• คลังความรู้
  • /
  • บทความ
  • /
  • จีนอนุมัติสายพันธุ์ข้าวโพด GMO และอนุมัติการนำเข้าข้าวโพด GMO เพื่อใช้ในอาหารสัต…

จีนอนุมัติสายพันธุ์ข้าวโพด GMO และอนุมัติการนำเข้าข้าวโพด GMO เพื่อใช้ในอาหารสัต…

จีนอนุมัติสายพันธุ์ข้าวโพด GMO และอนุมัติการนำเข้าข้าวโพด GMO เพื่อใช้ในอาหารสัตว์

เมื่อเดือนมกราคม ปี 2564 กระทรวงเกษตรและกิจการชนบทสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้ประกาศรายชื่อของพืชดัดแปลงพันธุกรรม (GMO) ที่ได้รับการรับรองด้านความปลอดภัยประจำปี 2563 ฉบับที่ 2 โดยพืช GMO ที่ได้รับการรับรองในรอบนี้มีทั้งหมด 23 รายการ ซึ่ง 8 รายการเป็นข้าวโพด GMO ที่มีความทนทานต่อสารเคมีที่ใช้ในการกำจัดวัชพืชและแมลงศัตรูพืช
นอกจากนี้จีนได้ผ่านกระบวนการการเปิดรับความเห็นจากสาธารณชนต่อความปลอดภัยของพืช GMO สองชนิดได้แก่ ถั่วเหลืองและข้าวโพดของ Beijing Dabeinong Biotechnology Co., Ltd. แล้ว โดยกระบวนการรับฟังความคิดเห็นได้สิ้นสุดไปเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 รวมทั้งจีนได้อนุมัติการนำเข้าข้าวโพด GMO อีกสองสายพันธุ์ คือ สายพันธุ์ Bayer AG และ Syngenta AG เพื่อใช้เป็นอาหารสัตว์ตามความต้องการอาหารสัตว์ที่เติบโตแบบก้าวกระโดด โดยข้าวโพด GMO ดังกล่าวได้รับการอนุมัติสำหรับการนำเข้าเป็นเวลา 5 ปีเริ่มเดือนธันวาคม 2563 ตามรายงานจากกระทรวงเกษตรฯ ซึ่งแม้ว่า ณ ปัจจุบันเกษตรกรจีนยังไม่สามารถปลูกข้าวโพด GMO ได้ แต่การเริ่มกระบวนการอนุมัติในครั้งนี้ก็เป็นสัญญาณว่าจีนอาจจะอนุญาตให้ปลูกข้าวโพด GMO เชิงพาณิชย์ในประเทศในเวลาอันใกล้นี้

ความสำคัญของการใช้ข้าวโพด GMO เชิงพาณิชย์ในจีน

การวิจัยและพัฒนาข้าวโพด GMO เพื่อใช้ในการเพาะปลูกในเชิงพาณิชย์ในจีนทวีความสำคัญมากขึ้นเป็นลำดับ เนื่องจากที่ผ่านมาการเพาะปลูกข้าวโพดของจีนต้องเผชิญกับโรคพืชและแมลงที่สร้างความเสียหายต่อผลผลิตข้าวโพดเป็นอย่างมาก จากข้อมูลสถิติของ Shanghai JC Intelligence (JCI) ระบุว่า ปี 2563 จีนมีปริมาณผลผลิตข้าวโพดรวม 239 ล้านตัน ในขณะที่ปริมาณความต้องการใช้ภายในประเทศต่อปีอยู่ที่ 296 ล้านตัน ปริมาณผลผลิตที่เก็บเกี่ยวได้ภายในประเทศยังไม่เพียงพอกับความต้องการ จีนยังคงต้องพึ่งพาการนำเข้าข้าวโพดเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการภายในประเทศ การพัฒนาและอนุมัติการใช้ข้าวโพด GMO ภายในประเทศจึงไม่ใช่เพียงเพื่อการต่อสู้กับศัตรูพืชเท่านั้น แต่จีนยังต้องการเพิ่มปริมาณอุปทานของข้าวโพดภายในประเทศเพื่อความมั่งคงด้านอาหารและการส่งเสริมการพึ่งพาตนเองด้านธัญพืชภายในประเทศ อีกทั้งยังเป็นไปตามทิศทางการพัฒนาด้านการเกษตรภายในประเทศที่สำคัญตามแผนพัฒนาระยะ 5 ปี ฉบับที่ 14 ของจีน

