• คลังความรู้
  • /
  • บทความ
  • /
  • ชีวิต Ph.D. ในแดนมังกรตอนที่ 24 สุธิศา อมรประภาวัฒน์ หรือแอดมินพี่สุ นักศึกษาปริญญาเอกจาก College of International Education, Minzu University of China – Thai Ph.D. in China

ชีวิต Ph.D. ในแดนมังกรตอนที่ 24 สุธิศา อมรประภาวัฒน์ หรือแอดมินพี่สุ นักศึกษาปริญญาเอกจาก College of International Education, Minzu University of China – Thai Ph.D. in China

psu1

สวัสดีค่ะ ชีวิต Ph.D. ในแดนมังกรสัปดาห์นี้ เราจะกลับไปที่ปักกิ่งอีกครั้ง โดยคนต้นเรื่องของเราคือแอดมินพี่สุ ที่คอยประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารในกรุ๊ปแชทเราอยู่เป็นประจำ วันนี้ผู้ท่อง ฯ จะพาไปรู้จักกับเรื่องราวของพี่สุในมุมนักศึกษาปริญญาเอกกันบ้าง พร้อมแล้วเราไปติดตามเรื่องราวกันเลยค่ะ

 

Admin: สวัสดีค่ะพี่สุ

พี่สุ: สวัสดีค่ะจี

Admin: สัปดาห์นี้พี่พร้อมโดนเผาแล้วหรือยังคะ? 555

พี่สุ: เอิ่ม…ถามแบบนี้พี่ก็คงต้องพร้อมใช่ไหม?

Admin: 555 หนูแซวเล่นค่ะ เข้าเรื่องเลยดีกว่าค่ะ เริ่มจากแนะนำตัวก่อนค่ะ

พี่สุ: ค่ะ ชื่อ สุธิศา อมรประภาวัฒน์ ตอนนี้กำลังทำปริญญาเอกอยู่ที่ 中央民族大学 (Minzu University of China) ค่ะสาขา International Chinese Language Education

Admin: หัวข้อวิจัยตอนนี้คืออะไรคะ

พี่สุ: หัวข้อวิจัยเกี่ยวกับพัฒนาการของตำราเรียนด้านจีนธุรกิจของมหาวิทยาลัยในประเทศไทยค่ะ (泰国大学商务汉语课程教学发展研究)

Admin: ฟังดูน่าสนใจทีเดียวค่ะ

พี่สุ: พี่เห็นเราก็สนใจทุกอันล่ะ

Admin: แหะ ๆ ก็จริงค่ะ เข้าคำถามต่อนะคะ ที่หมินต้าเรียนกี่หน่วยกิตคะ?

พี่สุ: ไม่ต่ำกว่า 20 หน่วยกิตค่ะ

Admin: เรื่องการลงวารสาร?

พี่สุ: ที่นี่ต่างชาติก็ต้องลง 2 ฉบับขึ้นไป แต่ไม่บังคับว่าต้องเป็นระดับ 核心期刊 แต่ถ้าเป็นเด็กจีนก็จะต้องลง 核心期刊 ค่ะ

psu2

Admin: การแบ่งเวลาเรียน?

พี่สุ: ก็ตอนที่เรียนอยู่ก็ต้องเตรียมหางานของอาจารย์ที่ปรึกษาและงานที่เกี่ยวข้องมาอ่านอยู่เสมอ รวมถึงวิทยานิพนธ์ของคนก่อนหน้าเราด้วยค่ะ

Admin: สัมภาษณ์ป.เอกมาหลายคนแล้ว จีอยากให้พี่สุเล่าเรื่องการสอบ Qualification Exam บ้างค่ะ

พี่สุ: เอาพี่เนี่ยนะ?

