• คลังความรู้
  • /
  • บทความ
  • /
  • วิศวกรชาวอังกฤษชี้ ‘สถานีวิจัยบนดวงจันทร์’ ฝีมือจีน-รัสเซีย เปิดกว้างการวิจัยหลายประเภท | XinhuaThai

วิศวกรชาวอังกฤษชี้ ‘สถานีวิจัยบนดวงจันทร์’ ฝีมือจีน-รัสเซีย เปิดกว้างการวิจัยหลายประเภท | XinhuaThai

(แฟ้มภาพซินหัว : พระจันทร์เต็มดวงในกรุงบรัสเซลล์ เมืองหลวงของเบลเยียม วันที่ 26 ก.พ. 2021)

ลอนดอน, 25 มี.ค. (ซินหัว) — ศาสตราจารย์มาร์ติน สวีตติง จากศูนย์อวกาศเซอร์เรย์แห่งสหราชอาณาจักร ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซินหัว ว่าการมีสถานีวิจัยบนดวงจันทร์จะเป็นการเปิดโอกาสให้กับการวิจัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีหลากหลายประเภท

สวีตติงกล่าวว่า สถานีเช่นนี้ช่วยให้นักวิจัยสามารถศึกษาโครงสร้างโดยละเอียดและองค์ประกอบระดับย่อยในหลายพื้นที่ของดวงจันทร์ได้ รวมถึงจัดการกับผลกระทบของสภาพแวดล้อมการแผ่รังสีของอวกาศที่มีต่อมนุษย์ ในพื้นที่เหนือขึ้นไปจากชั้นบรรยากาศไอโอโนสเฟียร์ของโลก ตลอดจนพัฒนาหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติสำหรับการปฏิบัติงานระยะไกลและสภาพอากาศที่เลวร้าย และอื่นๆ

เมื่อวันที่ 9 มี.ค. จีนและรัสเซียลงนามบันทึกความเข้าใจ (MoU) ว่าด้วยการร่วมสร้างสถานีวิจัยทางวิทยาศาสตร์ระหว่างประเทศบนดวงจันทร์ โดยองค์การอวกาศแห่งชาติจีน (CNSA) ระบุว่าสถานีแห่งนี้จะมุ่งเน้นการวิจัยทางวิทยาศาสตร์แบบพหุวิทยาการหรือการดึงความรู้จากศาสตร์ที่แตกต่างกันมาผสมผสานกัน เพื่อศึกษาพื้นผิวหรือวงโคจรของดวงจันทร์ ซึ่งรวมถึงการสำรวจ การใช้ประโยชน์ การสังเกตการณ์ การทดลองทางวิทยาศาสตร์ขั้นพื้นฐาน และการทดสอบเทคโนโลยีบนดวงจันทร์

“สถานีวิจัยบนดวงจันทร์เช่นนี้จะทำหน้าที่เป็นเสมือนสถานที่ทดสอบสำหรับการสำรวจดาวอังคารของมนุษย์ในอนาคต ซึ่งการเดินทางจากโลกไปดวงจันทร์ใช้เวลาแค่เพียง 3 วัน แต่การเดินทางจากโลกไปดาวอังคารใช้เวลานานถึง 6-9 เดือน” สวีตติงผู้ดำรงตำแหน่งประธานบริหารบริษัทเซอเรย์ แซทเทิลไลท์ เทคโนโลยี ลิมิเต็ด (Surrey Satellite Technology Limited – SSTL) กล่าว

“การสนับสนุนการตั้งถิ่นฐานอย่างยั่งยืนของมนุษย์บนดวงจันทร์เป็นความท้าทายอันใหญ่หลวง ทั้งในเรื่องของเทคโนโลยีและค่าใช้จ่าย และการผสมผสานระหว่างประสบการณ์และทรัพยากรจากหลายๆ ฝ่ายในโครงการดังกล่าวก็เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนอย่างยิ่ง”

กรอบการทำงานของโครงการนี้กำหนดว่าจีนและรัสเซียจะร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดในการวางแผน สาธิต ออกแบบ พัฒนา บังคับใช้ และดำเนินโครงการ รวมถึงผลักดันโครงการนี้ไปสู่ประชาคมอวกาศระหว่างประเทศด้วย

บันทึกความร่วมมือระบุว่าหน่วยงานอวกาศของทั้งสองประเทศจะขยายความร่วมมือกันผ่านโครงการดังกล่าว เปิดกว้างการใช้งานสถานีวิจัยให้กับทุกประเทศที่สนใจ รวมถึงหุ้นส่วนระหว่างประเทศ และเสริมสร้างการแลกเปลี่ยนงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ เพื่อส่งเสริมการสำรวจและการใช้อวกาศโดยมนุษยชาติอย่างสันติ

“โครงการอันท้าทายเช่นนี้ยังสร้างโอกาสสำหรับความร่วมมือระหว่างประเทศในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” สวีตติงกล่าวทิ้งท้าย “การสำรวจอวกาศนั้นเป็นเป้าหมายของมนุษยชาติ ไม่ใช่เรื่องของประเทศใดประเทศหนึ่ง ดังนั้นความร่วมมือระหว่างประเทศจึงเป็นเรื่องสำคัญ และผมหวังว่าประเทศอื่นจะจับมือกับจีนและรัสเซียเพื่อก่อตั้งสถานีวิจัยทางวิทยาศาสตร์ระหว่างประเทศบนดวงจันทร์”

ขอบคุณที่มาของข้อมูล :

Xinhua

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]