายๆคน รู้สึกว่า ร้านหนังสือในจีน ไม่เหมือนร้ายหนังสือทั่วไป คือร้านหนังสือที่นี่มีเสน่ห์ในตัวของแต่ละร้าน เราาจจะจินตนาการว่า ร้านหนังสือต้องมีแต่ร้านหนังสือแออัดเต็มไปหมด แต่ร้านหนังสือที่จีน แม้เต็มไปด้วยหนังสือ แต่ถูกจัดวางให้น่าหยิบ ออกแบบและตกแต่งให้น่าเข้า น่าอ่าน หลายร้านมีพื้นที่ให้ได้อ่านฟรีๆ ไม่ต่างจากห้องสมุด และมีจำนวนไม่น้อยเปิด 24ชม.”

การตกแต่งร้านของร้านหนังสือในจีน ดูจะเป็นจุดเด่นของร้านหนังสือที่จีนจริงๆ ดังที่เราจะได้เห็นจากข่าวจีนอยู่เสมอ ไม่ว่าจะร้านหนังสือบนโบกี้รถไฟที่ถูกนำมาดัดแปลงเป็นร้านหนังสือ , ร้านหนังสือสไตล์โมเดิร์นที่สวยงามโด่งดังไปทั่วโลกที่เมืองเทียนจิน เป็นต้น

ร้านหนังสือที่จีน ยังไม่ได้มีแค่ร้านหนังสือ ตามร้านหนังสือใหญ่ๆ มีการปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัย ดึงดูดผู้ซื้อในทุกกลุ่ม ตั้งแต่เด็ก ,วัยรุ่น นักศึกษา, ผู้ใหญ่ และครอบครัว จึงทำให้เราได้เห็น โซนของเล่นเพื่อการศึกษา, โซนอิเล็กทรอนิกส์ หรือโซนร้านอาหารในร้านหนังสือ คือจบทุกอย่างที่ต้องการในร้านหนังสือได้ทีเดียว

นอกจากนี้ ร้านหนังสือ ยังเป็นสถานที่จัดนิทรรศการ ,สัมมนา และการพบปะระหว่างนักเขียนและผู้อ่าน อยู่บ่อยครั้ง จนชินตา

และนี่ก็คือ 5ข้อ ที่อ้ายจงสรุปมาเล่า มาให้ได้อ่านกัน ซึ่งในความจริงแล้วมีเหตุผลที่มากกว่านี้ แต่ทั้งหมดมั้งมวลเห็นจะรวมกันเป็นหนึ่งสำหรับคนจีน คือ “หนังสือคือแหล่งความรู้ที่พวกเขาคุ้นเคย จนเปรียบดังผู้มีพระคุณ มาตั้งแต่วัยเยาว์” นั่นเอง





ขอบคุณที่มาของข้อมูล :
แฟนเพจอ้ายจง