Admin: อิอิ ใช่แล้วค่ะ

พี่สุ: โอเค ในส่วนนี้พี่คิดว่าแต่ละมหาวิทยาลัยก็คงแตกต่างกันไปบ้างนะ แต่ที่มหาวิทยาลัยพี่นี่คือมีสอบปากเปล่า 1 คนต่อกรรมการ 3 คน ก็จะมีฉลาก 5-6 กล่อง แล้วเราก็จับฉลากให้ครบทุกกล่องที่มี แล้วมาดูว่าคำถามที่ได้คืออะไร ดังนั้นเราจึงไม่รู้ล่วงหน้าเลยว่าเราจะได้คำถามเกี่ยวกับด้านไหน การอ่านหนังสือแบบหว่านจึงเกิดขึ้น

Admin: ก็ต้องเตรียมตัวให้พร้อมมาก ๆ

พี่สุ: ใช่ค่ะจี ก็ต้องอ่านให้หมด งานวิจัย บทความ วิทยานิพนธ์ที่เกี่ยวข้อง รู้สึกว่าช่วงนั้นเป็นช่วงชีวิตที่โหดมาก ๆ

Admin: ก็เป็นไปตามระเบียบและความสะดวกของแต่ละมหาวิทยาลัย เพราะบางที่เท่าที่ทราบมาก็สอบในห้องสอบ บางที่ก็มีหัวข้อส่งมาให้ take home แล้วส่งกลับภายใน 24 ชั่วโมง

พี่สุ: ใช่ค่ะ อันนี้แล้วแต่ละที่จะจัดการเลย

Admin: เวลาว่าง ๆ พี่มีงานอดิเรกอะไรคะ?

พี่สุ: ก็จะออกไปตีแบตค่ะ

Admin: พูดถึงมหาวิทยาลัยหมินต้าบ้างค่ะ?

พี่สุ: เอาเป็นภาพรวมๆ แล้วกัน อย่างเรื่องการรับสมัครนักเรียนที่นี่ไม่ใช่แค่ยื่นเอกสารและทำ Study Plan เพียงอย่างเดียว แต่ยังมีการสอบสัมภาษณ์ผ่าน Skype ด้วย ซึ่งอันนี้พี่ว่าจะคล้ายกับมหาวิทยาลัยเปิดในบ้านเราอย่างหนึ่งคือ เข้าง่าย อออกยาก อย่าง Skype ก็เพื่อวัดทักษะทางภาษาของเรา ดูว่าเราสื่อสารกันรู้เรื่องไหม แล้วก็จะมีถามเรื่องส่วนตัวบ้างเช่น แต่งงานหรือยัง มีครอบครัวหรือยัง ทำไมจึงสนใจมาเรียนด้านนี้  แล้วจากนั้นก็จะให้เขียนบทความสั้น ๆ มาส่งเขาตามที่กำหนดค่ะ ในส่วนของด้านความเป็นอยู่ที่หมินต้าตอนนี้ยังมีวิทยาเขตเดียว ที่นี่มีเด็กไทยราว ๆ 60 คน เรื่องหอพักเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ หอพักที่นี่เป็นห้องสูท ซึ่งจริงๆเดิมมันคือ พอนักศึกษาเยอะขึ้นก็ห้องหนึ่งพักสองคน และอีกห้องคือเอบี แทรกเข้าไปในห้องเดิม โซนบีพักสองคน โซนเอพักหนึ่งคน แต่ว่าจ่ายเพิ่มวันละ 15 หยวน นอกนั้นสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นก็มีตู้เย็นให้ในห้อง มีห้องน้ำห้องครัว เนื่องจากเป็นทางตอนเหนือ พอกลางเดือนพฤศจิกายนก็จะเริ่มส่งความร้อนมาตามท่อ เด็กไทยที่ชอบทำกับข้าวกินเอง ก็จะขอทุนมาเรียนที่นี่ อย่างที่สองคือเด็กไทยที่ขอทุนมาเรียนป.เอกที่นี่ คือจะเป็นเงื่อนไขของการขอทุนคือถ้าป.โทจบมหาลัยในประเทศจีนมาก่อน ไม่ต้องสอบ HSK เข้ามาก็ได้ค่ะ

Admin: เล่าถึงที่ปรึกษา?

