ที่มา

“ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงปักกิ่ง ในสังกัด กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ซึ่งเดิมชื่อ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ( วท.) ต่อมาในเดือนพฤษภาคม 2562 ได้เกิดการรวมของ 4 หน่วยงาน ประกอบด้วย (1) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) (2) สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) (3) สำนักงานคณะกรรมการการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และ (4) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และได้เปลี่ยนชื่อเป็น กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ทั้งนี้  “ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” ซึ่งเริ่มดำเนินงาน ณ กรุงปักกิ่ง เมื่อเดือนตุลาคม 2561 ยังคงใช้ชื่อ “ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” และอยู่ระหว่างการพิจารณาเปลี่ยนชื่อให้สอดคล้องภารกิจของกระทรวง อว.

“ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงปักกิ่ง มีภาระหน้าที่หลักในการติดตามความก้าวหน้า เสริมสร้างความร่วมมือ และพัฒนาระบบข้อมูลด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมของจีน รวมถึงการสร้างเครือข่ายระหว่างนักเรียน/ศึกษา นักวิชาชีพไทยในจีน และผู้เชี่ยวชาญของจีนกับส่วนราชการและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องในประเทศไทย

ในปี พ.ศ. 2563 “ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” ได้จัดตั้งคณะทำงาน ZTED (Zhong Tai Education – 中泰教育资讯保障组) โดยความร่วมมือของกลุ่มคณาจารย์และตัวแทนบัณฑิตที่กำลังศึกษาและสำเร็จการศึกษาจากประเทศจีน ได้แก่ ศาสตราจารย์ ดร. จรัสศรี จิรภาส อาจารย์ประจำสถาบันเอเชียศึกษา มหาวิทยาลัยภาษาต่างประเทศปักกิ่ง นายพีรเชษฐ  ปอแก้ว ผู้ช่วยวิจัยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กระทรวง อว. ดร. พีรพงษ์ ต่อฑีฆะ วิศวกรวิจัย สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กระทรวง อว. อาจารย์ ดร.นิศาชล ไทยทอง อาจารย์ประจำศูนย์วิจัยจีน-อาเซียน มหาวิทยาลัยกวางสี แพทย์จีนจักรี ตั้งเทียนชัยชนะ นักศึกษาปริญญาเอกสาขา Chinese Pharmaceutics มหาวิทยาลัยการแพทย์แผนจีนปักกิ่ง วิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติจุฬาภรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นต้น เพื่อร่วมกันดำเนินงานส่งเสริมและเผยแพร่องค์ความรู้ด้านการศึกษาในประเทศจีนไปสู่ผู้เกี่ยวข้องและผู้สนใจในการศึกษาจีน

ในเดือนตุลาคม 2563 คณะทำงาน ZTED ได้ดำเนินโครงการสำรวจและรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องด้านการศึกษาในประเทศจีน เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์ศักยภาพด้านกำลังคนในสาขาต่าง ๆ ที่สำเร็จการศึกษาจากจีน และใช้ประโยชน์ในเรื่องการวางแผนพัฒนากำลังคน เพื่อรองรับความต้องการและการคาดการณ์ในอนาคต  และเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ ผ่านเว็บไซต์ www.stsbeijing.org และช่องทางเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ รวมถึงกิจกรรมของ “ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” เช่น วารสารวิทย์ไมตรีไทย-จีน กิจกรรม Way Forward 2020

วัตถุประสงค์

  1. เพื่อศึกษา รวบรวม และเผยแพร่องค์ความรู้และข้อมูลข่าวสารด้านการศึกษาของจีน
  2. เพื่อรวบรวมข้อมูลด้านการศึกษาของนักศึกษาไทยระดับปริญญาเอก (โดยจะขยายไปถึงระดับปริญญาโทในอนาคต)
  3. เพื่อประสาน ติดตาม และรับทราบความเคลื่อนไหวทางการศึกษาของกลุ่มนักศึกษาไทยระดับปริญญาเอก
  4. เพื่อเสริมสร้าง ส่งเสริมศักยภาพ และสนับสนุนกิจกรรมด้านวิชาการของนักเรียนไทยในจีน

กลุ่มเป้าหมาย

คณาจารย์และนักศึกษาที่กำลังศึกษาปริญญาเอกและที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกจากประเทศจีน

แบบขอข้อมูล

  1. แบบฟอร์ม PhD01 ข้อมูลนักศึกษาปริญญาเอกไทยในประเทศจีน ข้อมูลชุดนี้ จะถูกจัดเก็บที่ “ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” โดยไม่ผ่านการดำเนินงานของคณะทำงาน ZTED
  2. แบบฟอร์ม PhD02 ข้อมูลบทคัดย่อดุษฎีนิพนธ์ผู้สำเร็จการศึกษาปริญญาเอกจากประเทศจีน
  3. แบบฟอร์ม ZTED-03 ข้อมูลมหาวิทยาลัยของนักศึกษาปริญญาเอกไทยในประเทศจีน
  4. แบบฟอร์ม ZTED-04 ข้อมูลแนะนำหลักสูตรระดับปริญญาเอกไทยในประเทศจีน
  5. แบบฟอร์ม ZTED-05 ข้อมูลประวัติและผลงานนักวิชาการชาวจีน

วันกำหนดส่งข้อมูล

วันศุกร์ที่ 29 มกราคม 2564  ( แบบฟอร์ม PhD01 และ แบบฟอร์ม PhD02 )                

ช่องทางการส่งแบบฟอร์ม

อีเมล stsbeijing@mhesi.go.th

การนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์

  1. นำข้อมูลมาวิเคราะห์ศักยภาพด้านกำลังคนในสาขาต่าง ๆ ที่สำเร็จการศึกษาจากจีน และใช้ประโยชน์ในเรื่องการวางแผนพัฒนากำลังคน เพื่อรองรับความต้องการและการคาดการณ์ในอนาคต
  2. เผยแพร่ข้อมูลเพื่อขยายความรู้ด้านการศึกษาจีนเฉพาะเรื่อง ผ่านเว็บไซต์ www.stsbeijing.org และช่องทางเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ รวมถึงกิจกรรมของ “ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” เช่น วารสารวิทย์ไมตรีไทย-จีน กิจกรรม Way Forward 2021 โดยจะขออนุญาตเจ้าของข้อมูลก่อน