จีนเล็งสร้างสถานีวิจัยบน ‘ขั้วใต้ของดวงจันทร์’ ร่วมกับรัสเซีย | XinhuaThai

(ภาพจากองค์การบริหารอวกาศแห่งชาติจีน : ธงชาติจีนคลี่กางบนดวงจันทร์ ถ่ายโดยยานสำรวจฉางเอ๋อ-5 วันที่ 4 ธ.ค. 2020)

ปักกิ่ง, 15 มี.ค. (ซินหัว) — อู๋เว่ยเหริน หัวหน้านักออกแบบโครงการสำรวจดวงจันทร์ของจีน เปิดเผยว่าจีนได้เสร็จสิ้นการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการสำรวจดวงจันทร์ระยะที่ 4 แล้ว และคาดว่าจะสร้างสถานีวิจัยดวงจันทร์นานาชาติบนขั้วใต้ของดวงจันทร์ในอนาคต

อู๋กล่าวระหว่างให้สัมภาษณ์กับไชน่า สเปซ นิวส์ (China Space News) ว่าจีนวางแผนปฏิบัติสามภารกิจสำหรับโครงการสำรวจดวงจันทร์ระยะที่ 4 ประกอบด้วยการเก็บตัวอย่างดวงจันทร์จากขั้วใต้โดยใช้ยานสำรวจฉางเอ๋อ-6 (Chang’e-6) การสำรวจทรัพยากรขั้วใต้ของดวงจันทร์อย่างละเอียดโดยยานสำรวจฉางเอ๋อ-7 (Chang’e-7) และการทดสอบเทคโนโลยีสำคัญเพื่อเตรียมสร้างสถานีวิจัยดวงจันทร์โดยยานสำรวจฉางเอ๋อ-8 (Chang’e-8)

อู๋อธิบายว่าขั้วใต้ของดวงจันทร์อาจมีช่วงกลางวันและกลางคืนเหมือนขั้วเหนือและขั้วใต้ของโลก โดยการหมุนรอบโลกและหมุนรอบตัวเองของดวงจันทร์มีระยะเวลาเท่ากันอยู่ที่ 28 วัน ดังนั้นขั้วใต้ของดวงจันทร์อาจมีแสงสว่างติดต่อกันมากกว่า 180 วัน ซึ่งจะช่วยอำนวยสะดวกแก่นักบินอวกาศที่ดำเนินการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ได้อย่างมหาศาล

ก่อนหน้านี้เมื่อวันอังคาร (9 มี.ค.) จีนและรัสเซียลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) เพื่อสร้างสถานีวิจัยทางวิทยาศาสตร์นานาชาติบนดวงจันทร์ โดยทั้งสองประเทศจะใช้ประสบการณ์ด้านวิทยาศาสตร์อวกาศ การวิจัยและพัฒนา รวมถึงอุปกรณ์และเทคโนโลยีทางอวกาศ ร่วมกันกำหนดแผนงานก่อสร้างสถานีวิจัยดังกล่าว และร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดในการวางแผน การสาธิต การออกแบบ การพัฒนา ตลอดจนการดำเนินโครงการ

“หากโครงการสถานีวิจัยดวงจันทร์ดำเนินไปอย่างสำเร็จ จีนจะเข้าใกล้ความสำเร็จในการลงจอดบนดวงจันทร์โดยมีมนุษย์ควบคุมอีกขั้น” อู๋กล่าว พร้อมเสริมว่ากลุ่มนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรชาวจีนกำลังศึกษาหาวิธีลงจอดบนดวงจันทร์

ขณะเดียวกันจีนจะพิจารณาการลงจอดที่ขั้วใต้ของดวงจันทร์ในอนาคต ซึ่งอาจจะซับซ้อนกว่าเดิมแต่มีสภาพแวดล้อมที่ดีกว่า และโครงการก่อสร้างสถานีวิจัยดวงจันทร์จะสามารถดำเนินการได้อย่างค่อยเป็นค่อยไปทันทีที่การลงจอดสำเร็จ

อู๋กล่าวว่านักบินอวกาศชาวจีนต้องพักอาศัยอยู่บนดวงจันทร์ในระยะยาวไม่ใช่ระยะสั้น พร้อมเสริมว่าเพื่อให้การลงจอดบนดวงจันทร์โดยมีมนุษย์ควบคุมสำเร็จลุล่วง จึงจำเป็นต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่ายานสำรวจและนักบินอวกาศสามารถลงจอดได้อย่างปลอดภัยและแม่นยำ

ทั้งนี้ จีนจะเดินหน้าส่งเสริมการพัฒนาจรวดขนส่งหนักและบรรลุความก้าวหน้าด้านขนาดลำตัวจรวดและแรงขับของเครื่องยนต์เพื่อรองรับการสำรวจอวกาศห้วงลึก ระหว่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระยะ 5 ปี ฉบับที่ 14 (2021-2025)

ขอบคุณที่มาของข้อมูล :

Xinhua

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]