พี่สุ: อ.ที่ปรึกษาชื่ออู๋อิงฮุ่ย(吴英慧)ท่านเป็นคนยูนนานค่ะ เคยประจำอยู่ที่ 云南师范大学 ท่านจะถนัดแนววิจัยแบบ 宏观系统  ดังนั้นเด็กนักเรียนจีนถ้าจะมาสอบด้านนี้ ต้องมาหาแกคนเดียว แล้วท่านก็เคยเป็นผู้บริหารรุ่นแรก ๆ ที่ดูแลโครงการอาสาสมัครชาวจีนที่ไปสอนในประเทศไทย แล้วตอนนี้ท่านเป็นคณบดีของบัณฑิตวิทยาลัยด้วย 研究生院院长กฎเกณฑ์ในการเรียนการสอบของระดับบัณฑิตศึกษาที่หมินต้านี้ท่านก็จะเป็นผู้ดูแลทั้งหมด ซึ่งการมีที่ปรึกษาเก่งและทำงานหลายด้าน เราก็รู้สึกโชคดี แต่อีกส่วนหนึ่งที่ตามมาก็คือความคาดหวังจากอาจารย์ที่ปรึกษา  ซึ่งตรงนี้เองก็ทำให้เรารู้สึกค่อนข้างกดดันพอสมควรค่ะ

psu3
ศ.ดร.อู๋อิงฮุ่ย

Admin: อุปสรรคในการเรียน?

พี่สุ: พี่ว่าก็น่าจะคล้าย ๆ กันเป็นเรื่องของการปรับตัว ทั้งในเรื่องการใช้ชีวิตและการเรียนค่ะ

Admin: หนูจำได้ว่าก่อนหน้านี้เคยนำบทความที่พี่สุเขียนเกี่ยวกับการเรียนปริญญาเอกมาลงในเพจ ตอนนั้นพี่สุพูดถึงความรู้สึกกดดันในการเรียน ตอนนี้เป็นยังไงบ้างคะ?

พี่สุ: ก็ดีขึ้นมากแล้วค่ะ การใช้ชีวิตเราก็ต้องเรียนรู้ที่จะค่อย ๆ ปรับตัวไป พี่โชคดีที่ได้เจอเพื่อน ๆ ที่ดี ได้รับความรักจากคนรอบข้าง ทำให้ทุกวันนี้เวลาที่พี่มีรู้สึกมีความทุกข์ หรือความเครียด พี่ก็เรียนรู้ที่จะใช้ความสามารถของตัวเองที่มีอยู่ในการออกไปช่วยเหลือคนอื่น เพราะการได้ช่วยเหลือผู้คนมันทำให้เรามีความหมาย ทั้งกับผู้อื่นและกับโลกใบนี้

Admin: ใช้วิธีเติมเต็มผู้อื่น เพื่อเติมเต็มเราด้วย?

พี่สุ: ใช่ค่ะ คือวิธีที่พี่คิดก็คือการฝึกไม่เอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง พยายามเข้าใจผู้อื่น ซึ่งบางทีหลาย ๆ คนก็อาจจะมองว่าเราโดนเอาเปรียบ ทำไมต้องช่วยล่ะ ช่วยไปแล้วจะได้อะไรกลับมา แต่การคิดแบบนั้นมันไม่ได้ให้อะไรเราขึ้นมาเลย มีช่วงหนึ่งที่พี่ยังปรับตัวไม่ได้พี่ก็เคยคิดแบบนี้เหมือนกัน ปิดกั้นตัวเอง และมันไม่ได้ทำให้เรามีเพื่อนมากขึ้นหรือได้อะไรจากความคิดแบบนี้เลย มีแต่จะทำให้โลกของเราแคบลง ดังนั้นการก้าวออกมาช่วยเหลือผู้อื่น มันทำให้เราได้มิตรภาพ ได้เห็นความจริงใจของผู้อื่น พี่เลยได้เรียนรู้จากตรงนี้ด้วยว่า มนุษย์เราก่อนที่จะ take อะไรจากผู้อื่น เราต้องเรียนรู้ที่จะให้โดยไม่หวังอะไรตอบแทนด้วย

Admin: เป็นความคิดที่ดีมากเลยค่ะ จริง ๆ แล้วบนเส้นทางนี้สิ่งที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าการวิ่งไปให้ถึงเส้นชัยของปริญญาเอกนั่นก็คือ ความสามารถในการรับมือกับปัญหา และการจัดการกับความเครียด

พี่สุ: จริงค่ะ

Admin: นอกจากอุปสรรคด้านการใช้ชีวิตแล้ว ยังมีเรื่องการเรียนอย่างอื่นเพิ่มเติมไหมคะ?

