• คลังความรู้
  • /
  • บทความ
  • /
  • วิจัยพบ วัคซีนโควิด-19 ‘แบบโปรตีนลูกผสม’ ฝีมือจีนปลอดภัย-มีประสิทธิภาพ | XinhuaThai

วิจัยพบ วัคซีนโควิด-19 ‘แบบโปรตีนลูกผสม’ ฝีมือจีนปลอดภัย-มีประสิทธิภาพ | XinhuaThai

(แฟ้มภาพซินหัว : บุคลากรการแพทย์เตรียมวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ที่มหาวิทยาลัยเป่ยหาง ในกรุงปักกิ่ง เมืองหลวงของจีน วันที่ 24 มี.ค. 2021)

ปักกิ่ง, 26 มี.ค. (ซินหัว) — การศึกษาที่ตีพิมพ์เมื่อสัปดาห์นี้ในวารสารด้านโรคติดเชื้อ เดอะ แลนเซต (The Lancet Infectious Diseases) ระบุว่าวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ชนิดหน่วยย่อยโปรตีนลูกผสม (recombinant protein subunit) ที่พัฒนาในจีน ซึ่งได้รับอนุมัติให้ใช้งานในกรณีฉุกเฉินไปในก่อนหน้านี้ แสดงผลว่ามีความปลอดภัยและสามารถกระตุ้นการตอบสนองของแอนติบอดีได้ ในการทดลองระยะแรก

การศึกษาระบุว่าผลการทดลองระยะที่ 1 และ 2 พบว่าผู้เข้าร่วมร้อยละ 97 ที่ได้รับวัคซีนดังกล่าวในปริมาณ 25 ไมโครกรัมจำนวน 3 โดส สามารถผลิตแอนติบอดีที่มีประสิทธิภาพในการยับยั้งไวรัสโคโรนาสายพันธ์ุใหม่ (SARS-CoV-2) และระดับแอนติบอดีของพวกเขายังสูงกว่าของผู้ป่วยที่หายดี บ่งชี้ถึงการตอบสนองของภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงกว่าที่เกิดจากการฉีดวัคซีนตัวนี้

จีนได้อนุมัติการใช้งานในกรณีฉุกเฉินแก่วัคซีนข้างต้น ซึ่งพัฒนาร่วมกันโดยสถาบันจุลชีววิทยา สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์แห่งชาติจีน (CAS) และบริษัท อันฮุย จื้อเฟย หลงเคอหม่า ไบโอฟาร์มาซูติคัล จำกัด (Anhui Zhifei Longcom Biopharmaceutical) ไปเมื่อวันที่ 10 มี.ค.

คณะนักวิจัยระบุว่า การทดลองระยะแรก ซึ่งทำในแบบสุ่ม ปกปิดข้อมูลทั้งสองทาง และควบคุมด้วยยาหลอก กับผู้เข้าร่วมการทดลองที่มีสุขภาพดีอายุระหว่าง 18-59 ปี จำนวน 950 คนนั้น ไม่พบอาการไม่พึงประสงค์ร้ายแรงระหว่างการทดลอง

นอกจากนี้ การศึกษายังพบว่าร่างกายของผู้เข้าร่วมร้อยละ 76 ผลิตแอนติบอดีชนิดลบล้างฤทธิ์ขึ้นหลังจากฉีดวัคซีนไป 2 โดส และตัวเลขนี้เพิ่มเป็นร้อยละ 97  หลังจากฉีดวัคซีนไป 3 โดส

ปัจจุบัน คณะนักวิจัยกำลังดำเนินการทดลองระยะที่ 3 ในอุซเบกิสถาน อินโดนีเซีย ปากีสถาน และเอกวาดอร์ โดยอุซเบกิสถานอนุมัติการใช้วัคซีนดังกล่าวเมื่อวันที่ 1 มี.ค.

อนึ่ง จีนได้อนุมัติวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 สำหรับการจำหน่ายในตลาดแบบมีเงื่อนไขแล้ว 4 ตัว และอนุมัติการใช้งานในกรณีฉุกเฉินแก่วัคซีนเพิ่มอีก 1 ตัว

ขอบคุณที่มาของข้อมูล :

Xinhua

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]