อนาคตการใช้ข้าวโพด GMO เพื่อการเพาะปลูกเชิงพาณิชย์ในจีน

ที่ผ่านมาพืช GMO ที่ได้รับการอนุมัติให้เพาะปลูกเชิงพาณิชย์ในจีนได้มีเพียง ฝ้าย และ มะละกอ เท่านั้น ทั้งนี้การเพาะปลูกข้าวโพด GMO เชิงพาณิชย์ยังคงต้องผ่านขั้นตอนการบริหารจัดการเพื่อการนำเมล็ดพันธุ์ข้าวโพด GMO ไปใช้ในการเพาะปลูกอีกหลายขั้นตอน เริ่มตั้งแต่การอนุมัติกรรมสิทธิ์เมล็ดพันธุ์ของข้าวโพด GMO หลังจากที่ข้าวโพด GMO ได้รับอนุมัติหนังสือรับรองความปลอดภัยแล้ว ยังต้องผ่านการจดทะเบียนพันธุ์พืช ต้องได้รับการอนุญาตผลิตและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ รวมทั้งการออกกฎหมายเพื่อควบคุมการนำเมล็ดพันธุ์ข้าวโพด GMO ไปใช้งาน จึงจะสามารถนำไปเพาะปลูกเชิงพาณิชย์ได้ โดยในอนาคต หากข้าวโพด GMO ได้รับการอนุมัติให้นำไปใช้เชิงพาณิชย์ได้แล้ว คาดว่าการเพาะปลูกข้าวโพดในประเทศจะหันไปใช้เมล็ดพันธุ์ GMO เป็นส่วนใหญ่

จะเห็นว่าจีนได้เริ่มพัฒนาพืช GMO มาเป็นเวลานาน และได้มีการอนุญาตให้ใช้เมล็ดพันธุ์ฝ้ายและมะลอกอ GMO เพื่อการพาณิชย์มาเป็นเวลานาน โดยการดำเนินนโยบายดังกล่าวเป็นไปเพื่อการสร้างความมั่นคงด้านอาหารภายในประเทศ ซึ่งล่าสุดการที่จีนได้อนุญาตให้นำเข้าข้าวโพดและถั่วเหลือง GMO เป็นสัญญาณว่าจีนอาจจะเริ่มให้มีการเพาะปลูกข้าวโพดและถั่วเหลือง GMO เพื่อการพาณิชย์ภายในประเทศในระยะเวลาอันใกล้นี้ สอดคล้องกับแผนพัฒนาระยะ 5 ปี ฉบับที่ 14 ของจีนที่มุ่งเน้นในการสร้างความมั่นคงด้านอาหารภายในประเทศ ถึงแม้ข้าวโพดจะไมใช่สินค้าส่งออกที่สำคัญของไทยเนื่องจากปริมาณผลผลิตภายในประเทศยังไม่พอเพียงกับความต้องการ แต่ข้าวโพดเป็นสินค้าทดแทนมันสำปะหลังซึ่งไทยเป็นผู้ส่งออกมันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์อันดับต้น ๆ ของโลก และจีนเองก็เป็นตลาดมันสำปะหลังที่สำคัญของไทย การที่จีนจะหันมาใช้ข้าวโพด GMO เพื่อการเพิ่มผลผลิตภายในประเทศก็อาจกระทบต่อความต้องการมันสำปะหลังจากไทย ไทยจึงควรหาแนวทางเพื่อรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวที่มีแนวโน้มจะเกิดขึ้นในอนาคต ทั้งนี้ประเทศไทยได้รับการยอมรับในเรื่องการไม่ใช้พืช GMO เพื่อการบริโภคอันเป็นหนึ่งในจุดขายที่สำคัญของสินค้าอาหารจากไทย ในอนาคตหากไทยยังต้องการคงสถานะประเทศปลอด GMO ไว้เพื่อเป็นจุดขายสำคัญก็ต้องหาแนวทางในการเสริมสร้างจุดขายและอาจเตรียมรับมือกับผลผลิตข้าวโพดของจีนที่อาจเข้าสู่ไทยในอนาคตหากอุปทานในประเทศของจีนเกินจากความต้องการ
*************************************************

ที่มา: http://www.moa.gov.cn/ztzl/zjyqwgz/spxx/202006/P020200715508330183455.pdf
http://www.moa.gov.cn/ztzl/zjyqwgz/zxjz/202101/t20210128_6360650.htm
https://new.qq.com/rain/a/20210118A05PI200
http://www.feedtrade.com.cn/yumi/yum i_china/2128138.html

ขอบคุณที่มาของข้อมูล :
แฟนเพจ Beijing Story by Keng

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]