พี่สุ: ส่วนหนึ่งก็คิดว่าการเข้าถึงข้อมูลที่ไทยยังอยู่ในวงจำกัด ซึ่งในส่วนนี้ก็ต้องขอความช่วยเหลือจากเพื่อน ๆ พี่ ๆ หรือจากอาจารย์ที่รู้จักกัน นอกจากนี้ก็จะมีไปปรึกษาหรือสอบถามเพิ่มเติมจากอาจารย์จรัสศรีด้วยค่ะ ซึ่งท่านก็เมตตาและให้ความช่วยเหลือเป็นอย่างดี จากการได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดก็จะยิ่งทำให้เรา มองเห็นอะไรได้ชัดมากยิ่งขึ้น บางเรื่องเราก็อาจจะมองข้ามไป ซึ่งก็ถือว่าช่วยได้เยอะมาก ๆ เลยค่ะ

Admin: เรียกได้ว่าหลังพ้นอุปสรรคไป ตอนนี้รอบตัวพี่ก็มีกัลยาณมิตรและมีอาจารย์ที่คอยช่วยเหลือให้คำปรึกษาอยู่เยอะเลยทีเดียวค่ะ

psu5

พี่สุ: ชีวิตก็ยังต้องสู้ต่อไปนะ

Admin: 555 สุดท้ายค่ะ อยากฝากข้อคิดอะไรไหมสำหรับคนที่จะเข้ามาเรียนปริญญาเอกที่จีน

พี่สุ: สำหรับปริญญาเอก ไม่ว่าจะเรียนสายไหนก็ตาม จงถามเสียงในหัวใจของคุณให้แน่วแน่ก่อนว่า พร้อมที่จะ 拼命 หรือสู้ไปอย่างสุดใจกับมันแล้วไหม สำหรับน้องใหม่ ๆ ที่ยังไม่มีประสบการณ์ก็ควรจะอ่านและศึกษาข้อมูลให้เยอะ ๆ เห็นข้อมูลให้กว้างก่อนเข้ามาเรียน

Admin: วันนี้ต้องขอขอบคุณพี่สุมาก ๆ เลยค่ะ ที่สละเวลามาให้สัมภาษณ์กับเรา

พี่สุ: ขอบคุณจีด้วยค่ะ

Admin: ยินดีค่ะ

 

สำหรับชีวิตปริญญาเอก ทุกคนล้วนต้องเผชิญหน้ากับปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ มากมายที่ต้องฝ่าฟัน และสิ่งที่สำคัญไม่แพ้การคว้าปริญญาเอกกลับมาก็คือ การรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้นและการจัดการความเครียด เพราะชีวิตในช่วงการทำวิจัยคือการฝึกจิตใจให้เข้มแข็งอย่างหนึ่ง ต้องพร้อมรับมือกับเรื่องราวต่าง ๆ ที่จะเข้ามา การทำแล็ปที่ต้องรันผลอย่างต่อเนื่อง มีผิดพลาดบ้าง ล้มเหลวบ้าง ท้อแท้บ้าง หวั่นไหวบ้าง อ่อนแอบ้าง แต่ทุกคนล้วนต้องเดินผ่านเส้นทางเหล่านั้น การเรียนปริญญาเอก ไม่สำคัญว่าคุณจะต้องเก่งกาจ หรือฉลาดมากน้อยเพียงไหน เพราะสิ่งสำคัญกว่า IQ ที่จะทำให้คนเราเดินไปถึงเป้าหมายได้ ก็คือจิตใจที่พร้อมเผชิญหน้ากับเรื่องราวต่าง ๆ ไม่ย่อท้อ และไม่ยอมแพ้ต่ออุปสรรค ผู้ท่อง ฯ และแอดมินเพจทุกคน ขอเป็นกำลังใจให้กับผู้ที่กำลังอยู่ในช่วงฝ่าฟันอุปสรรคทุกคน และยินดีต้อนรับผู้ที่จะก้าวเข้ามาศึกษาในภาคการศึกษาหน้าที่จะถึงนี้ สัปดาห์นี้สวัสดีค่ะ

 

สัมภาษณ์และเรียบเรียงโดย: Admin G 走遍江湖 ผู้ท่องไปในยุทธภพ

ขอบคุณที่มาของข้อมูล :
Thai Ph.D. in China

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]